การป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีและโรคเอดส์เป็นประเด็นใหญ่ด้านสาธารณสุขในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่สามารถลดอัตราการติดเชื้อเอชไอวีได้ค่อนข้างมีประสิทธิภาพ มีการให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับเอชไอวีอย่างแพร่หลาย เช่น ไม่ใช่เข็มฉีดยาร่วมกัน สวมถุงยางเมื่อมีเพศสัมพันธ์ หากติดเชื้อเอชไอวีแล้วก็ยังสามารถอยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีได้ หากรักษาสุขภาพร่างกายให้ดี และคนรอบข้างก็มีปฏิสัมพันธ์ได้ตามปกติ เพราะเชื้อเอชไอวีไม่สามารถติดต่อผ่านทางการสัมผัส หรือแม้แต่ดื่มน้ำเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การติดเชื้อเอชไอวีในไทยในช่วงหลังไม่ได้ลดลงอย่างสม่ำเสมอแล้ว คุณมิดไนท์ พูนเกษตรวัฒนา ผู้อำนวยการมูลนิธิแอ็พคอม องค์กรรณรงค์เรื่องเอชไอวีและเอดส์กล่าวว่า "โดยรวม จำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวี จะลดลงนิดหน่อยนะครับ แต่ภายในกลุ่มที่เสี่ยง คือพวกกลุ่มผู้ใช้ยา หรือกลุ่มชายรักชาย คนข้ามเพศ ก็ยังคงเป็นปัญหาอยู่ในตอนนี้"
(มิดไนท์ พูนเกษตรวัฒนา ผู้อำนวยการมูลนิธิแอ็พคอม)
ด้านคุณสุรางค์ จันทร์แย้ม ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการกล่าวว่า สถานการณ์การติดเชื้อเอชไอวีเป็นเหมือนคลื่น หากย้อนไปเมื่อ 6 ปีที่แล้ว สถานการณ์การติดเชื้อเอชไอวีในผู้ให้บริการทางเพศ ไม่ว่าจะเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง สถานการณ์มันค่อนข้างขึ้น พอ 3-4 ปีที่แล้วก็ลงมา โดยเฉพาะของผู้หญิงที่ให้บริการทางเพศ ซึ่งอัตราการติดเชื้อมันลงไปจนไม่ถึง 1 เปอร์เซนต์ ส่วนผู้ชายที่ให้บริการทางเพศก็ลดจาก 10 กว่าเปอร์เซนต์ ลงมาเหลือประมาณ 7 เปอร์เซนต์ แต่ตอนนี้ กราฟเริ่มผงกหัวขึ้นมา
คุณสุรางค์กล่าวว่า สิ่งที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนมากคือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ นั่นแสดงว่า ถ้าคนที่มีเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ แสดงว่าเราเริ่มมีปัญหาในการแก้ปัญหาเรื่องเอชไอวีแล้ว เพราะการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ หรือ STI แสดงว่า การป้องกันมันไม่ได้เกิดขึ้น ซึ่งมันก็เป็นสัญญาณว่า เอชไอวีมันใกล้จะมาเคาะประตูอีกแล้ว
คุณสุรางค์มองว่า อัตราการติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นนี้ อาจเป็นเพราะเมื่อกลุ่มประชากรไหนมีอัอตราการติดเชื้อต่ำลงแล้ว บริการจากรัฐ งบประมาณ หรือเรื่องถุงยางอนามัยก็เริ่มถอย แล้วก็ไปโฟกัสที่กลุ่มอื่น พอเริ่มถอยไปโฟกัสที่กลุ่มอื่น สถานการ์มันก็กลับมาอีกว่า เอชไอวีติดต่อจากคนสู่คน ซึ่งคนก็มีปฏิสัมพันธ์กันตลอดเวลา การติดเชื้อจึงกลับมาอีก
