ไม่พบผลการค้นหา
อนิเมะชุดนี้เต็มไปด้วยการขับเคลื่อนจากเพศหญิง/ความเป็นผู้หญิงอย่างน่าตกใจ ทั้งที่โดยขนบแล้ว การ์ตูนประเภทขับหุ่นยนต์ต่อสู้นั้นเป็นอะไรที่มาดแมนสุดๆ

เป็นเรื่องตลกดีที่คนรุ่นสามสิบกว่าหรือยี่สิบปลายในตอนนี้หลายคนต้องเคยผ่านยุคที่อนิเมะ Neon Genesis Evangelion (1995) เป็นอะไรที่ ‘ต้องดู’ ไม่งั้นอาจจะตกเทรนด์หรือถูกเพื่อนร่วมชั้นมองเหยียด

ทว่าเมื่อถามถึงความรู้สึกส่วนตัวต่อการ์ตูนชุดนี้ส่วนใหญ่ก็มักจะหัวเราะออกแบบขำขื่น เพราะนี่ไม่ใช่อนิเมะที่ดูสนุกเบาสมอง มันมีเนื้อหาตึงเครียด หดหู่ จิตตก และปริศนาซับซ้อนที่ทำเอาหัวแทบระเบิด จนไม่แน่ใจว่า Evangelion เป็นประสบการณ์สวยงามหรือบาดแผลทางใจกันแน่

01.jpg

เรื่องราวของ Evangelion ว่าด้วย อิคาริ ชินจิ เด็กชายวัย 14 ปีที่ถูกเรียกตัวมายัง NERV หน่วยงานที่ดูแลหุ่นยนต์ยักษ์ ‘เอวานเกเลียน’ มีหน้าที่ต่อสู้กับสัตว์ประหลาดนามว่า ‘เทวทูต’ ผู้ที่เรียกชินจิมาคือ อิคาริ เก็นโด ซึ่งเป็นทั้งพ่อผู้ห่างเหินของชินจิและผู้บัญชาการสูงสุดของ NERV

ชินจิต้องจำใจเป็นนักบินขับหุ่นเอวา เขาต่อสู้ด้วยความหวาดกลัวและมีสภาพจิตใจที่ย่ำแย่ลงทุกที ขณะเดียวกันชินจิก็เริ่มมีปฏิสัมพันธ์กับคนมากมายใน NERV ทั้ง คัตสึรางิ มิซาโตะ ผู้ดูแลแผนการรบซึ่งอาสารับชินจิไปอยู่ด้วย, อาคางิ ริตสึโกะ นักวิทยาศาสตร์อัจฉริยะประจำ NERV, อายานามิ เรย์ เด็กสาวลึกลับที่เป็นนักบินเอวาเช่นกัน และนางิสะ คาโอรุ นักบินหนุ่มที่ชินจิมีความรู้สึกดีด้วย

ไม่น่าเชือว่า 24 ปีต่อมา Evangelion จะกลายเป็น talk of the town อีกครั้ง เมื่ออนิเมะเรื่องนี้เพิ่งออนแอร์ทาง Netflix เมื่อ 21 มิถุนายนที่ผ่านมา แม้จะตามมาด้วยดราม่ามากมาย ทั้งการถอดเพลง Fly Me to the Moon ออกจากช่วงเอนด์เครดิต (คาดว่าไม่อยากจ่ายค่าลิขสิทธิ์มหาศาล) หรือการแก้ไขคำบรรยายในฉากโฮโมอีโรติกระหว่างชินจิกับคาโอรุ โดยเปลี่ยนจากคำว่า Love (รัก) เป็น Like (ชอบ) แต่ฝ่ายคนแปลก็ออกมาแถลงว่าเขาต้องการเว้นช่องว่างให้คนดูตีความ

อย่างไรก็ดี การกลับมาดู Evangelion อีกครั้ง (ซึ่งน่าจะทิ้งห่างจากครั้งล่าสุดที่ดูราวทศวรรษ) สิ่งที่ผู้เขียนรู้สึกอย่างมากคืออนิเมะชุดนี้ช่างเต็มไปด้วยการขับเคลื่อนจากเพศหญิง/ความเป็นผู้หญิงอย่างน่าตกใจ ทั้งที่โดยขนบแล้วการ์ตูนประเภท ‘ขี่หุ่นยนต์ออกไปสู้กับเหล่าวายร้าย’ นั้นเป็นอะไรที่มาดแมนสุดๆ

