Voice สรุปประเด็นร้อน 'การแบ่งเขตเลือกตั้ง' ในพื้นที่กรุงเทพฯ 33 เขต เสี่ยงผิดกฏหมายเลือกตั้ง พรรคการเมืองดาหน้าคัดค้าน หวั่นเลือกตั้งเป็นโมฆะ ประยุทธ์รักษาการยาว
- เมื่อวานนี้ (16 มีนา) คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศแบ่งเขตเลือกตั้ง 400 เขตเสร็จสิ้น เตรียมประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาต่อไป ส่วนสนามแข่งขันที่ดุเดือดและน่าจับตาที่สุดตอนนี้ คือกรุงเทพฯ เพราะมีเขตเลือกตั้ง 33 เขต และต้องมี ส.ส. 33 คน กกต.ออกแบบไว้ 8 แบบ และเลือกการแบ่งเขตแบบที่ 1
- การแบ่งเขตเลือกตั้ง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญกำหนดให้จะต้องมีอำเภอหลักอยู่ในเขตเลือกตั้ง ประกอบกับระเบียบของ กกต. ก็กำหนดว่า ผลต่างจากจำนวนเฉลี่ยราษฎรต่อ ส.ส. 1 คน ของแต่ละเขต ต้องไม่ต่างกันเกิน 10%
- ทันทีที่ผลการแบ่ง 400 เขตเลือกตั้งหลุดออกสู่สายตาสาธารณะ พรรคการเมืองแทบจะทุกพรรค ต่างดาหน้าออกมาคัดค้านการแบ่งเขตเลือกตั้งใน กทม.ทันที เหตุเพราะหลายเขตเลือกตั้งใน กทม. แบ่งโดยการผ่าและรวมในระดับแขวง เพื่อรวมเป็นเขตเลือกตั้ง เรียกได้ว่า เขตเลือกตั้งเดิมถูกฉีกออกจากกันและจัดกลุ่มใหม่
- อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี รองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า ชี้ว่ามี 13 เขตเลือกตั้ง จากทั้งหมด 33 เขตเลือกตั้งในกรุงเทพฯ ที่เอาแขวงของหลายเขตมารวมกันโดยไม่มีเขต (อำเภอ) หลัก และวานนี้ อรรถวิชช์ได้ยื่นคำร้องถึงศาลปกครอง เพื่อขอให้ศาลออกคำสั่งคุ้มครอง เบรคประกาศของ กกต. และพิจารณาเพิกถอนการแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส. กทม. โดยด่วน
- อรรถวิชช์ มองว่าการแบ่งเขตเลือกตั้งครั้งนี้ จงใจละลายเขตเลือกตั้งให้ไม่เหมือนเดิม ขัดต่อหลักเกณฑ์ตามมาตรา 27 (1) ที่กำหนดหลักเกณฑ์การแบ่งเขตให้ ‘รวมอำเภอต่างๆ เป็นเขตเลือกตั้ง’ หมายความว่า จะต้องมีอำเภอหลักอยู่ในเขตเลือกตั้ง ปกติการแบ่งเขตที่ผ่านมา จะมีอำเภอหลักเป็นตัวตั้ง แล้วนำจำนวน ส.ส.ต่อราษฎรมาคำนวน ถ้าเขตไหนคนเยอะ ก็จะตัดบางตำบลออกไปบ้าง หรือถ้าเขตไหนคนน้อย ก็จะนำเอาตำบลอื่นจากอำเภออื่นมาเพิ่ม ครั้งนี้ถือเป็นการแบ่งเขตที่แปลกประหลาดที่สุดเท่าที่เคยมีมา ทำให้มีเขตเลือกตั้งที่รวมเฉพาะแขวงโดยไม่มีเขตหลักถึง 13 เขตเลือกตั้ง ได้แก่ เขตเลือกตั้งที่ 8, 9, 12, 13, 17, 18, 19, 21, 26, 27, 28, 29 และ 30 และมีเพียง 4 เขตเท่านั้นที่แบ่งเหมือนเดิม
- การหั่นเขตเลือกตั้งของ กกต. ดังประกาศนี้ จะส่งผลให้ ส.ส. ในแต่ละพื้นที่ ไม่มีความยึดโยงกับประชาชน อีกทั้งการรวมแขวงข้ามเขตแบบนี้ จะกระทบสิทธิประชาชน ทำให้เกิดความสับสนในการใช้สิทธิเลือกตั้ง
- ด้านพรรคเพื่อไทย ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ และ สุรชาติ เทียนทอง ก็ได้ออกมาแถลงเช่นกันว่า การแบ่งเขตเลือกตั้งเช่นนี้ กกต.เสี่ยงที่จะทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง และอาจทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะทั้งประเทศได้ หากการเลือกตั้งเป็นโมฆะ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะรักษาการนายกรัฐมนตรีต่อไป จนกว่าการเลือกตั้งจะเสร็จ ซึ่งนานเท่าใดก็ไม่มีใครรู้
