ไม่พบผลการค้นหา
เครือข่ายรัฐธรรมนูญคนจน ผนึกนักวิชาการ-สื่อ เชิญทุกพรรคการเมืองร่วมเวทีสัญจร 4 ภาค ฟังปัญหาคนจน เปิดทางร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน

วันที่ 26 มี.ค. 2565 ที่สวนเงินมีมา ถ.เจริญนคร เครือข่ายองค์กรภาคีคนจน องค์กรพัฒนาเอกชน นักวิชาการ และสื่อมวลชน ในนามเครือข่ายรัฐธรรมนูญคนจน ร่วมจัดการแถลงข่าวเชิญพรรคการเมืองเข้าร่วมเวที สัญจร 'พรรคการเมืองฟังเสียงคนจน' ใน 7 เวที 4 ภูมิภาค ตั้งแต่เดือน เม.ย. ถึง มิ.ย. 2565 นี้ เพื่อรณรงค์การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ที่เพิ่มการมีส่วนร่วม และยึดโยงกับประชาชน 

ไพฑูรย์ สร้อยสอด โฆษกสมัชชาคนจน กล่าวถึงที่มาในการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ว่า ภายหลังการรัฐประหารในปี 2557 โดย คสช. ได้มีความพยายามสืบทอดอำนาจโดยการร่างรัฐธรรมนูญ 2560 ขึ้นมา เพื่อเพิ่มอำนาจให้กับรัฐ ลดทอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน ลิดรอนสิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชนและสิทธิชุมชน แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาให้กับประชาชนได้ แม้ว่าที่ผ่านมาหลายรัฐบาลจะประกาศขจัดปัญหาความยากจนให้หมดไป แต่ก็ไม่เคยทำสำเร็จเพราะไม่เคยทำความเข้าใจปัญหาจากคนจน ฟังแต่คนรวย ยังซ้ำเติมปัญหาเก่า สร้างปัญหาใหม่ให้รุนแรงยิ่งขึ้น เพิ่มความทุกข์ยากลำบากให้กับคนจนไม่รู้จบ 

"พวกเราในนามเครือข่ายรัฐธรรมนูญคน มีความเห็นว่า หมดเวลาที่ใช้รัฐธรรมนูญเป็นการฉบับนี้ พวกเราต้องการรัฐธรรมนูญที่พวกเรามีส่วนร่วม รัฐธรรมนูญที่ยึดโยงกับประชาชน ดังเช่นร่างรัฐธรรมนูญคนจนที่เราได้ร่วมกันยกร่างขึ้นมา" ไพฑูรย์ กล่าว 

สามชาย ศรีสันต์ ตัวแทนเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง ระบุว่า คนจนไม่เพียงแค่จนเงิน แต่ยังจนสิทธิ จนอำนาจ จนโอกาส คนจนพยายามจะบอกรัฐบาลทุกยุคทุกสมัย ว่าการแก้ปัญหาความยากจน ไม่ใช่การจัดสรรเงิน ที่ดินทำกิน หรือหางานให้ทำ แต่คือการให้สิทธิที่เท่าเทียมเหมือนกลุ่มคนอื่น โดยเฉพาะคนรวยกับคนจนควรจะได้รับสิทธิเท่าเทียมกันในความเป็นคนไทย 

"ผมขอเน้นย้ำว่า การช่วยคนจน ไม่ใช่การให้ปลา เพื่อช่วยบรรเทาความหิวโหย ไม่ใช่การให้เบ็ด เพื่อให้ไปจับปลากินเอง ไม่ใช่สอนการจับปลา อย่างที่มักพูดกันว่าให้คนจนพึ่งพาตัวเองได้ แต่คือการให้สิทธิเข้าถึงแหล่งน้ำที่จะจับปลา ให้โอกาสที่จะครอบครองเครื่องมือในการจับปลา และให้อำนาจคนจนในการกำหนดกลยุทธ์เบียบในการจับปลาได้ด้วยตนเอง" สามชาย ระบุ 

