ไม่พบผลการค้นหา
ก้าวแรกเหยียบเข้าไปในโรงเรียนกลางเอกมัยที่ถูกปล่อยร้างมานานกว่า 18 ปี   กลับรู้สึกชอบทันทีตั้งแต่แรกพบ

ช่วงสายของวันที่ 7 พฤศจิกายน  

เมื่อเดินเข้าไปในโรงเรียนโรจน์เสรีนุสรณ์  ตั้งอยู่ระหว่างซอยเอกมัย 13 -15  มันยังคงสภาพเดิมไว้  แม้จะเปลี่ยนแปลงไปบ้างแต่ตัวอาคารยังทิ้งร่องรอยของความเก่า  ดิบ ของสีที่ร่อนลง   

ห้องเรียนบางส่วนถูกรื้อผนังออกเหลือเพียงห้องโล่งๆ  แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังหลงเหลือห้องเรียนอีกหลายห้องที่ยังคงสภาพของประตู และหน้าบานหมุนที่ครบฝุ่นจับตัวหนา  และรอยเขียนชอร์คบนกระดานดำที่เขียน วัน เดือนปี  ของวันสุดท้ายของการเรียนการสอนที่นี่  นับตั้งแต่ปี  2542  สีขาวของชอร์ค  ยังชัดเจนอยู่ในความทรงจำของใครหลายคน 

สิ่งที่เปลี่ยนไปในวันนี้คือเสียงของการเชื่อมเหล็ก  การตะโกนของช่างสี  ช่างไม้   ที่เร่งทำงาน  แสดงบทบาทเหมือนคนพ่อมด  ต้องเนรมิตรโรงเรียนเก่าแห่งนี้ให้กลายเป็น Freefrom  Festival พื้นที่สร้างสรรค์ของคนต่างวัย  ได้มาใช้เวลาร่วมกัน  ซึ่งจะต้องเสร็จทันในวันเปิดงานวันแรก  10 พฤศจิกายนนี้ 

เรานัดคุณพี  - รวมพร ถาวรอธิวาสน์   หนึ่งในเจ้าของโปรเจ็กต์ " FREEFORM FESTIVAL 2017"  มาบอกเล่าเรื่องราวการทำโครงการนี้ 


ทำไมจึงมีแนวคิดเปลี่ยนพื้นที่ตรงนี้ให้เป็นครีเอทีฟสเปซ?
-จริงๆตอนเราเริ่มต้น มันมี 2 แกนค่ะ  คือ คอนเทนต์และทำเล  คือการนำเอางานสร้างสรรค์และปล่อยให้เด็กๆ เสพย์ในงานที่เราชอบได้   จุดร่วมคือเรามาเจอที่นี่ด้วย  มันเป็นทำเลอยู่ในเมือง  มีพื้นที่ขนาดใหญ่  เดินทางสะดวกและมีลักษณะเด่นเป็นโรงเรียนเก่า  ทำอะไรได้พอดีๆ  สามารถชวนคนทั่วไปมาร่วมงานนี้ไม่ยาก   กลุ่มเป้าหมายของเราคือคนเมืองและครอบครัว    เราอยากหาคอนเทนต์ใหม่ๆ สถานที่ใหม่ๆที่ไม่ใช่ห้างสรรพสินค้า  ที่พ่อ-แม่และลูก  สามารถใช้เวลาในวันหยุด เสาร์-อาทิตย์  ร่วมกันได้  ส่วนคนทั่วไป  คนที่ทำงานสร้างสรรค์หรือคนที่ไม่ได้ทำงานด้านสร้างสรรค์  ก็มาใช้ที่นี่ได้ 

 

 