[บทความจากนี้เปิดเผยเนื้อหาของ Neon Genesis Evangelion และ The End of Evangelion]

หลังจากดูภาคโทรทัศน์ 26 ตอนและหนังใหญ่ The End of Evangelion ที่เป็นบทสรุปของเรื่อง ผู้ชมได้รับรู้ว่าแรงจูงใจใหญ่ของเก็นโดไม่ใช่แผนพัฒนามนุษยชาติ ที่ต้องการ ‘รีเซ็ต’ โลกมนุษย์แบบที่องค์กรลับ SEELE วางไว้ หากแต่เก็นโดต้องการพบกับยูอิ-ภรรยาของเขา-อีกครั้ง หลังจากที่ยูอิถูกดูดกลืนไปในหุ่นยนตร์เอวานเกเลียนหมายเลข 01 ในช่วงทดสอบการใช้งาน

ความปรารถนาของเก็นโดเป็นความเห็นแก่ตัวร้ายกาจ มันทำให้ผู้คนมากมายต้องเจ็บปวด รวมถึงชินจิเองด้วย (พูดง่ายๆ ว่าเก็นโดรัก ‘เมีย’ มากกว่า ‘ลูก’)

เมื่อเอวา 01 มียูอิอยู่ภายใน มันจึงมีความเป็นผู้หญิงอยู่ในตัว (หลายเว็บไซต์พร้อมใจกันใช้สรรพนามเรียก 01 ว่า She แทน It) เราได้เห็นหลายฉากที่หุ่น 01 คลุ้มคลั่งขึ้นมา บ้างก็ตีความเชิงประชดประชันว่ามันคือลักษณะคาดเดาไม่ได้ของพวกผู้หญิง บ้างก็เล่น bad joke ว่าเป็นผู้หญิงช่วงวันนั้นของเดือน

แต่ถ้าสังเกตให้ดี 01 มักอาละวาดเมื่อชินจิอยู่ในภาวะวิกฤต จึงอาจเป็นสัญชาตญาณของแม่ที่ต้องการปกป้องลูกชาย

เมื่อพิจารณาโครงสร้างขององค์กร NERV แม้จะมีเก็นโดเป็นใหญ่ แต่ผู้หญิงอย่างมิซาโตะและริตสึโกะก็มีบทบาทสำคัญยิ่ง

น่าสนใจว่า MAGI ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่เป็นหัวใจของ NERV ถูกออกแบบโดยนาโอโกะ-แม่ของริตสึโกะ เธอแปรข้อมูลสมองของตัวเองเป็น MAGI และแบ่งเป็นสามระบบย่อย นั่นคือ ความเป็นผู้หญิง ความเป็นแม่ และความเป็นนักวิทยาศาสตร์ ทว่าในฉากที่ริตสึโกะจะทรยศเก็นโด MAGI กลับไม่ยอมร่วมมือด้วย เพราะแม่ของเธอหลงรักเก็นโด

สุดท้ายแล้วนาโอโกะก็ใช้หัวใจมากกว่าสมองด้วยการเลือกเป็น ‘ผู้หญิง’ มากกว่าจะเป็นแม่และนักวิทยาศาสตร์ผู้ปราดเปรื่อง

สำหรับเหล่าตัวละครรองก็ดูเหมือนจะมีผู้หญิงเป็นแรงจูงใจหลักในชีวิต ซึ่งนำพวกเขาไปสู่ชะตากรรมไม่น่าอภิรมย์นัก เรียวจิ คาจิ สายลับสองหน้าและอดีตคนรักของมิซาโตะต้องจบชีวิตลงเพราะบอกความลับของ NERV และ SEELE กับเธอ

ศาสตราจารย์ฟูยุสึกิ ยอมมาร่วมหัวจมท้ายกับเก็นโดและ NERV ก็เพราะเขารักยูอิเช่นกัน (แต่มันเป็นไปไม่ได้ด้วยความที่ฟูยุสึกิกับยูอิเป็นอาจารย์-ลูกศิษย์กัน)

ฮิวงะ หนุ่มแว่นลูกน้องของมิซาโตะยอมเสี่ยงตายล้วงข้อมูลขององค์กรด้วยความชอบที่มีต่อเธอ

หรือกระมั่งมายะ เจ้าหน้าที่สาวก็หลงใหลในตัวริตสึโกะอย่างเห็นได้ชัด (เมื่อคิดว่า Evangelion เป็นอนิเมะยุค 90 ก็ถือว่าล้ำมาก เพราะมีทั้งความสัมพันธ์แบบเกย์และเลสเบี้ยน)