ขณะที่ ชลิตา บัณฑุวงศ์ ตัวแทนเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิมนุษยชน มองว่า รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 เขียนขึ้นมาอย่างแยบยลเพื่อสืบทอดอำนาจของรัฐทหารคสช เพื่อให้มีเสื้อคลุมที่คล้ายจะเป็นประชาธิปไตย และมีที่มาที่ดูไม่ชอบธรรม เนื่องจากมีการจับกุมดำเนินคดีผู้ที่ออกมาประท้วงไม่รับร่างกันเป็นจำนวนมาก รวมถึงการจับขึ้นศาลทหาร มีเนื้อหาที่ไม่เอื้อต่อคนจนอำนาจรัฐจำกัดสิทธิคนจน ก่อนการเลือกตั้งปี 2562 พรรคการเมืองหลายพรรคต่างๆสัญญาว่าจะเข้ามาแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อเวลาผ่านไป ระยะสำคัญของการแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ก็ถูกทำให้น้อยลง ที่ผ่านมาความพยายามจะทำให้เกิดการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยการตั้ง สสร.ก็ถูกขัดขวางมาโดยตลอด 

ชลิตา เน้ยย้ำว่า รัฐธรรมนูญฉบับคนจน มีความชัดเจนในการเปลี่ยนความสัมพันธ์เชิงอำนาจของระบอบการเมืองการปกครอง ตั้งแต่คำปรารภ โดยหลักการสำคัญอีกประการคือ สามารถแก้ไขได้ทุกหมวดทุกมาตรา ไม่จำกัดตนเองล่วงหน้าว่าหมวดไหนแตะไม่ได้ หรือมาตราไหนแตะไม่ได้ ตนอยากเรียกร้องให้พรรคการเมืองเปิดใจให้กว้าง เปิดความคิด มีความกล้าหาญทะลุกรอบที่เคยจำกัดตัวเอง เพราะที่ผ่านมาหลายๆ พรรค ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหนก็ตาม ก็มักจะออกตัวเสมอว่าจะไม่แตะบางหมวด บางมาตรา 

ด้าน ฐาปนีย์ เอียดศรีไชย ผู้ก่อตั้งสำนักข่าว The Reporters ในฐานะตัวแทนสื่อมวลชน กล่าวว่า สื่อมวลชนมีต้องเปิดพื้นที่ให้มีการถกเถียงประเด็นปัญหาต่างๆ ในสังคม The Reporters เองเน้นทำข่าวด้านสิทธิมนุษยชน และการขับเคลื่อนสังคม โดยรัฐธรรมนูญคือเรื่องสูงสุดที่เกี่ยวเนื่องกับชีวิตของประชาชน และสิทธิของประชาชนในทุกด้าน เสียงของคนจนที่ผ่านมาไม่ค่อยมีใครได้ยิน การที่ทางเครือข่ายต่างๆได้พยายามจัดทำเวทีนี้ขึ้นมา โดยเฉพาะการส่งเสียงถึงนักการเมืองซึ่งเป็นตัวแทนประชาชนในรัฐสภา สำนักข่าว The Reporters จึงอยากจะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยให้เสียงของคนจนดังขึ้น และจะติดตามรายงานในทุกเวทีที่ทางเครือข่ายจะจัดขึ้น 

"อยากให้เพื่อนสื่อมวลชนให้ความสำคัญในการมองเห็นคนจน สื่อมวลชนเป็นตัวกลางสำคัญที่จะทำให้สังคมได้เห็นปัญหานี้ เพียงสำนักข่าวเดียวคงทำอะไรไม่ได้ ถ้าไม่มีเพื่อนๆ สื่อมวลชนช่วยกัน เพราะพลังของสื่อสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้จริง" ฐานปณีย์ กล่าว 

สำหรับเวทีสัญจร 'พรรคการเมืองฟังเสียงคนจน' มีกำหนดจัดเวทีแรก ในวันที่ 8 เม.ย. ที่ จ.สกลนคร โดยจะดำเนินการจัดตั้งเวทีในจังหวัดต่างๆ ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ และเวทีสุดท้ายจะจัดขึ้นในวันที่ 24 มิ.ย. ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กรุงเทพฯ