แวบแรกที่มองโรงเรียนนี้?
-นอกจากเดินทางไม่ยาก สเน่ห์ของมันคือ  มันไม่เกร็ง เมื่อเดินเข้ามาแล้วสถานที่มันไม่ได้หรูหรา ทุกคนใส่รองเท้าแตะ กางเกงขาสั้นเดินเข้ามาได้   มันเลยสอดคล้องกับโปรเจคของเราที่ค่อนข้างเป็นมิตรกับผู้เข้าร่วมชมงาน  เราพยายามบรีฟทุกคนที่จัดแสดงงานว่า  ระวังอย่าทำให้คนที่เข้ามาร่วมงานรู้สึกว่า  เค้าจะรู้เรื่องมั๊ย , ติสท์ไปหรือเปล่า  เค้าจะฉลาดพอมั๊ยที่จะมาดูงานศิลปะ  ซึ่งตอนแรกเราพยายามไม่เรียกตัวเองว่าเป็นงานศิลปะหรืองานดีไซน์เลยค่ะ  ถ้าสังเกตจากการสื่อสาร  คนจะงงว่านี่คืองานอะไร  แต่นี่จะเป็นการทดลอง  ให้คนไม่รู้ว่ามันคืองานอะไร เพื่อให้คนเข้ามาและบอกต่อกัน  และในสัปดาห์ต่อไปเราคงรู้แล้วล่ะว่า   สิ่งที่เราเอามารวมกันนี้  มันจับใจคนทุกเพศทุกวัยจริงหรือเปล่า  

 

จากโรงเรียนร้าง   เนรมิตรกลายเป็นพื้นที่แห่งความคิดสร้างสรรค์ Freeform Festival 2017 

คอนเทนต์ที่เราจะนำเสนอ?
-เราจัดงานที่นี่แค่เดือนเดียว คือ  4 สัปดาห์   มีคอนเทนต์แต่ละสัปดาห์ที่เป็นไฮไลต์อยู่ประจำ  และจะมีหมุนเวียน   โดยรูปแบบของ Exhibition  ต้องย่อยง่าย   คนที่เข้ามาต้องสนุก  เราไม่อยากให้ Exhibition  แบบเดินเข้าไปแล้วมาอ่านข้อมูลแล้วกลับไป  เช่น  ห้องแรกเป็น Interactive game เป็นกลุ่มคนที่เขียนโปรแกรมเกม เขียนเกมสนุกๆให้เด็กและผู้ใหญ่ได้เล่นกั
ห้องที่ 2 เป็นห้องเสียง  เราตอนเด็กเคยเล่นเสียง ทุกคนฟังเพลงกันหมด  จนโตคือฟังเพลงที่ตัวเองชอบ ทุกอย่างที่เกิดขึ้นมาเป็นเสียงได้ทั้งนั้น  ห้องนี้เป็น  Sound Lab   เรามาสร้างเสียงกันด้วยอุปกรณ์บางอย่างที่ไม่คุ้นชิน  มันอาจจะไม่ใช่เครื่องดนตรีก็ได้  

ห้องสี  เป็นห้องศิลปะปลายเปิด คอนเซปต์คือให้ลืมเรื่องความสวยงามของภาพวาดและวัสดุในการใช้สี มันอาจจะไม่ใช่พู่กัน  แต่อาจจะเป็นไบไม้  ไม้กวาดหรือไม้ขัดส้วมก็ได้  เรามาเล่นสี ละเลงสีสนุกๆ 

อีกห้อง  จะเป็นนิทรรศการเรื่องข้าว  ถ้าเราเคยชมนิทรรศการ  คือเดินอ่านแล้วจบ แต่ครั้งนี้เราอยากให้คนเดินมากินข้าว  เรามีข้าว 15 สายพันธุ์  หุงให้ผู้ร่วมงานได้กิน  และมีกับข้าวที่ทำโดยเชฟมิชลิน   ในคอนเซปต์  “เชฟเทพ ทำอาหารบ้าน”  คุณจะเก่งแค่ไหนก็ตาม  แต่ต้องทำอาหารที่กินกับข้าวอร่อย  จับคู่กันไป   ถ้าเป็นต่างประเทศก็เหมือน  Chef Table  มีการ Match อาหารกับข้าว  เหมือนเราไปเทศกาลชิมไวน์

บนชั้น 2-3 ของอาคารเรียน   เราเปิดเป็นแกลอรี่ให้ศิลปินทุกแขนงมาแสดง   มีทั้งกลุ่มคนละคร 12 คณะ  ที่โชว์มากกว่า 30 รอบ    มีเธียร์เตอร์เล็กๆ  และมีทอร์ค  Celebrate  Mistake  จากเจ้าของแบรนด์เสื้อผ้า-รองเท้าชื่อดัง  มาฟังว่าเค้าผ่านอะไรมาบ้าง  มันเจอความส้นตีนในธุรกิจอย่างไร   

