8 มิ.ย. ที่องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT อาคารศรีจุลทรัพย์ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล นำคณะทำงานต่อต้านคอร์รัปชัน พรรคก้าวไกล ประกอบด้วย ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล รังสิมันต์ โรม ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ พริษฐ์ วัชรสินธุ วรภพ วิริยะโรจน์ และ เบญจา แสงจันทร์ เดินทางเข้าพบหารือแลกเปลี่ยนนโยบายกับตัวแทนองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) นำโดย วิเชียร พงศธร ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ
ในช่วงต้นของการประชุม พิธา กล่าวว่า ในฐานะที่ทำงานในสภามานาน 4 ปี จะนำข้อมูลของการทำงานตรวจสอบนิติบัญญัติมานำเสนอต่อ ACT พร้อมทั้งนโยบายของพรรคก้าวไกลมาพูดคุย จุดเหมือน จุดต่าง หวังร่วมกันต่อสู้กับปัญหาคอร์รัปชันที่มีในประเทศไทยมาอย่างยาวนาน
โดยเฉพาะปัจจุบันที่มีปัญหาเรื่องของสวยทางหลวง ที่ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กำลังดำเนินการตรวจสอบ รวมถึงเรื่องหลักสูตร กอส. ของตำรวจ และหลังจากนี้จะเชิญ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย มาร่วมคณะในการแก้ไขปัญหา เชื่อว่าจะเป็นดรีมทีมในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน
หลังจากการประชุมหารือ พิธา ได้แถลงข่าวโดยระบุว่า สาระสำคัญในวันนี้คือการร่วมมือแก้คอร์รัปชันระหว่างรัฐและเอกชน มีการกำหนดแผนระยะสั้น ระยะยาว เพื่อให้ดัชนีการคอร์รัปชันของประเทศไทยอยู่ในลำดับดีขึ้น และวันนี้พา ส.ส.หลายคนที่มีบทบาทในการต่อสู้กับการทุจริตคอร์รัปชันมาคุยด้วย
ทั้งยังได้รับการบ้านจาก ACT ว่า ขอให้เปิด 25 ข้อมูลของภาครัฐที่ไม่สามารถเข้าถึงได้ในช่วงรัฐบาลที่ผ่านมา เพื่อให้การทำงานต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนดีขึ้น โดยจะไปดูเรื่องข้อจำกัดว่าสามารถใช้กฎหมาย ข้อมูลในส่วนใดได้บ้าง และจะรีบดำเนินการให้ พร้อมรับปากว่า สิ่งแรกที่จะได้เห็นในรัฐบาลก้าวไกลคือการเปิดเผยข้อมูลการประชุมสภา ตั้งแต่ในระดับกรรมาธิการ ซึ่งมองว่าเป็นเรื่องที่สามารถทำได้โดยไม่ต้องแก้กฎหมาย
โดยหลังจากนี้ รังสิมันต์ โรม ซึ่งทำงานด้านการตรวจสอบทุจริตของพรรคก้าวไกล ก็จะนำข้อมูลเข้าไปหารือในวงประชุมของคณะทำงาน 8 พรรคร่วมรัฐบาลด้วย
สำหรับการพิจารณางบประมาณ ปี 2567 นี้ โดยเฉพาะงบประมาณกระทรวงกลาโหมที่เป็นงบลับ พิธา กล่าวว่า หากเป็นรัฐบาลก้าวไกลจะเปิดเผยได้เท่าที่กฎหมายอนุญาต แต่ทั้งนี้กฎหมายไทยยังไม่สอดคล้องกับกฎหมายสากล ยังมีข้อยกเว้นในบางส่วน
พิธา ยังเน้นย้ำความสำคัญของการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ซึ่งจะต้องมีการทำTOR ที่เหมาะสม และใช้ระบบ AI เข้ามาเสริม จะทำให้เห็นว่าการจัดซื้อในจำนวนกว่า 5 ล้านโครงการของรัฐ โครงการใดมีธงแดง-ธงเหลือง ซึ่งจะทำให้จัดการปัญหาคอร์รัปชันได้
พิธา ยังกล่าวถึงข้อกล่าวหาทุจริตของรัฐบาลชุดปัจจุบัน เช่น เรื่องนาฬิกาหรู ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และเรื่องซุกหุ้นของ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ว่าในช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาล จะมีการตรวจสอบหรือสะสางอย่างไร
พิธา ตอบว่า จะใช้การสร้างระบบ ที่ไม่ใช่แค่ตรวจสอบรัฐบาลชุดเก่า แต่จะถูกนำมาใช้กับรัฐบาลของตน และรัฐบาลชุดต่อๆ ไปด้วย และต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายไม่ว่ารัฐบาลไหน
"คงไม่ใช่เรื่องส่วนตัวหรือการชำระแค้นกัน เพราะจะเป็นการไม่มีวุฒิภาวะพอสำหรับการเมืองไทยที่ต้องการออกจากความขัดแย้ง ดังนั้นระบบลดการใช้ดุลยพินิจ ลดการผูกขาด เพิ่มความโปร่งใส จะดีสำหรับทุกฝ่าย"
"ดังนั้นในทุกการประชุม ครม. ของผม หรือประชุมกรรมาธิการที่อาจมีเพื่อนๆ ของผมเข้าไปทำงาน ก็จะต้องถ่ายทอดสดทั้งหมดเช่นกัน จะเป็นการสร้างบรรทัดฐาน สร้างวัฒนธรรมใหม่ของการเมืองไทย ที่จะทำให้ปัญหาคอร์รัปชันที่กัดกินประเทศทุเลาลงได้"
ส่วนโอกาสที่จะทำให้องค์กรอิสระที่ถูกมองเป็นแดนสนธยา มีความโปร่งใสมากขึ้นนั้น พิธา ระบุว่า องค์กรอิสระต้องเป็นอิสระให้จริง ตอบโจทย์ประชาชน ยึดโยงองค์กรที่คัดเลือกมาโดยสภาผู้แทนราษฎร เพราะสภามาจากประชาชน เพื่อให้มีความเป็นกลางมากที่สุด
ขณะที่การโละกรรมการองค์กรอิสระชุดเก่า พิธา ยอมรับว่า เป็นเรื่องที่อยู่ใน 300 นโยบายของพรรคก้าวไกล พร้อมย้ำว่าไม่ใช่เรื่องส่วนตัว แต่เป็นเรื่องที่มา ที่ไป และการใช้อำนาจขององค์กรอิสระ ซึ่งอาจไม่ได้มาจากการแต่งตั้งเพียงอย่างเดียว แต่อาจมีคณะกรรมการ ที่ประกอบไปด้วยคนนอก ส.ส.ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล เพื่อให้มีความเป็นกลาง และเป็นอิสระจริงๆ