บลิงเคนเข้าพูดคุยเพื่อปูทางไปสู่ทางออกจากความสัมพันธ์อันตึงเครียด ในการหารือประมาณ 30 นาทีกับ สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (19 มิ.ย.) ในการเดินทางที่ถูกจับตามองจากทั่วโลกอย่างใกล้ชิด ซึ่งรวมถึงการพูดคุยกับ หวังอี้ นักการทูตระดับสูงของจีน และ ฉินกัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน
มีความหวังว่าการพูดคุยตลอด 2 วันที่ผ่านมา อาจนำไปสู่การพบปะระหว่าง โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ และสีในปีนี้ ทั้งนี้ ประธานาธิบดีทั้งสองได้พบกันครั้งสุดท้ายที่การประชุมนอกรอบ ของการประชุมสุดยอด G20 บนเกาะบาหลีของอินโดนีเซียเมื่อเดือน พ.ย. โดยผู้นำทั้งสองรับปากว่าจะสื่อสารกันบ่อยขึ้น แม้ว่าความสัมพันธ์จะแย่ลง เนื่องจากประเด็นต่างๆ ตั้งแต่เกาะไต้หวันปกครองตนเอง ไปจนถึงข้อกังวลด้านจารกรรม
“ฝ่ายจีนแสดงจุดยืนของเราอย่างชัดเจน และทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะปฏิบัติตามความเข้าใจร่วมกันที่ประธานาธิบดีไบเดนและผมบรรลุในบาหลี” สีกล่าวกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ในกรุงปักกิ่ง พร้อมระบุเสริมว่า “ทั้งสองฝ่ายยังมีความคืบหน้าและบรรลุข้อตกลง ในประเด็นเฉพาะบางประเด็น”
ตามรายงานของสำนักข่าวซินหัวของรัฐบาลจีน ในระหว่างการหารือแบบปิด สีกล่าวว่าจีน “หวังว่าจะเห็นความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างจีนกับสหรัฐฯ” และเชื่อว่าทั้งสองประเทศ “สามารถเอาชนะความยากลำบากต่างๆ ได้” นอกจากนี้ ประธานาธิบดีจีนยังเรียกร้องให้สหรัฐฯ อย่า “ทำร้ายสิทธิและผลประโยชน์อันชอบธรรมของจีน”
ในอีกทางหนึ่ง บลิงเคนกล่าวว่าทั้งสองประเทศ “มีหน้าที่และความรับผิดชอบ” ในการจัดการความสัมพันธ์ของทั้งคู่ และสหรัฐฯ “มุ่งมั่นที่จะทำเช่นนั้น” บลิงเคนยังกล่าวกับผู้สื่อข่าวในภายหลังว่า ในการประชุมทุกครั้ง เขาเองเรียกร้องให้ทั้งสองชาติมี “การมีส่วนร่วมโดยตรงและการสื่อสารที่ยั่งยืนในระดับอาวุโส” เพื่อ “จัดการความแตกต่างด้วยความรับผิดชอบ และรับประกันว่าการแข่งขันจะไม่เปลี่ยนไปสู่ความขัดแย้ง”
“ผมได้ยินมาเหมือนกันจากทางฝ่ายจีน เราทั้งคู่เห็นด้วยกับความจำเป็น ในการรักษาความสัมพันธ์ของเราให้มั่นคง” บลิงเคนกล่าวพร้อมระบุว่า เขาเห็นด้วยกับผู้นำของจีนเกี่ยวกับความจำเป็นในการ "รักษาเสถียรภาพ" ของความสัมพันธ์ แต่เขา "ชัดเจนเกี่ยวกับความท้าทาย" ที่เกิดจากจีน “เราไม่มีภาพลวงตาเกี่ยวกับความท้าทายในการจัดการความสัมพันธ์นี้ มีหลายประเด็นที่เราไม่เห็นด้วยอย่างสุดซึ้ง แม้จะเป็นความไม่เห็นด้วยที่เดือดดาล”
ในขณะเดียวกัน ไบเดนกล่าวว่าเขาคิดว่าความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศอยู่ใน "เส้นทางที่ถูกต้อง" และระบุว่ามีความคืบหน้าระหว่างการเดินทางของบลิงเคน ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวข่าวถามระหว่างการเดินทางไปแคลิฟอร์เนียว่าเขารู้สึกว่ามีความคืบหน้าในความสัมพันธ์ของสหรัฐฯ กับจีนหรือไม่ ก่อนที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะตอบว่า “ผมไม่ได้ไม่รู้สึก… คุณรู้ว่ามันเกิดขึ้นแล้ว” ไบเดนยังกล่าวยกย่องบลิงเคน และระบุว่า "เขาทำงานได้อย่างยอดเยี่ยม"
ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ ย่ำแย่ลงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จากปัญหาการค้า ประเด็นไต้หวัน การอ้างสิทธิ์อย่างกว้างขวางของจีนในทะเลจีนใต้ และการที่สหรัฐฯ ผลักดันอย่างต่อเนื่อง เพื่อต่อต้านอิทธิพลของจีนที่เพิ่มขึ้นในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังเคยเตือนจีนไม่ให้ช่วยเหลือรัสเซียจากทำสงครามในยูเครนด้วย
กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุว่า บลิงเคนจัด “การหารืออย่างตรงไปตรงมา มีสาระ และสร้างสรรค์” กับเจ้าหน้าที่จีน พร้อมกันนี้ แมทธิว มิลเลอร์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวว่า บลิงเคนให้คำมั่นว่าจะทำให้การแข่งขันของสหรัฐฯ กับจีน “มีความรับผิดชอบ” มิลเลอร์ยังระบุเสริมว่า บลิงเคนยังแสดงความกังวลเกี่ยวกับ “การละเมิดสิทธิมนุษยชนในซินเจียง ทิเบต และฮ่องกง” และประเด็นพลเมืองสหรัฐฯ “ถูกควบคุมตัวโดยมิชอบ” ในจีน ถึงกระนั้น ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันว่า ทั้งสองชาติควรทำงานร่วมกันเพื่อต่อต้าน “ความท้าทายข้ามชาติ” รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสาธารณสุข
การเดินทางเยือนจีนของบลิงเคน เป็นการเดินทางครั้งแรกของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ไปยังจีน นับตั้งแต่ ไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ คนก่อน เดินทางเยือนจีนในปี 2561 โดยก่อนหน้านี้ บลิงเคนมีกำหนดให้เดินทางไปจีนเมื่อเดือน ก.พ. แต่เขาได้เลื่อนการเยือนออกไป หลังจากสหรัฐฯ กล่าวหาว่าจีนใช้บอลลูนสอดแนมเหนือดินแดนของสหรัฐฯ ทั้งนี้ จีนยืนกรานว่าบอลลูนดังกล่าว ซึ่งถูกยิงตกโดยกองกำลังสหรัฐฯ เป็นบอลลูนวิจัยที่ลอยออกนอกเส้นทาง
เมื่อถูกถามเกี่ยวกับเหตุการณ์บอลลูน บลิงเคนระบุกับสำนักข่าว MSNBC ของสหรัฐฯ ก่อนออกจากกรุงปักกิ่งว่า "บทหน้านั้นควรปิดลงได้แล้ว" ในขณะเดียวกัน ทางการจีนมีจุดยืนที่ชัดเจนเช่นกันว่า พวกเขายังคงมีความขัดแย้งที่สำคัญอยู่หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว
หวังอี้ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการต่างประเทศจีน พบกับบลิงเคนเมื่อช่วงเช้าวันจันทร์ โดยหวังกล่าวโทษสหรัฐฯ ว่าเป็นต้นเหตุของความสัมพันธ์ทั้งสองชาติที่ย่ำแย่ลง ขณะที่เขาย้ำว่าประเด็นไต้หวันเป็น “ผลประโยชน์หลัก” ของจีน และจะไม่มี “พื้นที่ใด” สำหรับการประนีประนอมในประเด็นดังกล่าว
กระทรวงการต่างประเทศจีนระบุในภายหลัง โดยแถลงการณ์ระบุว่าการเยือนของบลิงเคน “ตรงกับช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญในความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ และจำเป็นต้องเลือกระหว่างการเจรจาหรือการเผชิญหน้า ความร่วมมือหรือความขัดแย้ง” พร้อมกับการกล่าวโทษ “การรับรู้ที่ผิดพลาดของฝ่ายสหรัฐฯ ต่อจีน ซึ่งนำไปสู่นโยบายที่ไม่ถูกต้องต่อจีน” สำหรับความสัมพันธ์ที่ “ตกต่ำ” ในปัจจุบัน
ในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (18 มิ.ย.) มีการประชุมของฉินกับบลิงเคน ซึ่งกินเวลานานกว่า 7 ชั่วโมงครึ่ง โดนหลังจากนั้น ทางการจีนได้เผยแพร่หนังสือของผลการเจรจา ซึ่งแสดงให้เห็นผลลัพธ์เชิงบวกหลายประการ รวมถึงข้อตกลงในการเพิ่มเที่ยวบินเชิงพาณิชย์ระหว่างสองประเทศด้วย
ที่มา: