ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า ตามที่กระทรวงพาณิชย์ โดยสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า ได้เปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป หรือเงินเฟ้อของไทยเดือนตุลาคม 2566 เท่ากับ 107.72 เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม 2565 ที่ 108.06 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงร้อยละ 0.31 ซึ่งเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 25 เดือน ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมเดือนตุลาคม 2566 ปรับสูงขึ้นอยู่ที่ระดับ 55.8 จากระดับ 55.7 ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นการปรับสูงขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 และอยู่ในช่วงความเชื่อมั่นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 11 นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2565 โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันปรับสูงขึ้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) ปรับลดลง แต่ยังอยู่ในช่วงความเชื่อมั่น
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อที่ลดลง เป็นผลจากการดำเนินนโยบายของรัฐบาลผ่านมาตรการต่าง ๆ ที่มุ่งลดค่าครองชีพบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ซึ่งในส่วนของค่าครองชีพในชีวิตประจำวัน สินค้าหลายรายการมีการปรับลง อันเนื่องมาจากการปรับลดค่าไฟฟ้าและราคาน้ำมันของภาครัฐ ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้า ก่อนที่รัฐบาลจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจอีกครั้ง แต่การที่ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปลดลง ยังสะท้อนภาวะเศรษฐกิจโดยรวมที่อ่อนแอ ผู้บริโภคยังขาดกำลังซื้อและสภาพคล่องที่เพียงพอ อุปสงค์อยู่ในระดับต่ำ ไม่สามารถจูงใจให้เกิดการผลิตและการจ้างงานเพิ่ม ภาวะที่เงินเฟ้อต่ำติดลบและเศรษฐกิจโตต่ำ อัตราการใช้กำลังการผลิต จะนำไปสู่ “ภาวะเงินฝืดและการว่างงาน” ที่ยาวนาน หากไม่เร่งใช้นโยบายการเงินและการคลังแบบผ่อนคลายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
“เงินเฟ้อต่ำนี้ เป็นผลพวงของโจทย์ที่ส่งต่อมาจากก่อนหน้ารัฐบาลนี้จะเข้ามาบริหารประเทศ ถือเป็นสัญญาณทางเศรษฐกิจที่ชัดเจนว่า เพราะเหตุใดรัฐบาลนี้จึงต้องการอัดฉีดเงินใหม่ก้อนใหญ่เข้าไปฟื้นสัญญาณชีพของเศรษฐกิจไทย ให้กลับมาเดินเครื่องได้อีกครั้ง เพื่อความพร้อมที่จะรับลูกจากมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจด้านต่าง ๆ ที่รัฐบาลนี้กำลังริเริ่มและเร่งเดินหน้าอย่างเต็มสูบอยู่ในขณะนี้” นายสัตวแพทย์ชัย กล่าว
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวอีกว่า สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมที่ปรับสูงขึ้นในเดือนตุลาคมนี้ มาจากเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง ทั้งจากภาคการท่องเที่ยว และการส่งออกของไทยที่ขยายตัวติดต่อกัน 2 เดือน โดยเฉพาะราคาสินค้าเกษตรสำคัญ ทั้งข้าวเปลือก มันสำปะหลัง และยางพารา ราคาปรับสูงขึ้น ส่งผลให้รายได้เกษตรกร และค่าจ้างเฉลี่ยอยู่ในระดับดี ส่งให้อุปสงค์ในประเทศปรับตัวดีขึ้น จากการขับเคลื่อนนโยบาย Quick Win ของรัฐบาลอย่างเป็นรูปธรรม ส่วนแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนพฤศจิกายน 2566 คาดว่าจะปรับลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2565 ตามราคาสินค้าในกลุ่มอาหาร (เนื้อสัตว์ เครื่องประกอบอาหาร) และกลุ่มพลังงาน (ไฟฟ้า น้ำมันเชื้อเพลิง) รวมถึงสินค้าอุปโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพหลายรายการ และต้นทุนการผลิตที่ปรับลดลง จากมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ มีส่วนทำให้อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลง