ท่ามกลางมรสุมเศรษฐกิจตกต่ำ สืบเนื่องจากพิษไวรัสโควิด-19 ทำเอาคนชั้นกลาง-ชั้นล่าง รัดเข็มขัดประหยัดงบประมาณ บางคนตกงาน ใช้ชีวิตปากกัดตีนถีบ แต่กองทัพเรือ ดึงดันขอให้สภาผู้แทนราษฎรผ่านงบ 'เรือดำน้ำ' 22,500 ล้านบาท ทำเอา 'พล.อ.ประยุทธ์' ต้องแถลงปลดชนวน
นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม แถลงต่อสื่อมวลชน เมื่อ 27 ส.ค. ที่ผ่านมาว่า “ผมได้เคยพูดไปแล้ว และไม่เคยบอกว่าต้อง แต่ไปพาดหัวข่าวกันว่าต้องซื้อ ผมไม่ได้หมายความอย่างงั้น แต่ได้พูดถึงเหตุผลความจำเป็น และแหล่งที่มาของงบประมาณ ถ้าซื้อไม่ได้จะต้องเจรจากับจีนอย่างไร ผมก็ได้เตรียมแผนงานของผมไว้อย่างนี้”
“เรื่องเรือดำน้ำเป็นการอนุมัติมาล่วงหน้าแล้ว ขั้นตอนนี้อยู่ในระดับที่ 2 ที่ 3 อย่างที่ว่าในเรื่องความจำเป็น การต่อเรือไม่ได้ใช้เวลาสั้นๆ ต้องมีการเตรียมวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ไว้ อะไรที่คุยไว้ จะผ่อนยืดระยะได้บ้างไหม ซึ่งตรงนี้ต้องคุยกัน มีหลายส่วนที่เกี่ยวข้อง ไม่ได้ทำงานคนเดียว ฉะนั้น ทั้งหมดต้องรับผิดชอบด้วยกันอยู่แล้ว ในฐานะที่ผมเป็นรัฐบาล เป็นนายกฯ และเป็น รมว.กลาโหมด้วย ขอแต่เพียงความเข้าใจ ไม่อยากให้เป็นประเด็นที่ขัดแย้งกันอีก ถ้าขัดแย้งกันทุกเรื่องมันก็ไปไม่ได้หมดทุกอย่าง”
กระทั่งปรากฏข่าวว่ารัฐบาล “ยอมถอย” เจรจากับฝ่ายจีนให้ผ่อนไปอีก 1 ปี ก่อนส่งสัญญาณมายัง กมธ.วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณฯ พ.ศ.2564 ให้ตัดงบเรือดำน้ำในงบประมาณปี 2564 ออกไป
ล่าสุดช่วงเช้าเมื่อวันที่ 31 ส.ค. ‘อนุชา บูรพชัยศรี’ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยถึงการที่นายกฯ สั่งให้ชะลอจัดซื้อเรือดำน้ำลำที่2-3 ออกไปก่อน โดยระบุว่านายกรัฐมนตรี ได้ความสำคัญกับเรื่องเศรษฐกิจ หากมีการชะลอไปได้อีก 1 ปี ก็จะได้นำเงินจำนวน 3 พันกว่าล้านไปใช้ในส่วนอื่น และขณะนี้นายกรัฐมนตรีได้รับฟังความคิดเห็นมากขึ้น ตามกลไลของสภาผู้แทนราษฎร หลังจากที่มีการออกเรียกร้องในหลายเรื่อง
“งบฯ เรือดำน้ำ” ให้ได้มา “ครบทีม 3 ลำ” ตามฝันของกองทัพเรือที่รอคอยมา 69 ปี ต้องรอเก้อไปอีกครั้ง แต่จะได้มาแน่นอน 1 ลำในปี 2566
ทว่า ตำนานเรือดำน้ำไทยเมื่อ 69 ปีที่แล้ว ซึ่งรับรู้กันในนาม ร.ล. (เรือหลวง) มัจฉาณุ หมายเลข 1, ร.ล วิรุณ หมายเลข 2, ร.ล. สินสมุทร หมายเลข 3 และ ร.ล.พลายชุมพล หมายเลข 4
หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ได้ราว 3 ปี ในปี 2488 รัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา ได้สั่งต่อเรือรบจากญี่ปุ่น 20 ลำ และมีเรือดำน้ำรวมอยู่ 4 ลำ รวมอยู่ มีบริษัทมิตซูบิชิเป็นผู้รับต่อเรือ ใช้แบตเตอรี่ที่ผลิตโดยนิปปอน เดงกิ
เหตุที่รัฐบาลคณะราษฎรจึงต้องการเรือดำน้ำญี่ปุ่นก็เพราะเวลานั้นญี่ปุ่นกำลังเป็น 'ดาวฤกษ์' แห่งเอเชีย ที่ถีบตัวเองให้ทัดเทียมตะวันตกทั้งเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ และการทหาร ส่วนฝ่ายไทยต้องการหนีอิทธิพลชาติตะวันตกที่มีความสัมพันธ์อันดีกับระบอบเก่ามาช้านาน