คนที่ทำเซรามิก ก็ไม่ได้เอาเซรามิกมาขาย  เค้าจะมาทำเวิร์คชอป ปิดตาปั้นดิน,  คนที่เก่งเรื่องการทำหุ่น จะมารวมตัวกันในงานนี้ มีทั้ง หุ่นเงา หุ่นนิ้ง หุ่นมือ  มาสอนทำหุ่นให้เด็กๆและพ่อ-แม่ ทำหุ่นเป็น  และร่วมกันจัดแสดงหุ่นในวันสุดท่ายของงานด้วย   และยังมีนักออกแบบตกแต่งภายใน  จะมาทำไยแมงมุมเป็นงานศิลปะ  ในแบบที่ไม่เคยทำมาก่อน   คือตัวคอนเซปต์ของแกลอรี่คือ  Freeform Friend BFF gallery  คือ ทุกคนที่เข้ามาร่วมงาน  มาแสดงงานของเรา   ต้องเข้าใจ Attitude ของงาน คือ ไม่เก็กไม่เก็ง,  ลองผิดลองถูก และ Positive และธีมหลักของงานคือ  Celebrate Mistake

 

จากห้องร้าง  (อดีต)

 

กลายเป็นห้องแห่งการเรียนรู้ (ปัจจุบัน)

Celebrate Mistake   เป็นคำที่ฝรั่งสอนให้เด็กก้าวไปข้างหน้า   เราคิดว่ามันเป็นคำที่ดีจังเลย มันสามารถใช้ได้กับทุกคนที่ผ่านความผิดพลาด  ความผิดหวัง  ความเสียใจ  แต่ในครั้งนี้เรามาทำอะไรที่เราไม่เคยทำมัน   ถ้ามันผิดพลาดก็ฉลองไปกับมัน   และลองผิดลองถูกเพื่อก้าวต่อไป  เพื่อให้รู้ว่า  ต่อไปเราจะทำ  หรือไม่ทำอะไร   เพราะทุกคนในโลกนี้  ล้วนผ่านความผิดพลาดมาทั้งนั้น  ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ ถ้าเด็กล้ม  ไม่ต้องไปโอ๋เค้า  คุณต้องฉลองไปกับเค้าและพาเค้าเดินต่อ เช่นเดียวกับพวกเราทุกคน

ทำไมเรามองว่าวิถีชีวิตคนเมืองในสุดสัปดาห์เปลี่ยนไปอย่างมีผลต่อสังคมอย่างไร?
-ถ้าพูดในเชิงวิชาการหน่อยๆ  เนื่องจากพวกเราทำงานครีเอทีฟ   แต่เราทำงานกับลูกค้านักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์หลายด้าน ทั้งหมู่บ้าน  คอนโดและห้างสรรพสินค้า   เราพบว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงเยอะมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา  ครอบครัว Gen Y  อยู่ในที่ที่เล็กลงเรื่อยๆ   ครอบครัวแคบและมีสนามชิกน้อยลง ภาพที่เราเคยเห็นว่าปู่ย่าตายายเดินกันเป็นพรวนน้อยลง   บ้านที่มีครัว บ้านที่มีพี่เลี้ยงจะน้อยลง  เราจะเห็นคุณแม่ไปไหนมาไหนกับลูกตลอดเวลา  พ่อแม่เลี้ยงลูกเอง   ซึ่งเป็นเรื่องน่าสนใจว่า   ถ้าที่อยู่ปกติหดเล็กลงเรื่อยๆ แล้ว   เค้าจะใช้พื้นที่ส่วนกลางที่เป็น Public Area ที่ไหนได้บ้าง  นอกจากห้างสรรพสินค้า   ถ้าเค้าไม่มีสวนใหญ่ๆให้วิ่งเล่น   ไม่มีที่ให้เละเทะ   เพราะเมื่อไปห้างก็ต้องแต่งตัวเรียบร้อย  ห้ามทำน้ำหกเลอะเทอะ ซึ่งห้างเองก็ดีในแบบของมัน  เราไม่ได้บอกว่าห้างสรรพสินค้าไม่ดี   