(สุรางค์ จันทร์แย้ม ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ)
บริการสุขภาพของชุมชนคือคำตอบ
คุณมิดไนท์กล่าวว่า ประเทศไทยให้ความสำคัญเรื่องเอชไอวีพอสมควร แต่เขาเห็นว่า ถ้ามีการทำงานระดับชุมชน และมีคลินิกระดับชุมชน ที่เข้าถึงชุมชนที่ไม่อยากเข้าถึงการรักษาดูแลการรับบริการของภาครัฐ ก็จะทำงานเชื่อมกันได้ แต่องค์กรชุมชนส่วนมากได้เงินทุนจากต่างประเทศ ในการทำงานเรื่องการป้องกันด้วย แต่ไทยเริ่มเจริญขึ้น ทุนเหล่านี้ก็จะหายลดลงไป
ปัจจุบัน องค์กรชุมชนในเมืองไทยก็พยายามจะทำงานโดยยั่งยืนให้ได้ ก็มีการพูดคุยกับภาครัฐว่าจะทำงานประสานกันยังไงให้มีประสิทธิภาพกว่านี้ จะทำยังไงให้มีการปลดเงินจากภาครัฐไปสู่ชุมชนให้ได้ เพราะถ้าเงินจากนานาชาติหายไปแล้ว องค์กรชุมชนก็จะไม่มีทุนเข้ามาทำงานตรงนี้ต่อไป
ด้านสุรางค์ก็มีความเห็นคล้ายกันว่า ปัจจุบัน เงินทุนทำงานด้านนี้เริ่มลดลง สิ่งท้าทายที่ต้องทำคือ ทำให้บริการที่จัดโดยภาคประชาสังคมในชุมชน หรือ KPLHS (Key Population-led Health Services) คือบริการสุขภาพที่จัดโดยคนจากชุมชน เข้าไปอยู่ในระบบบริการสุขภาพของประเทศ ซึ่งจะทำให้เงินงบประมาณของประเทศเรื่องสุขภาพไหลมาที่องค์กรชุมชน ไม่ได้ไหลไปที่เฉพาะโรงพยาบาลของรัฐเท่านั้น
สุรางค์ระบุว่า หากดูผลการทำงานของการตรวจเชื้อเอชไอวี เปรียบเทียบกันกับหน่วยงานของรัฐกับองค์กรชุมชน ก็จะพบว่าการตรวจเชื้อเอชไอวีในองค์กรชุมชน ในคลินิกชุมชนสูงมากในแต่ละเดือน สามารถเจอคนที่มีผลเลือดบวกในเปอร์เซนต์ที่ค่อนข้างสูง ฉะนั้น องค์กรชุมชนรู้ว่าจะไปทำงานกับใครตรงไหน ไม่ต้องทำงานหว่านไป รู้ว่าใครคือคนที่จะต้องดึงมาตรวจ ใครคือคนที่ต้องพาเข้าสู่การรักษา ซึ่งถ้าเจาะให้ได้ถูกคนเรื่องเอดส์ไม่ใช่เรื่องยากที่เราจะยุติ
เอชไอวีเป็นเรื่องของพฤติกรรม ไม่ใช่เพศหรืออาชีพ
คุณสุรางค์กล่าวว่าสิ่งที่อยากให้คนทำความเข้าใจกันใหม่ก็คือ คนที่ถูกตกเป็นจำเลยจากสังคมว่าเป็นกลุ่มเสี่ยง ว่าคนเหล่านี้เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อเอชไอวี มักคนขายบริการ เกย์ และกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งความจริง เอชไอวีมันเป็นเรื่องของพฤติกรรม คนทุกคนถ้ามีพฤติกรรมถ้าไม่ป้องกัน ก็เสี่ยงติดเชื้อเอชไอวีแน่นอน
ผู้ให้บริการทางเพศ คนขายบริการ หรือเกย์ คนข้ามเพศ ที่ดูแลตัวเองเป็นอย่างดี ก็ไม่ได้เป็นกลุ่มเสี่ยง แต่ถ้าใครคนไหนไม่ป้องกันตัวเอง แสดงว่าเขามีพฤติกรรมเสี่ยงติดเชื้อเอชไอวี เพราะฉะนั้น อยากให้สังคมเข้าใจว่า เอชไอวีมันเกิดที่พฤติกรรม ไม่ได้เกิดจากว่าใครอาชีพอะไร หรือใครมีเพศสภาพอะไร มันเกิดจากพฤติกรรมค่ะ