- สุรชาติ ย้ำว่า หลักการแบ่งเขตเลือกตั้ง ต้องดำเนินการตามสภาพของชุมชนที่ราษฎรมีการติดต่อกันเป็นประจำ ในลักษณะที่เป็นชุมชนเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน อำนวยความสะดวกให้ประชาชน ไม่ใช่แบ่งเขตเลือกตั้งตามแขวง กกต. ควรยึดเขตการเลือกตั้งให้ใกล้เคียงกับปี 2554 และปี 2557 มากที่สุด
- ด้าน สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต. มองว่า การละลายเขตเลือกตั้งแบบเก่า โดยการผ่าเขต-อำเภอใหม่ เพื่อรวมเป็นเขตเลือกตั้งใหม่ จะทำให้นักการเมืองเจ้าของพื้นที่เก่าถูกลดความสำคัญลง และเป็นโอกาสที่ดีกับพรรคเล็กและพรรคใหม่ ที่เคยเสียเปรียบได้เข้ามามีบทบาททางมากขึ้น
- ด้านพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ธนกร วังบุญคงชนะ คณะกรรมการกำหนดแนวทางและยุทธศาสตร์พรรค ได้ออกมาระบุว่า พรรค รทสช. เคยยื่นคัดค้านรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้งของจังหวัดนครศรีธรรมราชมาแล้ว แต่ไม่เป็นผล จึงต้องยอมรับ และมองว่าพรรคการเมืองทุกพรรคต้องมีความพร้อม เขตเลือกตั้งออกมาแบบไหน เมื่อแก้ไขไม่ได้ก็ต้องทำตามกติกา ตนยืนยันว่า พรรค รทสช. ยอมรับในกติกาพร้อมปฏิบัติตาม
- ปกรณ์ มหรรณพ กรรมการการเลือกตั้ง ได้ออกมาชี้เเจงในวันนี้่ (17 มีนาคม) ว่า การแบ่งเขตเลือกตั้งของ กกต. เป็นไปตามหลักรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่กำหนด ตามหลักเกณฑ์ค่าเฉลี่ยจำนวนจำนวนประชากร ไม่เกิน 10% รวมถึงความใกล้เคียงของพื้นที่ ให้เป็นไปตามกฏหมายทุกประการ โดย กกต. ยืนยันว่า สามารถชี้แจงได้ในทุกเขตเลือกตั้ง
- ปกรณ์ ยังยก รัฐธรรมนูญมาตรา 114 ที่บัญญัติให้ส.ส. เป็นผู้แทนของปวงชน ไม่ใช่ผู้แทนของจังหวัดหรือเขต ดังนั้นการยื่นร้องต่อศาลปกครองในกรณีดังกล่าวถือเป็นสิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญ และกราบเรียนไปยัง ศาลปกครองว่า ก่อนจะมีคำสั่งใด กกต. พร้อมชี้แจง และตยินดีไปให้ข้อมูลต่อศาล
- ท่ามกลางความสับสนวุ่นวายของกติกาการเลือกตั้งและการเเบ่งเขต ประชาชนคงจับตารอดูต่อไปว่า ศาลปกครองจะมีท่าทีอย่างไรต่อคำร้องของอรรถถวิช หากศาลพิจารณาเพิกถอนการแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส.กทม. ดังคำร้อง การเลือกตั้งอาจต้องล่าช้าจากคาดการณ์เดิม หรือหากการประกาศแบ่งเขตเลือกตั้งครั้งนี้ถูกบังคับใช้จริง น่าสนใจว่าจะส่งผลต่อคะแนนของพรรคเจ้าของพื้นที่ต่างๆ มากแค่ไหน และไม่แน่ว่า อาจกลายเป็นประเด็นทำให้การเลือกตั้งโมฆะก็เป็นได้ ซึ่งนั่นก็จะส่งผลให้พลเอกประยุทธ์รักษาการนายกรัฐมนตรีต่อไป
ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่องจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง จำนวนเขตเลือกตั้ง และท้องที่ที่ประกอบเป็นเขตเลือกตั้ง ในพืื้นที่กรุงเทพมหานคร