ไม่พบผลการค้นหา
จากวินส์ตัน เชอร์ชิล สู่ ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อ 'V-sign' สัญลักษณ์แห่งชัยชนะ สันติภาพ และความน่ารัก ถูกใช้ในบริบทอันผิดเพี้ยน ท่ามกลางสถานการณ์ระบาดอันวิกฤต ที่ประชาชนยืนอยู่บนเส้นความเป็นความตาย

25 มิถุนายน ที่ผ่านมา พล.อ ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้แถลงต่อสื่อมวลชนหลังจากประชุมแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงมาตรการควบคุมโรคระบาดที่กำลังจะบังคับใช้โดยมีใจความว่า จะไม่มีการล็อกดาวน์ แต่อาจจะมีการยกระดับมาตรการต่าง ๆ ให้เข้มงวดมากขึ้น ในตอนท้ายก่อนจะสิ้นสุดการสัมภาษณ์ พล.อ.ประยุทธ์ได้ชูสองนิ้ว หรือ สัญลักษณ์ ‘V-sign’ พร้อมอธิบายว่า

"นี่ (V-sign) คือ Vaccination V ฉีดวัคซีน สอง Victory เราต้องชนะไปด้วยกัน เข้าใจไหม นะจ๊ะ”

การแสดงสัญลักษณ์ V-Sign ของนายกฯ เป็นการพยายามสื่อถึงชัยชนะท่ามกลางสถานการณ์ที่ยังไม่บรรเทาลงแม้แต่น้อย ซึ่งคำว่า “ชนะ” ยังอยู่ห่างจากความเป็นจริงอยู่มาก โดยหากพิจารณาสถิติการฉีดวัคซีนหรือ V ตัวแรกในความหมายของพล.อ.ประยุทธ์ หากสถิติจากศูนย์ข้อมูล Covid-19 ของกรมประชาสัมพันธ์ระบุว่า มีผู้ได้รับวัคซีนครบสองโดสเพียงแค่ 2.5 ล้านคนเท่านั้นจากจำนวนประชากรทั้งประเทศกว่า 69 ล้านคน ท่ามกลางเป้าหมายที่นายกฯ คาดหวังให้มีการเปิดประเทศใน 120 วัน

หากด้านข้อมูลสถิติย้อนหลัง 7 วันมีผู้ติดเชื้อรายใหม่รวมกันถึง 27,903 ราย และมีผู้เสียชีวิตแล้ว 276 ราย ล่าสุดเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2564 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ถึง 5,406 ราย ทำลายสถิติจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่หลักห้าพันต่อวันตั้งแต่มีการระบาดระลอก 3 ดังนั้นการชูสองนิ้วของพล.อ.ประยุทธ์ครั้งนี้เป็นการแสดงถึงชัยชนะท่ามกลางบริบทที่การฉีดวัคซีนยังไม่ทั่วถึง และยังดูห่างไกลจากเป้าของรัฐบาล มีผู้ติดเชื้อรายใหม่และมีผู้เสียชีวิตต่อเนื่องหลักพันคนในทุกวัน


V-sign และภาษากายของผู้นำ 

ตัว V เป็นตัวอักษรแรกของคำว่าชัยชนะในบางภาษาของชาติตะวันตกเช่น Victory ในภาษาอังกฤษ หรือ Victoire ในภาษาฝรั่งเศส หรือ Vrijheid ในภาษาเฟลมิช (ภาษาท้องถิ่นในเนเธอร์แลนด์) การทำสัญลักษณ์เลียนแบบตัว V และการชูสองนิ้วเพื่อแสดงถึงชัยชนะ มีตำนานเล่าเรื่องย้อนไปถึงสมัยสงครามร้อยปีระหว่างอังกฤษและฝรั่งเศสเมื่อปีพ.ศ. 1958 ณ สมรภูมิเมืองอาจินคอร์ท (Agincourt) ทางตอนเหนือของฝรั่งเศส เนื้อเรื่องกล่าวถึงฝ่ายทหารฝรั่งเศสที่ขู่ฝั่งอังกฤษว่าจะตัดนิ้วชี้และนิ้วกลางของพลยิงธนูอังกฤษหากจับตัวได้ เพราะในการยิงธนูต้องใช้นิ้วชี้และนิ้วกลางในการดึงคันธนู แต่ในสงครามครั้งนั้นอังกฤษเป็นฝ่ายชนะ ทหารของอังกฤษจึงทำสัญลักษณ์ชูสองนิ้วเพื่อเย้ยหยันว่าตนเองไม่ได้เสียนิ้วทั้งสองไปและยังมีชัยเหนือฝรั่งเศสอีกด้วย นับตั้งแต่นั้นมาสัญลักษณ์ตัว V หรือการชูสองนิ้วจึงเริ่มเป็นที่เข้าใจของชาวอังกฤษว่าหมายถึงชัยชนะ 

