ไม่พบผลการค้นหา
อดีต ส.ว. ชี้ระบบขนส่งมวลชนของไทยตอบสนองเฉพาะผู้ที่มีอำนาจในการจ่ายเงินเท่านั้น ด้าน 'นักวิชาการ' ชี้พื้นที่ถนนในกรุงเทพฯที่มีน้อย มีผลต่อระบบขนส่งสาธารณะ และสร้างอุปสรรคด้านราคาให้กับประชาชน

ในงานเสวนา “ระบบขนส่งสาธารณะที่ทั่วถึง ปลอดภัยและทุกคนเข้าถึงได้” น.ส.เพ็ญศรี เหลืองอร่ามศรี จากสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กล่าวว่า ระบบขนส่งต้องมีประสิทธิภาพเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและมีความเท่าเทียม โดยเฉพาะผู้ด้อยโอกาสจะต้องเข้าถึงระบบขนส่งได้ ขณะที่นโยบายเรื่องค่าโดยสาร เป็นหนึ่งในวิธีส่งเสริมให้คนเข้าใช้ระบบสาธารณะ โดยราคาเป็นส่วนหนึ่งที่สามารถใช้จูงใจได้ เป็นราคาที่ทุกคนยอมรับได้

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า การที่จะให้ทุกคนกลับมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะ โดยเริ่มจากข้าราชการนั้นยังเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยาก โดยเฉพาะการติดปัญหาจะให้ขึ้นฟรียังไม่สามารถกำหนดเส้นทางได้ ยอมรับว่าเรื่องของการจำกัดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลเพื่อนำมาแก้ไขปัญหาการจราจรนั้นเป็นสิ่งที่ยังไม่สามารถดำเนินการได้ในขณะนี้

ด้านนายสุเมธ องกิตติกุล ผอ.การวิจัยด้านนโยบายการขนส่ง และโลจิสติกส์ ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ระบบขนส่งสาธารณะบางประเภทของไทย ยังมีอัตราค่าโดยสารที่สูงเกินไปสำหรับประชาชนที่มีรายได้ปานกลางและน้อย โดยเฉพาะรถไฟฟ้าที่จากผลการศึกษาพบว่า คนที่มีรายได้ปานกลางและน้อยไม่สามารถใช้บริการรถไฟฟ้าได้แบบประจำทุกวัน

โดยคนที่มีรายได้เฉลี่ยต่ำกว่า 10,000-12,000 บาทต่อเดือน หรือมากกว่าร้อยละ 40 ของประชากรในกรุงเทพฯ ไม่สามารถจ่ายค่ารถไฟฟ้าเป็นประจำได้ ความสามารถในการจ่ายจึงเป็นความท้าทายของรัฐบาลในอนาคต

รศ.ดร.พนิต ภู่จินดา หัวหน้าภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เมืองที่ดีต้องมีพื้นที่ถนนไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 จึงจะทำให้การเดินทางในเมืองเป็นการเดินทางที่ดี โดยเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ ของไทยมีพื้นที่ถนนเพียงร้อยละ 3.76 ระบบขนส่งมวลชนจึงเข้าไม่ถึงประชาชน 

ซึ่งการเพิ่มพื้นที่ถนนสามารถใช้ที่ดินของรัฐด้วยการตัดขอบของที่ดินมาทำถนน การเพิ่มพื้นที่สีเขียว ควรเปิดให้ใช้พื้นที่ของทหารที่มีอยู่จำนวนมาก ซึ่งการจะทำให้กรุงเทพฯมีพื้นที่ถนนเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 15 ได้นั้น บ้านเรือนประชาชนอาจต้องหายไปประมาณร้อยละ 30

ขณะที่วิธีการหนึ่งที่จะทำให้ค่าโดยสารถูกลง คือการนำเอาที่ดินของรัฐไปพัฒนาเชิงพาณิชย์แล้วนำรายได้ที่ได้จากการดำเนินการนั้นมาใช้ แต่แนวคิดนี้ไม่สามารถทำได้ ทั้งที่มีการนำเสนอมาตลอด 20 ปี เนื่องจากระบบราชการของไทยยังมีแนวคิดว่า ที่ดินของรัฐไม่สามารถนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ได้ 

น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว. กทม. กล่าวว่า การที่ประเทศไทยมีประชาธิปไตยน้อย ถนนจึงถูกยึดครองโดยรถยนต์ส่วนตัว ต่างจากถนนในประเทศอินเดียที่คนทุกคนสามารถใช้ถนนได้ จึงทำให้คนไทยคิดถึงระบบขนส่งสาธารณะ แต่กลับกลายเป็นว่าการมีรถไฟฟ้าหลายสายของไทยไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้กับคนที่หาเช้ากินค่ำได้ และยังสร้างความไม่เป็นธรรมให้เกิดขึ้นด้วย ดังจะเห็นได้จากหากมีรถไฟฟ้าตัดผ่านไปที่ใด บริเวณนั้นจะเจริญ และคนจนก็ถูกไล่ที่ ระบบขนส่งแบบรางที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน จึงเป็นการตอบสนองให้กับคนที่มีอำนาจในการจ่ายเท่านั้น

อดีต ส.ว. กทม. ย้ำว่า รถไฟฟ้าหลายสายที่กำลังก่อสร้างอยู่ในขณะนี้ ควรต้องคิดถึงเรื่องห้องน้ำ ที่อาจจะต้องมีขึ้นในทุกสถานีทุกเส้นทาง บันไดเลื่อนที่จะต้องคำนึงถึงความสะดวกของคนใช้งานมากขึ้น รวมถึงลิฟท์จะต้องใช้งานได้อย่างแท้จริง