ไม่พบผลการค้นหา
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดผลวิจัยก่อนการเลือกตั้ง พบว่าคนไทยถึงร้อยละ 90 ตอบความรู้พื้นฐานทางการเมืองไม่ได้ในความรู้เบื้องต้น สิ่งนี้สะท้อนอะไรในสังคมไทย และจะเป็นอุปสรรคต่อการทำกิจกรรมทางการเมืองหรือไม่ ในวันที่ประเทศยังหาทางออกไม่ได้

ผศ.ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เล่าถึงงานวิจัยล่าสุด ที่เป็นการสำรวจพฤติกรรมการเลือกตั้งของคนรุ่นใหม่ ที่มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรก ในวันที่ 24 มี.ค. 2562 เป็นกลุ่มคนที่มีอายุประมาณ 18-23 ปี โดยสำรวจทั่วประเทศ ประมาณ 1,250 คน เป็นการสำรวจ 1 เดือน ก่อนการเลือกตั้ง

คำถามมีหลายส่วน มีทั้งส่วนของพฤติกรรมการเลือกตั้งว่า คืออยากจะไปเลือกใคร ทำไมอยากเลือกพรรคนี้ อยากได้นายกรัฐมนตรีแบบไหน รวมถึงเราก็วัดทัศนคติทางการเมือง ความคิดทางการเมือง แต่ที่สำคัญคือ "ความรู้พื้นฐานทางการเมือง"

    ผศ.ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว

คนไทยร้อยละ90 ตอบไม่ได้ ส.ส.มีกี่คน

ผศ.ดร.อรรถสิทธิ์ อธิบายว่า ความรู้พื้นฐานในที่นี้ ไม่ใช่ความรู้พื้นฐานที่เกี่ยวกับทัศนคติ ค่านิยม หรือความเชื่อ แต่เป็นความรู้ที่เกี่ยวกับ กฎระเบียบ มีตัวแสดงอะไรบ้าง เหมือนเราดูกีฬา เราต้องรู้จักกติกา ว่ากติกาเขาแบ่งออกเป็นอย่างไร ยกตัวอย่างเช่น ฟุตบอล มีผู้เล่นข้างละ 11 คน มีผู้รักษาประตู 1 คน มีกรรมการ 3 คน มีตัวสำรองได้กี่คน เป็นต้น

โดยงานวิจัย จะถามความรู้พื้นฐานทางการเมืองกับประชาชนกลุ่มตัวอย่าง สามข้อที่สำคัญ คือ

หนึ่ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) มีกี่คน?

สอง ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คือใคร?

สาม ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญกี่คน?

ผศ.ดร.อรรสิทธิ์ กล่าวว่า คำถามเหล่านี้ คือคำถาม กฎ กติกาของการเมือง จากคำถามทั้งสามข้อ พบว่า กลุ่มตัวอย่าง เกือบร้อยละ 90 ตอบคำถามสามข้อนี้ ไม่ได้ และจากการทำแบบสอบถามเช่นนี้ก่อนการเลือกตั้งเมื่อปี 2550 และปี 2554 ได้คำตอบเหมือนกัน คือ คนไทยร้อยละ 77 ตอบไม่ได้ ทั้ง 3 ข้อ


เข้าใจเกมการเมืองได้มากกว่า ด้วยการมีข้อมูลพื้นฐานทางการเมือง

คำถามหนึ่งที่ ผศ.ดร.อรรถสิทธิ์ ถามกับกลุ่มตัวอย่าง คือทราบหรือไม่ว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีกี่คน ทุกคนอาจจะสงสัยว่าทำไมต้องรู้เรื่องตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

โดยนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ อธิบายว่า เพราะทุกครั้งที่มีปัญหาเกี่ยวกับการเมืองไทย หรือที่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ เรื่องจะส่งไปที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

"คำถามคือว่าเราได้ยินคำว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แต่เรารู้จักเขาหรือเปล่า คุณได้ยินแต่คุณอาจจะไม่รู้จัก เราอาจได้ยินว่าเสียงข้างมากตัดสินไปทางไหน แต่ว่าเสียงข้างมากต้องม��กี่เสียงละ เราไม่รู้ว่าเขามีกี่คน และถ้าเกิดจะเอาลึกไปกว่านั้น มันก็คือ แล้ว ชื่ออะไรบ้าง คำถามมันเป็นอย่างนี้ครับว่า บางทีเรา เราเห็นศาลรัฐธรรมนูญ ถ้าเรารู้ว่าเขาเป็นใครมาจากไหน อดีตเป็นอย่างไร เราจะไม่รู้สึกแปลกใจ เวลาเห็นผลการตัดสินในเรื่องนั้นๆ เราก็สามารถวิจารณ์ได้ว่า อ๋อ...เป็นเพราะว่า คือคนเรามันมีอดีต อดีตเป็นตัวส่งผลต่อปัจจุบัน"