06.jpg

ส่วนตัวละครหลักอย่างชินจิก็มีความเป็นผู้หญิง (femininity) ในตัวเองสูง จริงอยู่ว่าเขาอาจดูอ่อนแอ ปวกเปียก ขี้ขลาด แต่ในอีกแง่ ชินจิเป็นคนที่มีความละเอียดอ่อนอย่างมาก

ในด้านรสนิยมทางเพศ แม้จะชัดเจนว่าเขามีอารมณ์กับผู้หญิง (ฉากช่วยตัวเองในตำนานจาก The End of Evangelion) แต่เมื่ออยู่กับคาโอรุ เขากลับเขินอายแก้มแดงไม่ต่างกับสาวน้อย และน่าสังเกตว่าในฉากที่มิซาโตะพยายามจับมือเขา ชินจิปฏิเสธทันที แต่เมื่อคาโอรุจับมือเขาตอนแช่น้ำร้อนด้วยกัน ชินจิกลับไม่ปัดป้องใดๆ

05.jpg


อย่างไรก็ดี สิ่งที่ซับซ้อนชวนปวดหัว (และปวดตับ) มากที่สุดใน Evangelion คงหนีไม่พ้นความสัมพันธ์ของชินจิกับเรย์

ทั้งคู่ดูมีความรู้สึกดีที่ดีต่อกันและมีแนวโน้มไปในทางโรแมนติก ทว่าเรย์นั้นเป็นร่างโคลนที่มียูอิ-แม่ของชินจิ-เป็นต้นแบบ ความรักของชินจิกับเรย์จึงเป็นเรื่องต้องห้ามแห่งความ incest ซ้อนทับกับโศกนาฏกรรมกรีกของ Oedipus

ส่วนการกระทำของชินจิ ถือว่าฆ่าพ่อ (และคนทั้งโลก) ใน The End of Evangelion หรือไม่ ก็เป็นเรื่องคนดูยังถกเถียงจนถึงปัจจุบัน

ชะตากรรมของชินจิช่างน่าเศร้า เมื่อความสัมพันธ์ของเขากับคาโอรุเป็นเรื่องต้องห้ามเช่นกัน

คาโอรุนั้นเป็นร่างโคลนที่เกิดขึ้นจากอดัม เทวทูตองค์แรกที่มีสถานะผู้ให้กำเนิดชีวิต ความรักของมนุษย์กับ ‘สิ่งที่สูงกว่า’ ย่อมเป็นไปไม่ได้ และถึงที่สุดแล้ว คาโอรุก็เกิดมาเพื่อจะตาย (“การเลือกจะตายคืออิสรภาพสูงสุดของมนุษย์” คาโอรุกล่าวไว้)

คาโอรุมักพูดอยู่บ่อยครั้งว่าเขาเกิดมาเพื่อพบกับชินจิ แต่คงต้องขยายความว่าเขาเกิดมาเพื่อให้ชินจิฆ่าหรือไม่ก็ตายแทนชินจิ ดังที่ปรากฏทั้งใน Evangelion ภาคปกติและ Evangelion 3.0 (ซึ่งยังไม่แน่ชัดว่าเป็นภาคต่อหรือ alternate universe ของเรื่องหลักกันแน่) แต่ไม่ว่าจะจักรวาลไหนโลกไหนชินจิก็เป็นเหตุแห่งความตายของคาโอรุอยู่ร่ำไป

04.jpg

เมื่อถูกถามถึงนัยทางศาสนา เหล่าผู้สร้างของ Evangelion ก็จะตอบบ่ายเบี่ยงอยู่ร่ำไป แต่อย่างที่เห็นว่ามีสัญลักษณ์มากมายปรากฏในเรื่องทั้งไม้กางเขนและการอ้างคัมภีร์ไบเบิ้ล ทว่าสิ่งที่แทบไม่ปรากฏหรือถูกพูดออกมาชัดๆ คือคำว่า ‘พระเจ้า’ (จะมีก็เพียงสโลแกนของ NERV ที่เขียนทำนองว่า “พระเจ้าอยู่บนสรรค์ แต่มนุษย์คือผู้อยู่บนโลก”) เช่นนั้นแล้วพระเจ้าอาจไม่มีอยู่จริงในโลกของ Evangelion

หรือหากมีอยู่ พระองค์ก็ไม่เคยอยู่ข้างตัวละครในเรื่องเลยแม้สักวินาทีเดียว