ไม่พบผลการค้นหา
สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และเยอรมนี ออกมาแสดงท่าทีสนับสนุนแก่ มาร์ก รูตต์ นายกรัฐมนตรีเนเธอร์แลนด์ ที่กำลังจะพ้นตำแหน่งลง ในการขึ้นเป็นเลขาธิการคนต่อไปขององค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (NATO) ในช่วงเวลาที่ยุโรปยังคงมีสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (22 ก.พ.) ชาติมหาอำนาจ NATO ได้ให้การสนับสนุนรูตต์ให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ NATO แทน เยนส์ สโตลเทนเบิร์ก ซึ่งกำลังจะหมดวาระลงในเดือน ต.ค.นี้ ทั้งนี้ ผู้สืบทอดตำแหน่งต่อจากสโตลเตนเบิร์กจะเข้ารับตำแหน่งในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญ ในการจัดการความสัมพันธ์ของ NATO ต่อสงครามยูเครน ขณะเดียวกันต้องระวังไม่ให้ความสัมพันธ์เกิดความบานปลาย ที่อาจดึงพันธมิตรเข้าสู่สงครามกับรัสเซียได้โดยตรง

“สหรัฐฯ ได้แสดงความชัดเจนต่อพันธมิตรของเรา พันธมิตร NATO ของเราแล้ว ว่าเราเชื่อว่ารูตต์จะเป็นเลขาธิการที่ยอดเยี่ยมของ NATO” จอห์น เคอร์บี โฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ กล่าวกับผู้สื่อข่าวเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา

โฆษกของ ริชี ซูนัค นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร กล่าวว่าสหราชอาณาจักรให้การ “สนับสนุนอย่างแข็งขัน” ต่อรูตต์ พร้อมระบุเสริมว่าสหราชอาณาจักรต้องการผู้สมัครที่จะ “รักษาความเข้มแข็งของ NATO และปฏิบัติตามวิสัยทัศน์ NATO 2030 ของพันธมิตร”

กระทรวงการต่างประเทศสหราชอาณาจักรยังระบุอีกว่า รูตต์เป็นบุคคลที่ได้รับความเคารพนับถือทั่วทั้ง NATO โดยเขาได้รับการรับรองความสามารถด้านการป้องกันและความมั่นคงอย่างจริงจัง และเขายังจะเป็นผู้ที่รับประกันได้ว่า ตนจะยังคงแข็งแกร่งและเตรียมพร้อมสำหรับความต้องการใดๆ ในการป้องกันตนเอง

เจ้าหน้าที่อาวุโสของฝรั่งเศสระบุกับสำนักข่าว Reuters ว่า เอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส เป็นผู้ให้การสนับสนุนให้มีการส่งเสริมให้รูตต์ขึ้นเป็นเลขาธิการ NATO ในช่วงแรกๆ และ สเตฟเฟน เฮเบสเทรตโฆษกรัฐบาลเยอรมนี ระบุว่ารูตต์ได้รับการสนับสนุนจากเยอรมนี พร้อมกล่าวยกย่องเขาเป็น “ผู้สมัครที่โดดเด่น”

กลุ่มนักการทูตกล่าวว่า รูตต์เป็นผู้สมัครอย่างเป็นทางการเพียงคนเดียวสำหรับตำแหน่งเลขาธิการ NATO แม้นักการทูตบางคนจะเสนอชื่อของ เคลาส์ อิโอฮานิส ประธานาธิบดีโรมาเนีย รวมถึง คาจา คัลลาส นายกรัฐมนตรีเอสโตเนีย และ คริสจานิส คารินส์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศลัตเวีย

อย่างไรก็ดี ด้วยการประกาศเสียงสนับสนุนที่มาจากทางสหรัฐฯ อันเป็นชาติมหาอำนาจที่โดดเด่นของพันธมิตร NATO รวมถึงเสียงสนับสนุนจาก 3 ประเทศใหญ่ในยุโรป และสมาชิก NATO อีกประมาณ 16 ประเทศ ทั้งหมดยังคงแสดงท่าทีสนับสนุนให้รูตต์ขึ้นดำรงตำแหน่งเลขาธิการ NATO คนต่อไป แม้นักวิเคราะห์บางรายจะเชื่อว่า รูตต์อาจเผชิญกับกระแสการต่อต้านจากตุรเคียและฮังการี

รูตต์เป็นนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดของเนเธอร์แลนด์ และเขายังมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้นำสหราชอาณาจักร สหภาพยุโรป และสหรัฐฯ หลายคน รวมถึง โดนัลด์ ทรัมป์ ในระหว่างที่เขาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทั้งนี้ รูตต์ระบุว่าการกลับมาดำรงตำแหน่งใน NATO นั้นเป็นเรื่องที่ “น่าสนใจอย่างยิ่ง”

NATO ก่อตั้งขึ้นในปี 2491 เพื่อการต่อต้านสหภาพโซเวียตในช่วงสงครามเย็น โดยกลุ่มดังกล่าวเป็นพันธมิตรทางการเมืองและการทหารของประเทศต่างๆ จากทวีปอเมริกาเหนือและยุโรป ทั้งนี้ ผู้นำ NATO จะได้รับการแต่งตั้งตามฉันทามติ ซึ่งหมายความว่าสมาชิกทุกคนต้องยินยอมให้มีการตัดสินใจขั้นสุดท้าย โดยปัจจุบันนี้ NATO มีสมาชิกทั้งสิ้น 31 ชาติ ซึ่งมีสวีเดนที่พร้อมที่จะเข้าร่วมเป็นสมาชิกในเร็วๆ นี้


ที่มา:

https://www.aljazeera.com/news/2024/2/22/us-european-powers-back-outgoing-dutch-pm-mark-rutte-as-next-nato-head?fbclid=IwAR29X3si9Jl7dOZm8b8H2LgQqCj-MpxCByomL6BAoaPMST9reYwwBYBSWfc