วันนี้ (16 ธ.ค.) พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ร่วมเวทีเสวนาการเลี้ยงเด็กในโลกปัจจุบันที่ Peekaboo cafe และ Play ground สายไหม 46 โดยกล่าวว่า การดูแลลูกถือเป็นสิ่งที่น่ากังวล ตั้งแต่การเตรียมความพร้อม และเมื่อลูกเกิดมาก็ต้องเรียนรู้ และบริหารจัดการการเลี้ยงดูลูก ซึ่งการมีครอบครัวมีหลากหลาย เราต้องใช้ 10 ปีนี้ ให้มีค่ามากที่สุด เพราะถือเป็นช่วงเวลาที่สำคัญ
แต่สิ่งที่ยากที่สุดคือความรู้สึกผิดเกี่ยวกับเรื่องของการไม่มีเวลาให้ลูก เพราะเด็กสะกดคำว่า Love ไม่เป็น โดยเฉพาะวันที่ตนเองมีภารกิจในการลงพื้นที่ในการทำหน้าที่สส.และประชุมสภาต้องมีความกล้าหาญในการเลือกเวลาให้ลูก พร้อมกับทำงานในหน้าที่ สส.ให้เหมาะกับที่ประชาชนให้ความไว้วางใจ 14 ล้านเสียง ซึ่งเชื่อว่าผู้ปกครองทุกคนไม่ว่าจะฐานะไหนหรืออาชีพไหนก็จะรู้สึกว่าเราเลี้ยงลูกห่วยแต่ต้องไม่ลงกับลูก พร้อมทั้งแนะนำหนังสือในการเลี้ยงเด็ก 'ก่อนถึงอนุบาลก็สายเสียแล้ว'
ด้าน กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ คณะก้าวหน้า กล่าวว่า การเรียนชั้นประถมวัยถือเป็นช่วงเวลาที่สำคัญ โดยศูนย์พัฒนาเด็กเล็กของภาครัฐ ที่ควรจะมีคุณภาพสูง แต่กลับเป็นที่พึ่งให้กับผู้ปกครองเด็กไม่ได้ ซึ่งหากจะให้ดีรัฐควรมีการพัฒนาศูนย์เด็กเล็กที่ดี และควรลงทุนกับเด็ก เพราะถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุด แต่ต้องยอมรับว่าภาครัฐไม่สามารถบริหารจัดด้านการศึกษาขั้นพื้นฐานได้ ตั้งแต่ชั้นปฐมวัยจนถึงอายุ 15 ปีได้ ทำให้เกิดปัญหาทุนมนุษย์ และความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวกับโรงเรียน ก็มีสิ่งสำคัญ ด้วยการอดทนและการรอฟัง ซึ่งเป็นพื้นฐานของพ่อแม่ผู้ปกครอง
ขณะที่ จิราภรณ์ อรุณากูร (หมอโอ๋) เจ้าของเพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน กล่าวว่า เด็กในปัจจุบันมีปัญหาด้านการควบคุมอารมณ์และติดหน้าจอ แต่หากไปดูรากของปัญหาคือความสัมพันธ์ในครอบครัว การเลี้ยงดู พ่อแม่ไม่มีเวลาให้ จึงให้คนอื่นเลี้ยงดูลูก จึงทำให้ความสัมพันธ์ไม่มั่นคง การรับฟังกันจึงอาจจะยาก และสุดท้ายก็ไปแตะปัญหาด้านโครงสร้างด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และความเหลื่อมล้ำสุด ซึ่งทำให้กระทบต่อครอบครัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นการเมืองจึงมีสิ่งสำคัญในการกำหนดนโยบายต่างๆ ทั้งการลาคลอด เงินอุดหนุน และในแต่ละบ้านพบว่าร้อยละ 45 ในประเทศ มีนิทานไม่ถึง 3 เล่ม โดยราคาสมุดนิทาน 1 เล่ม มีราคาสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำอีก ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าประเทศของเราลงทุนกับเด็กน้อยมาก