ยกตัวอย่างประเทศสหรัฐอเมริกา ที่มีศาลฎีกาสูงสุด (Supreme Court) เขาก็มีตุลาการ ผู้พิพากษาศาลฎีกาสูงสุด ก็จะถูกแต่งตั้งในยุคสมัยของประธานาธิบดี ที่เป็นคนของพรรคการเมือง บางคนมาจากพรรคเดโมแครต หรือบางคนมาจากพรรครีพับลิกัน ดังนั้น หลายๆ เรื่องที่ส่งไปศาลฎีกาสูงสุด ที่เนื้อหาเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับจุดยืนทางด้านพรรคเดโมแครต คนก็จะรู้ว่า ผู้พิพากษาถูกแต่งตั้งสมัยพรรครีพับลิกัน มีความคิดทางด้านอนุรักษนิยมคงไม่มาตัดสินเรื่องพวกนี้ในทางเสรีนิยมหรอก เขาก็เลยไม่รู้สึกว่าศาลมีความลำเอียงหรืออะไร

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

"พอเราไม่รู้จักผู้เล่น ไม่รู้จักเขา เวลาเขาติดสินตรงใจเรา เราก็ชมเขา เออ...อันนี้ตัดสินดี และพอเขาตัดสินไม่ตรงใจเรา เราก็บอกว่า เอ๊ะ...เขาเอียงหรือเปล่า เขาถูกซื้อหรือเปล่า คือหมายความว่า เวลาเรารู้ กฎ กติกา ของเกมการเมือง มันทำให้เราไม่แปลกใจ แล้วเรารู้สึกว่า โอเค มันเป็นแบบนี้ หรือถ้าบางคนเขาตัดสิน หรือเกมมันเพี้ยน มันผิด เราก็เข้าใจว่าอันนี้มันเพี้ยนมันผิด"

ผศ.ดร.อรรถสิทธิ์ กล่าวต่อว่า ถ้าเราไม่มีความรู้พื้นฐาน เรามั่นใจได้อย่างไรว่าเขามีข้อมูลที่ถูก ไม่ลำเอียง ไม่อคติ ดังนั้น ถ้าตัวเราเอง มีความรู้พื้นฐานที่ดี จะทำให้รู้ว่าสิ่งที่ทุกคนพูด มันใช่หรือไม่ใช่

บางที ถ้าเรารู้กติกา กฎ กติกา มารยาทในเกม ทำให้เราดูเกมสนุกมากขึ้น แล้วทำให้เราไม่อคติ

"ถ้าเราอยากให้ ส.ส. ทำงาน แต่เราไม่รู้ว่าประชุมสภาฯ ประชุมวันไหน ผมเข้าใจว่าในบางที่เราอยากให้ ส.ส. มาร่วมงานเรา มันไม่ใช่ทุกคนหรอกที่บอกว่าอยากให้ ส.ส. ทำงาน บางทีเราอยากให้ ส.ส. มาร่วมงานเรา เป็นเกียรติ เราปฏิเสธไม่ได้ แต่ถ้าเกิดรู้ว่า ส.ส. เขาทำงาน ต้องประชุมสภาวันพุธ พฤหัสบดี คุณก็อย่าจัดงาน หรือจะเชิญเขาไปวันพุธ พฤหัสบดี เพราะมันเป็นวันที่เขาทำงาน ไม่ใช่ให้เขาต้องโดดงานมางานเรา"

'อรรถสิทธิ์' ระบุด้วยว่า ทุกคนมีความรู้ทางการเมือง มีความรู้พื้นฐานทางการเมืองน้อยเท่าๆ กัน และไม่ใช่แค่ประเทศไทย ในทุกๆ ประเทศทั่วโลก ไม่ว่าจะมีการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือประชาธิปไตยแค่ไหน คนรู้เรื่องพวกนี้น้อยมาก ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับตัวเรา ถ้าเรารู้ เราก็สามารถไปบอกเขาว่า สิ่งที่คุณทำมันผิด เป็นเพราะว่าพอเราไม่สนใจเรื่องพวกนี้ ส.ส. ก็เลยคิดว่า พอไม่สนใจ ก็เอาอะไรมาจับเราไม่ได้

ไม่มีความรู้พื้นฐานทางการเมือง คือ ประชาชนไม่ตื่นตัวทางการเมือง ?

