ไม่พบผลการค้นหา
ตัวแทนจากพรรคการเมืองเข้าร่วมการเสวนาหัวข้อรัฐสวัสดิการในประเทศไทยที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยนำเสนอนโยบายแก้ไขความเหลื่อมล้ำพร้อมเพิ่มการเข้าถึงการศึกษาและรายได้

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ ตัวแทนพรรคไทยรักษาชาติ กล่าวว่า รัฐสวัสดิการในไทยต้องใช้ระยะเวลานานเพราะรายรับของรัฐจากภาษียังไม่สูงแต่เราก็ควรมีสวัสดิการในแบบที่ไม่เกินตัว และต้องเพิ่มรายได้ให้ประชาชนเพื่อเพิ่มรายได้ให้รัฐเป็นสิ่งจำเป็น ในอนาคตควรกำหนดว่ารายได้จากจีดีพีควรแบ่งไปเป็นสวัสดิการของรัฐเท่าไร ในอดีตประชานิยมไม่ได้ทำชาติล่มจมแต่กลับเพิ่มจีดีพีเพราะยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน เมื่อแปดถึงเก้าปีก่อน พรรคเพื่อไทยมีนโยบายแจกแทบเบลตเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงอินเตอร์เนตเมื่อแปดเก้าปีที่แล้วของเพื่อไทย

รัฐต้องคิดล่วงหน้าเพื่อสร้างนโยบายล่วงหน้า ประเทศเล็กเงินเยอะส่วนมากทำรัฐสวัสดิการได้ แต่ไทยประชากรเยอะก็ขอเสนอ การปรับโครงสร้างงาน โดยการโยกคนจากภาคเกษตรเข้าภาคบริการ โดยภาคอุตสาหกรรมต่อไปในอนาคตจะมีตำแหน่งงานเปิดน้อยเนื่องจากมีปัญญาประดิษฐ์ทำงานแทน

สอง ลดความเหลื่อมล้ำทางเทคโนโลยี เพื่อเตรียมพร้อมสู่หกปีข้างหน้าเปลี่ยนแปลงมากกว่าร้อยปีที่ผ่านมา หลายอาชีพเช่น แพทย์ อาจต้องตกงานเนื่องจากมีเทคโนโลยีตรวจร่างกายได้ และสาม นำไทยกลับสู่การเป็นศูนย์กลางของอาเซียนและเป็นที่ยอมรับของสังคมโลก โดยเฉพาะประเทศในกลุ่ม CLMV เราควรเป็นผู้นำในภูมิภาค โดยอาเซียนจะส่งออกมากในอนาคต เราต้องร่วมมือกันและผู้บริหารประเทศต้องฝันไกล

นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่านโยบายของพรรครอบนี้คือ แก้จน สร้างคน สร้างชาติ โดยเราสนับสนุนรัฐสวัสดิการอยากเห็นการเกิดขึ้น โดยการขีดเส้นไม่ให้คนไทยมีรายได้ต่ำกว่า 120,000 บาทต่อปีและถ้าต่ำกว่านี้รัฐจะโอนเงินเข้าบัญชีให้เช่นเดียวกับการประกันรายได้เกษตรกร เช่น ประกันราคาข้าวที่ 10,000 บาท ถ้าราคาตลาดอยู่ที่ 8,000 เกษตรกรจะได้รับส่วนต่าง และยังมีประกันราคายางที่ 60 บาทและโครงการเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ โดยจะปรับให้เท่ากัน 1,000 บาท และเบี้ยผู้ยากไร้ 800 บาทโอนเข้าบัญชีไม่ต้องใช้บัตรซื้อของที่ร้านค้าของรัฐเท่านั้น

ส่วนนางสาววรรณวิภา ไม้สน จากพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่าพรรคอยากเห็นสวัสดิการถ้วนหน้าครบวงจร โดยภาคแรงงานต่อสู้กว่า 36 ปีจึงจะมีระบบประกันสังคม แรงงานหญิงกลุ่มสิ่งทอต่อสู้เพื่อวันลาคลอด 90 วัน ตอนนี้อยากขอให้เพิ่มลาคลอดเป็น 180 วัน สนับสนุนทุนเลี้ยงดูบุตรแรกเกิด 1,200 บาท การศึกษา มีเงินสนับสนุนเพื่อลงทะเบียนเรียนตั้งแต่อายุ18-22 ปีจำนวน 2,000 บาท โดยทุกวันนี้ระดับมหาวิทยาลัยถ้าอยากเรียนต้องเป็นหนี้

