ไม่พบผลการค้นหา
ฝ่ายค้านร่วมยื่นญัตติแก้ไข รธน. เปิดทางตั้ง ส.ส.ร. ต่อประธานสภาฯ ด้าน ‘ชวน’ รีบตรวจสอบความถูกต้องก่อนบรรจุเข้าวาระ ขณะที่ ‘ก้าวไกล’ ไม่ร่วมลงชื่อ แต่สงวนความเห็นไว้ยื่นแก้ไข รธน. ตั้ง ส.ส.ร.-โละทิ้ง ส.ว. 250 คน

วันที่ 17 ส.ค. 2563 'สมพงษ์ อมรวิวัฒน์' หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วย ส.ส.ของพรรค และพรรคร่วมตัวแทนฝ่ายค้าน ประกอบด้วย 'วันมูหะมัดนอร์ มะทา' หัวหน้าพรรคประชาชาติ 'สงคราม กิจเลิศไพโจรน์' หัวหน้าพรรคเพื่อชาติ 'นิคม บุญวิเศษ' หัวหน้าพรรคพลังปวงชนไทย และ 'นภาพร เพ็ชร์จินดา' ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเสรีรวมไทย ร่วมกันยื่นญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 ต่อ 'ชวน หลีกภัย' ประธานสภาผู้แทนราษฎร

เพื่อไทย สมพงษ์ ฝ่ายค้าน ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เสรีรวมไทย E2-14A0-4B34-858E-CD94FB49A96E.jpegเพื่อไทย สมพงษ์ ฝ่ายค้าน ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ  เสรีรวมไทย ประชาชาติ 98-484A-92F6-B4367EE099F3.jpeg

หัวหน้าพรรคเพื่อไทยกล่าวว่า ฝ่ายค้านได้ประชุมร่วมกันและมีฉันทานุมัติว่ามีความจำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญเนื่องจากที่ผ่านมา การดำเนินงานต่างๆ ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีข้อบกพร่องจำนวนมาก จึงเห็นว่าจะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 และต้องตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ให้มีการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญในโอกาสต่อไป

'สุทิน คลังแสง' ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย และประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวว่า แม้วันนี้จะไม่มีตัวแทนของ ส.ส.พรรคก้าวไกลมายื่น แต่พวกเราได้ประชุมร่วมกัน และ ส.ส.พรรคก้าวไกลก็ได้ลงชื่อในญัตติของพวกเราด้วยไม่น้อยกว่า 30 คน

อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้อาจมีอีกหลายร่างตามมา ซึ่งถ้าหากว่าแนวทางไม่สอดคล้อง เราก็จะไม่ร่วมลงชื่อสนับสนุน ส่วนร่าง พ.ร.บ.ประชามติของคณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) นั่นอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของพวกเรา และอีกไม่นานในเวลาที่เหมาะสมพวกเราจะยื่นมาตามอีกครั้งในภายหลัง

ด้านประธานสภาฯ 'ชวน' กล่าวว่า ตามระเบียบข้อบังคับ เมื่อมีการยื่นญัตติจะต้องส่งให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปตรวจสอบความถูกต้อง เพราะการแก้มาตรา 256 อยู่ในหมวดพิเศษ และมีเงื่อนไขหลายข้อ เช่น จะต้องใช้เสียงของ 1 ใน 5 ของสมาชิกที่มีอยู่ทั้งหมด หรือ 98 คนเป็นต้น เมื่อตรวจสอบเรียบร้อยแล้ว ก็จะต้องบรรจุเป็นระเบียบวาระภายใน 15 วัน นับแต่วันนี้เป็นต้นไป ทั้งนี้ตนจะรีบตรวจสอบโดยเร็ว

ด้านเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์พรรคก้าวไกลแจ้งสื่อมวลชนช่วงบ่ายวันนี้ (17 ส.ค.) ว่า พรรคก้าวไกลไม่ได้ร่วมลงชื่อในญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญกับพรรคร่วมฝ่ายค้านด้วย เนื่องจากขอสงวนความเห็นในเนื้อหาสำคัญบางประการเกี่ยวกับ ส.ส.ร. แต่ยืนยันเจตนารมณ์ว่า พรรคยังผลักดันให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่โดย ส.ส.ร. และยังจะเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อปิดสวิตช์ ส.ว. โดยการยกเลิก มาตรา 269-272 ต่อในสัปดาห์นี้