"เราต้องแยก ระหว่างการตื่นตัวทางการเมือง กับการมีความรู้พื้นฐานทางการเมือง การตื่นตัวคือ เราอยากมีส่วนร่วม ทุกคนตื่นตัวครับ คือเราคิดว่า ทุกคนสนใจทางการเมือง ตื่นตัวแน่นอน เป็นปกติ แต่ไม่ได้มีความสัมพันธ์ว่า แล้วมีความรู้ถึงตื่นตัว แต่คิดว่ามันเป็นของคู่กัน พอตื่นตัวแล้วมีข้อมูลที่ดี สามารถทำให้มีส่วนร่วมได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีคุณภาพ ทำให้เราสามารถถามคำถามได้มากกว่าว่า ชอบจังเลย นโยบายดีจังเลย แต่เราจะถามต่อไปได้ว่า แล้วทำอย่างไร แล้วสภาต้องทำงานอย่างไร มันทำให้เราสามารถตั้งคำถามได้อย่าง คำถามที่มันยาก ให้นักการเมืองตอบได้"

ไม่เอา คสช. อยู่แล้ว เราจะต้องรู้เรื่องพื้นฐานไปทำไม?

"ถ้าเรายอมรับว่า เราก็ไม่เอา คสช. อยู่แล้ว เขาจะแต่งตั้งอะไรเราไม่สนใจ ซึ่งอันนี้ไม่ถูก ถ้าเราไม่สนใจการเมือง เพราะว่า เราไม่ชอบคนที่มาอยู่ เท่ากับว่าเราปิดตา แล้วปล่อยให้เขาทำอะไรก็ได้ คือไม่ว่าใครจะมา เราจะชอบไม่ชอบ อันนี้เป็นข้อมูลพื้นฐานที่เราควรจะรู้"

ประชาชน


ประชาชน 90% เขาไม่รู้ เพราะว่าสื่อยังทำงานไม่ดี หรือภาคประชาสังคมอ่อนแอ

"สื่อมวลชนไม่ได้พูดเรื่องนี้น้อยไปหรอก เพียงแต่ว่าคนไม่ได้สนใจ ในเรื่องพื้นฐาน เพราะมันไม่สนุก ใช่ไหม ง่ายๆ ดารา เราไม่เคยรู้ว่า คนนี้แสดงเก่ง แต่เรารู้ว่าคนนี้ทะเลาะกับใคร คนนี้เป็นแฟนกับใคร เลิกกับใคร เหมือนกันครับ ส.ส. เราก็แค่สนใจว่า ใครทะเลาะกับใคร เราเกลียดคนนี้ มันพูดอะไรวันนี้ แต่เราไม่เคยถามว่า แล้วในสภา เขาทำงานอย่างไร เขาเคยเสนอกฎหมายไหม เขาเคยตั้งกระทู้ไหม เขาเข้าสภาไหม"

ปัญหาของการที่คนไทยไม่มีความรู้พื้นฐานทางการเมือง 'อรรถสิทธิ์' สะท้อนว่า อาจมาจากการศึกษา ที่ไม่มีการปลูกฝังเรื่องการเมือง และประชาธิปไตย จากงานวิจัยดังกล่าว ถามด้วยว่าประเทศอาเซียนมีกี่ชาติ โดยร้อยละ 88 ตอบได้ สิ่งที่สะท้อนคือว่า ทำไมเรารู้ว่าอาเซียนมี 10 ชาติ เพราะว่ามันติดธงหน้าโรงเรียน มันติดบอร์ดในโรงเรียน

ถ้าโรงเรียนจะบอกอะไร สอนอะไร มันได้ผล แต่โรงเรียนได้สอนในเรื่องของประชาธิปไตย สอนเรื่องความรู้ทางการเมืองแล้วหรือยัง ถ้าเราติดธงชาติ 10 ธงชาติได้ ทำไมเราติดว่า ส.ส. มี 500 คน ที่บอร์ดโรงเรียนไม่ได้