ดังนั้น เมื่อไทยเปลี่ยนแปลงการปกครอง การกระชับมิตรระหว่างไทย–ญี่ปุ่นจึงแน่นแฟ้นขึ้นเรื่อยๆ ไทยจึงส่ง 'ทหารเรือ' ไปศึกษาวิชาเรือดำน้ำที่เมืองโกเบ ร่วม 130 ชีวิต และเรือดำน้ำทั้ง 4 ลำ ก็เดินทางถึงกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. พ.ศ. 2481
ผ่านทั้งสงครามอินโดจีนในปี 2484 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ไทยได้ชัยชนะจากสงครามเรียกร้องดินแดนคืนจากฝรั่งเศส ผ่านทั้งช่วงวิกฤตสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่หลังจากที่ญี่ปุ่นพ่ายแพ้สงคราม เรือดำน้ำทั้ง 4 ลำก็ไม่สามารถหาอะไหล่มาทดแทนได้
และจุดอัสดงของ 'กองทัพเรือ' หลังเหตุการณ์กบฏแมนฮัตตัน ในเดือนมิถุนายน 2494 ฉากจบการสู้รบระหว่างกองทัพบก และ กลุ่มนายทหารเรือ ที่จับจอมพล ป. พิบูลสงคราม ไปไว้เป็นตัวประกันไว้บนเรือรบหลวงศรีอยุธยา ที่สุดแล้วก็ถูกเครื่องบินของกองทัพบกทิ้งระเบิดจมลงกลางแม่น้ำเจ้าพระยา จอมพล ป.ต้องว่ายน้ำหนีเอาชีวิตรอด
ฝ่ายทหารเรือกลายเป็นผู้ปราชัย และกองทัพเรือก็ถูกลดบทบาทลงแต่นั้นมา รวมถึงเรือดำน้ำทั้ง 4 ลำก็ถูกปลดประจำการในเดือน พ.ย.2494 นับจากนั้น ไทยยังไม่เคยมีเรือดำน้ำอีกเลย
กระทั่ง ปี 2538 เริ่มมีความพยายามของกองทัพเรือที่ชงซื้อ 'เรือดำน้ำ' ในยุค 'บรรหาร ศิลปอาชา' เป็นนายกรัฐมนตรี โดยจะจัดหาเรือดำน้ำจากบริษัทคอกคูม ประเทศสวีเดน ราว 40,000 ล้านบาท แต่ถูกยกเลิก
ต่อมาปี 2553 ในรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กองทัพเรือเสนอโครงการจัดหาเรือดำน้ำใหม่ หรือผ่านการใช้งานมาแล้ว จำนวน 2-3 ลำ วงเงิน 48,000 ล้านบาท เป็นของสัญชาติเยอรมัน ที่ผ่านการใช้งานมาแล้ว จำนวน 2-3 ลำ วงเงิน 48,000 ล้านบาท
23 ก.พ. 2555 ในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวิตร พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม พร้อมด้วย พล.อ.เสถียร เพิ่มทองอินทร์ ปลัดกระทรวงกลาโหม และ ผบ.เหล่าทัพ ร่วมกันแถลงข่าวภายหลังการตรวจเยี่ยมกองบัญชาการกองทัพไทย วันนั้น กองทัพเรือ แสดงความต้องการ 'เรือดำน้ำ' มือสอง รุ่น 'ยู 206 เอ' จากประเทศเยอรมนี จำนวน 4 ลำ วงเงิน 5.5 พันล้านบาท แต่เรื่องดังกล่าวไม่เกิดขึ้น
แล้วการซื้อเรือดำน้ำลำแรกในรอบ 69 ปีก็สำเร็จ เมื่อมาถึงขวบปีแรกรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เมื่อต้องเดินยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศ จำเป็นต้องคบจีนมากกว่าสหรัฐอเมริกา ยุคประธานาธิบดีบารัก โอบามา ที่เดินเกมการเมืองโลกกดดันรัฐบาลทหารของไทย ให้คืนประชาธิปไตย
6 ก.พ. 2558 รัฐบาลจีน ส่ง 'พล.อ.ฉาง ว่าน ฉวน' มนตรีแห่งรัฐและ รมว.กลาโหมสาธารณรัฐประชาชนจีนพร้อมคณะ เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ และ 'พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ' รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม พร้อมด้วยการเสนอขายแพ็คเกจ เทคโนโลยีทางทหาร เช่น เรือดำน้ำ รถถัง ยกระดับการฝึกร่วมของกำลังพลทุกระดับ พ่วง 'ส่วนลด'