แต่เรามองว่า  เราเป็นทางเลือกอีกทางหนึ่ง   ที่วันนึงเราอยากจะสูดอากาศบริสุทธิ์  นั่งในพื้นที่เอาท์ดอร์   ในเมืองยังมีอยู่   ถ้าใครเคยอยู่ต่างจังหวัดจะรู้ว่า  คนกรุงเทพไม่มีที่ให้เด็กเล่นเหมือนต่างจังหวัดเลย

เราตั้งเป้าหมายไว้อย่างไร   เราจะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้สังคมอย่างไรบ้าง?
-ขอบคุณมากที่ถามค่ะ  เพราะว่าตอนแรกเราไม่อยากจะตั้งความหวังอะไรไว้เลย  ถึงตั้งชื่อโปรเจคนี้ว่า  Freeform  และโลโก้เป็นรูปนกธรรมดาที่ทุกคนบนโลกนี้เคยวาดมันมาก่อน   ตอนแรกราชวนเพื่อนๆ อาร์ททิสต์ทำแบบเล็กๆ  ทำชั้นล่างทำเวิร์คชอปขำๆ กัน  แต่พอเล่าให้พาร์ทเนอร์และลูกค้าฟัง   เอ๊ะ  ทำไมคนถึงสนใจ  เราเลยมีความหวังขึ้นมาเล็กๆ ว่า  พื้นที่สำหรับเด็กหรือครอบครัวมันขาดจริงๆ  เราคาดหวังว่านักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ  ที่มีสตางค์เยอะๆ  จะหันมามองการสร้างพื้นที่แบบนี้บ้าง  ให้เด็กและผู้ใหญ่รับสารแบบเดียวกัน   และเป็นเพื่อนกันได้ตั้งแต่หลังคลอดได้  

ถ้าผลตอบรับดี จะจัดเพิ่มอีกมั๊ย?
-จริงๆเราคุยกันว่าเราอยากจัดทุกปี  อย่างที่บอกว่าเราไม่ได้คิดเยอะ  แต่พอคุยไปคุยมาเราก็อยากจัดทุกปี  หรือถ้าทำได้มากกว่าปีละครั้ง  ก็คงจะดี  แต่ด้วยความที่พวกเราไม่ใช่เจ้าของสถานที่   ก็อาจจะต้องดูก่อน   ถ้าจะจัดอีกจะไปจัดที่ไหน รูปแบบไหน  ถ้ามีใครสนใจอยากให้เราจัดก็ติดต่อได้ค่ะ

 

จากโรงเรียนร้างที่ว่างเปล่า (อดีต)

 

 สู่ความคึกคักด้วยงานศิลปะของทุกวัย (ปัจจุบัน)

 

ก็อยากให้ลองแวะเข้ามาค่ะ   บัตรของเราแค่ 100 บาท   เข้าได้ 3 วัน ศุกร์/เสาร์/อาทิตย์   ตั้งแต่ 11.00 น  แต่สิ่งที่อยู่ในงานเยอะมาก   มีคาเฟ่ของแบรนด์ลาบาดอร์   ซึ่งเค้าเป็นดีไซเนอร์เครื่องหนัง   แต่เค้าชอบเด็ก  เลยต้องการจะขายขนมให้เด็ก  หรือถ้าใครต้องการจะปีนป่าย  ในนั่งร้าน ของอนันดา ดิเวลลอปเมนต์ ก็มีให้ปล่อยพลัง   หรือตอนกลางคืนใครอยากจะเทิร์นจากคอนเทนต์เด็ก  มาปาร์ตี้ เรามีเครื่องดื่มมากมาย จากพาร์ทเนอร์ แสงโสม  มาสร้างบาร์หลบไว้  อยากให้มาลอง  ช่วยกันบอกว่าอะไรดี หรือไม่ดี  ให้เป็นแรงกระเพื่อมว่าเรามาถูกทางหรือเปล่า

"การจัดงานครั้งนี้เราไม่ได้หวังผลกำไร  เราทำงานเท่าที่เงินเรามี   เพื่อที่สุดท้าย 

เราจะได้คอนเทนต์ที่ดีที่สุดและพัฒนาต่อไปค่ะ"
 

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
185Article
76559Video
0Blog