โดยรัฐบาลควรช่วยแบ่งเบาภาระพ่อแม่ลดหนี้ กยศ.ไม่ต้องเริ่มต้นติดลบไม่ต่ำกว่าสองแสนบาท นอกจากนั้นยังต้องการเพิ่มลาพักร้อน ลดชั่วโมงการทำงานโดยไม่กระทบรายได้ และจะสมทบผู้ประกันตนในมาตรา 40 500 บาทเพราะคนกลุ่มนี้มักไม่มีเงินเก็บและปรับเปลี่ยนฐานรายได้จากรายวันเป็นรายเดือนสำหรับแรงงานที่ทำงานมาเกินสิบปี

ด้าน ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล ตัวแทนพรรคเพื่อไทย กล่าวว่าทิศทางการพัฒนาของไทยที่ผ่านมากภาคเอกชนถือเป็นหัวหอกสำคัญ ประเทศไทยภาษีเงินได้ไม่สูงนัก ภาครัฐจึงไม่ใหญ่ สิ่งที่ถูกละเลยคือการพัฒนาทุนมนุษย์ ช่องว่างระหว่างจนกับรวยมีเยอะเพราะไม่ได้พัฒนาศักยภาพและคนจนก้าวข้ามเส้นแบ่งไม่ได้ พรรคเพื่อไทยมองเชิงยุทธศาสตร์ มองภาพกว้าง สนับสนุนสวัสดิการสองขา สร้างผลสัมฤทธิ์ทางอุตสาหกรรมและภาคสังคมไปพร้อมกันเนื่องจากหากเน้นด้านเศรษฐกิจอย่างเดียวสังคมก็จะเหลื่อมล้ำ แต่หากเน้นด้านสังคมงบประมาณก็จะหมดไปไม่ต่อเนื่อง

ดังนั้นเราต้องการรัฐสวัสดิการแบบถ้วนหน้า แต่ในระยะแรกคงไม่ใช่ทุกมิติเพราะความเหลื่อมล้ำสูง โดยต้องกระจายรายได้ลดช่องว่างเสียก่อน ส่วนการดำเนินการระยะที่สองกระจายรายได้ตามช่วงอายุโดยคนวัยทำงานเสียภาษีมาก รับสวัสดิการน้อย เพื่อโอบอุ้มวัยเด็กและวัยชรา

ดร.เผ่าภูมิอธิบายว่าความเหลื่อมล้ำด้านรายได้เกิดจากความเหลื่อมล้ำด้านโอกาสในช่วงวัยเด็กของชีวิต บางรัฐบาลปล่อยความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ไปสู่ช่วงอายุอื่น และใช้เงินแจกกลายเป็นผักชีโรยหน้า ส่วนพรรคเพื่อไทยมองประเทศไทยในอีกสิบปีไม่ใช่ประเทศผู้ใช้แรงงานแต่เป็นประเทศผู้ผลิตที่มีทักษะสูงเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ

ผศ.ดร.ดวงมณี เลาวกุล คณะเศรษฐศาสตร์​​ ธรรมศาสตร์กล่าวว่าหลังจากฟังตัวแทนพรรคการเมืองแล้ว บางพรรคเน้นในเชิงหลักการจึงไม่แน่ใจว่าทำได้จริงแค่ไหน และส่วนมากต้องใช้งบประมาณสูง จึงอยากฟังว่าแต่ละพรรคจะระดมเงินอย่างไรเพราะฐานะทางการคลังของไทยขาดดุลทุกปี แม้ว่าหนี้สาธารณะจะไม่น่ากังวลแต่ก็อาจมีความเสี่ยงในอนาคตได้ นโยบายหลายพรรคอาจกระทบกลุ่มทุนหรือกลุ่มอำนาจเก่าและเมื่อถึงเวลาก็ไม่สามารถผลักดันไปได้ เพราะกลุ่มต่าง ๆ จะเสียงดังกว่าประชาชนหรือกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