ก่อนที่ 2 เดือนต่อมา 28 เม.ย. 2558 ครม.อนุมัติหลักการให้จัดหาเรือดำน้ำ 3 ลำ (จากนั้น 5 ปี เศษ น.อ.ธาดาวุธ ทัตพิทักษ์กุล รองผู้อำนวยการสำนักงานจัดหายุทโธปกรณ์ทหารเรือ ในฐานะกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการบริหารโครงการจัดหาเรือดำน้ำ แถลงเมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2563 ว่า กองทัพเรือสำรวจอู่ต่อเรือดำน้ำชั้นนำของโลก พบว่ามี 6 แห่ง แต่ ข้อเสนอที่ดีที่สุด คุ้มค่าที่สุดอยู่ที่จีน)
ก.ค.2559 กระทรวงกลาโหม อนุมัติความต้องการเรือดำน้ำ 3 ลำ ต่อมา 18 เม.ย. 2560 เมื่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้จัดซื้อเรือดำน้ำ หยวนคลาส เอส 26 ที (Yuan Class S26T) จากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน จำนวน 1 ลำ วงเงิน 13,500 ล้านบาท โดยเป็นงบผูกพัน ตามแผนจะมีการจัดซื้อทั้งหมด 3 ลำรวม 36,000 ล้านบาท ในเวลา 11 ปี
4 พ.ค. 2560 กองทัพเรือได้ลงนามในสัญญาจัดซื้อจัดจ้างในประเทศจีน โดยมี 'พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์' เสนาธิการทหารเรือ (ตำแหน่งขณะนั้น) ในฐานะประธานกรรมการบริหารโครงการจัดหาเรือดำน้ำ ได้รับมอบหมายจาก 'พล.ร.อ.ณะ อารีนิจ' ผู้บัญชาการทหารเรือ ให้ลงนามในข้อตกลงจ้างสร้างเรือดำน้ำ ลำที่ 1 โดยลำแรกจะส่งมอบในปี 2566
26 ก.ค. 2560 ผู้ตรวจการแผ่นดิน มีมติ 'ยุติการพิจารณา' กรณีที่สมาคมพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ขอให้วินิจฉัยว่าการจัดซื้อเรือด้ำ S-26T ระหว่างกองทัพเรือ กับรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน ตามโครงการจัดหาเรือดำน้ำของกระทรวงกลาโหม โดยาธกองทัพเรือ และคณะรัฐมนตรีไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2502 รวมถึงขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 2560 มาตรา 178 เพราะชอบด้วยกฎหมายและไม่ขัดรัฐธรรมนูญ
ต่อมา 7 ต.ค. 2562 คณะรัฐมนตรีรัฐบาลผสมของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หลังการเลือกตั้ง 24 มี.ค. 2562 ได้เห็นชอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ก่อนเข้าสู่การพิจารณาของ สภาผู้แทนราษฎร โดยกองทัพเรือได้ชงคำของบประมาณเพื่อจัดซื้อเรือดำน้ำลำที่ 2-3 วงเงิน 22,500 ล้านบาท
แต่หลังจากโควิด -19 พ.ค. 2563 รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เรียกคืนงบกระทรวง กรม กองละ 10% กองทัพเรือต้องเบรกการซื้อเรือดำน้ำตามงบ 2563 ไว้ 1 ปี ก่อนมาขออนุญาตใช้งบใหม่ในปี 2564
แต่ที่สุดแล้วก็ทานเสียงคัดค้านไม่ไหว อาจชะลอไปอีก 1 ปี แม้จะได้มา 1 ลำ แต่กองทัพเรือยืนยันว่า ไร้ความหมาย
"มันเป็นอาวุธทางยุทธศาสตร์ สิ่งสำคัญที่สุดคือการที่ไม่รู้ว่ามันอยู่ไหน ถ้ามีอยู่ลำเดียว ไปเห็นอยู่ตรงไหนจุดหนึ่ง ทั้งทะเลไทยฝั่งอันดามัน ฝั่งอ่าวไทย หมดความน่ากลัวไปทันทีเลย ในขณะที่ถ้ามี 3 ลำ จับพลัดจับผลู มีภัยสงคราม บังเอิญมีจังหวะเรือซ่อม ก็อาจมีเรือซ่อมอยู่ลำหนึ่ง แต่อีกสองลำล่ะอยู่ตรงไหน ใครจะกล้าเข้ามาหรือไม่ในท้องทะเลนี้ ใครจะเสี่ยงไหม" พล.ร.ต.อรรถพล เพชรฉาย ผอ.สำนักงานจัดหายุทโธปกรณ์ทหารเรือ ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการบริหารโครงการจัดหาเรือดำน้ำ กล่าว