"แสดงว่าการศึกษาของเราในเรื่องประชาธิปไตยมันยังขาด การจะให้ทุกคนเรียกว่าเป็นพลเมือง มันต้องฝึกตั้งแต่เด็ก การที่ฝ่ายประชาสังคม คนทำข้อมูล นักวิชาการ มาทำตอนโตแล้ว มันอาจจะช้าไปสักหน่อยมันสะท้อนถึงความขาดความสนใจในตรงนี้ไป ของทุกภาคมากกว่า ถ้าฝ่ายภาคประชาสังคมบอกว่า เนี่ยเราก็ทำข้อมูลไปเยอะๆ ทำข้อมูลไป เดี๋ยวคนก็รับ คนสนใจดราม่าทางการเมืองมากกว่า ความรู้พื้นฐานทางการเมือง คนรู้ว่าคนสองคนนี้ทะเลาะกัน เรื่องอะไร แต่คนไม่รู้ว่า พอทำในสภาแล้ว สองคนนี้ทำงานอย่างไร อันนี้คนไม่สนใจ"

ตี๋ใหญ่ เพื่อไทย อนุทิน ภูมิใจไทย รัฐสภา สภา


คนไทยไปต่อไหวไหม? พัฒนาประชาธิปไตย - แก้รัฐธรรมนูญ

การที่ประชาชนขาดข้อมูลตรงนี้ เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประชาธิปไตหรือไม่ ผศ.ดร.อรรถสิทธิ์ กล่าวว่า ไม่ถึงกับขัดขวาง แต่จะทำให้ "คุณภาพของประชาธิปไตย" ที่อยากจะให้เป็นจะช้าไปหน่อย ถ้าทุกคนตัดสินใจด้วยอารมณ์ มากกว่าเหตุผล ผลลัพธ์ที่ได้จะไม่ดีเท่าไหร่

ยกตัวอย่าง ต่อไปถ้าเรารู้ว่าศาลรัฐธรรมนูญมีที่มาที่ไปอย่างนี้ เรารู้ไหมว่าศาลรัฐธรรมนูญมาจากไหน เราก็ต้องรู้ว่าศาลรัฐธรรมนูญมันมาจาก ส.ว. คัดสรร และสรรหามา เราสามารถไปบอกคนที่สรรหาได้ว่า ศาลรัฐธรรมนูญควรจะมีคนที่คิดอย่างอื่นบ้าง ไม่ใช่เอาคนความคิดเหมือนกันมาอยู่ด้วยกัน ถ้าอย่างนี้เวลาตัดสินอะไร คนก็ตัดสินไปในทางเดียวกันสิ ความรู้พวกนี้ ทำให้เข้าใจว่ากระบวนการ วิธีการ การทำงานการเมืองเป็นอย่างไร ทำให้เราไปบอกเขาให้ตรงจุดได้ เราจะไม่รอให้เขาแต่งตั้งเสร็จ แล้วเรามาพูดว่า ทำไมแต่งตั้งอย่างนี้มา แต่เราจะไปบอกตั้งแต่ต้นว่า เรามีคนอย่างนี้เยอะแล้ว เอาคนแบบใหม่บ้าง เอาคนมีความคิดอื่นๆ บ้าง มันต้องมีความหลากหลายอยู่ในนั้น

คนอยากเลือกตั้ง

คนไม่มีพื้นฐานทางการเมือง สัมพันธ์กับการรณรงค์แก้รัฐธรรมนูญไหม?

"อย่างหนึ่งคือเราพูดถึงเรื่องรัฐธรรมนูญ คนรู้ไหมว่ารัฐธรรมนูญมีกี่มาตรา หนาเท่าไหร่ แก้ส่วนไหน เวลารณรงค์ จะมีคนรณรงค์ที่อยากแก้เพราะอยากแก้ อยากแก้เพราะมีคนๆ นี้บอกว่า แก้กันเถอะ แต่เหตุผลละ เราอยากให้แก้เพราะว่าเหตุผลมันไม่ดีอย่างไร เวลาคนที่เขามีอำนาจ เขามักจะพูดว่า คนไม่รู้เรื่องหรอก คนมันแห่ตามคนนี้ คนมันแห่ตามกระแส แต่ถ้าเกิดเรามีพื้นฐานข้อมูลอ่ะครับ ไอ้คำว่าแห่ตามกระแสไม่ใช่ไง ถ้าเรามีความรู้พื้นฐาน มันคือการแสดงว่าเรามีข้อมูล และเราไม่ได้เห่อตามกระแส"

พอเราไม่เข้าใจกติกา แล้วเราก็ไปมีส่วนร่วม มันทำให้เราเสียโอกาสในการที่จะทำให้เกมมันดีขึ้น มีคุณภาพขึ้น