ต่อมาสัญลักษณ์ V-sign เริ่มถูกใช้เพื่อสื่อนัยยะทางการเมืองครั้งแรกในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ผ่านการกระจายเสียงวิทยุของสถานีข่าวสัญชาติอังกฤษ ‘BBC’ ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มแคมเปญ ‘V for Victory’ เมื่อพ.ศ.2484 และภายใต้แคมเปญ V for Victory นี้ ประเทศฝ่ายสัมพันธมิตรโดย วิกเตอร์ เดอ ลาวีย์ (Victor de Laveleye) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมของเบลเยียมในสมัยนั้นได้ออกอากาศผ่านทาง BBC แนะนำให้ชาวเบลเยียม ชาวฝรั่งเศสและชาวดัตช์ ใช้การขีดเขียนตัว V ในทุกสถานที่เพื่อยืนยันชัยชนะและแสดงถึงการสนับสนุนประเทศฝ่ายสัมพันธมิตรให้ชนะสงคราม ซึ่งหลังจากนั้นฝ่ายสัมพันธมิตรได้เป็นผู้ชนะสงครามจริง การใช้สัญลักษณ์ตัว V จึงเป็นที่รับรู้และแพร่กระจายไปทั่วยุโรปว่าหมายถึงชัยชนะ

วินสตัน เชอร์ชิล (Winston Churchill)

การเป็นผู้นำประเทศต้องสื่อสารทั้งภาษาที่เป็นทางการและภาษาทางกาย ผู้นำประเทศที่เริ่มใช้สัญลักษณ์ ‘V-sign’ เพื่อสื่อสารทางการเมืองเป็นคนแรกคือ วินสตัน เชอร์ชิล (Winston Churchill) นายกรัฐมนตรีสหราชอราณาจักรในช่วงของสงครามโลกครั้งที่สอง ช่วงหนึ่งที่เชอร์ชิลกำลังเดินจากไวท์ฮอลล์ อันเป็นที่ทำการสำคัญของรัฐบาล เขาถูกสื่อมวลชนตามติดเพื่อสอบถามเรื่องสงครามและการรบ แต่เชอร์ชิลไม่ตอบคำถามสื่อ พร้อมทำท่าชู่สองนิ้วแบบหันฝ่ามือเข้าหาตนเอง 

แต่ภายหลังเชอร์ชิลหันฝ่ามือเนื่องจากมีเจ้าหน้าที่ในทำเนียบเตือนว่า การทำ V-sign อย่างมั่วๆ ในแบบหันหลังมือออกนั้น อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดได้ เพราะในอังกฤษหากทำท่าชูสองนิ้วโดยหันฝ่ามือเข้าหาลำตัวจะเป็นความหมายในเชิงลบคือ การดูถูกหรือการท้าทาย แต่หากชูสองนิ้วและหันฝ่ามือออกจากลำตัวจะหมายถึงชัยชนะและสันติภาพ ในภายหลังจึงมีการตีความท่า V-sign ของเชอร์ชิลไว้ 2 แบบ โดยความหมายแรกคือเป็นการสนับสนุนฝ่ายสัมพันธมิตรและยืนหยัดในชัยชนะของอังกฤษ แบบที่สองหมายถึงการท้าทายเยอรมันเพราะเป็นศัตรูของฝ่ายอังกฤษ ซึ่งหลังจากนั้นเชอร์ชิลสามารถนำพาอังกฤษชนะสงครามโลกครั้งที่สองได้จริงตามที่ตนได้ทำสัญลักษณ์ V-sign ไว้

อีกหนึ่งผู้นำที่สื่อภาษากายผ่านสัญลักษณ์ V-sign คือ ริชาร์ด นิกสัน (Richard Nixon) ประธานาธิบดีคนที่ 37 แห่งสหรัฐ โดยเมื่อสิงหาคม พ.ศ. 2511 หลังจากการเลือกตั้ง นิกสันจากพรรครีพับลิกันถูกเสนอชื่อเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีและสามารถคว้าชัยชนะมาได้ นิกสันจึงชูสองนิ้วและกางแขนออกทั้งสองข้างเพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์อันยิ่งใหญ่

ริชาร์ด นิกสัน (Richard Nixon)

สัญลักษณ์ V-sign ของนิกสัน เกิดขึ้นอีกครั้งพ.ศ.2517 จากการที่นิกสันจำเป็นต้องลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีด้วยเหตุผลบางประการ หลังเกิดกรณีอื้อฉาววอเตอร์เกต โดยในวันอำลาตำแหน่ง ขณะที่เขากำลังขึ้น Marine One เฮลิคอปเตอร์ประจำตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ นิกสันทำมือเป็นรูปตัว V ทั้งสองข้างและโบกมือไปมาเพื่อแสดงว่า ครั้งหนึ่งเขาเคยมีชัยชนะเหนือการเลือกตั้งสหรัฐฯ เพราะสำหรับสังคมอเมริกันแล้ว การชูสองนิ้วสื่อความหมายทั้งเป็นสัญลักษณ์ของชัยชนะ ความสำเร็จ และการแสดงความเห็นชอบต่ออะไรบางอย่าง 

อีกแง่หนึ่ง ในช่วงเวลาดังกล่าวนั้น สหรัฐฯ เต็มไปด้วยความเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ยุติสงครามเวียดนาม บรรดาบุพผาชน หรือนักเคลื่อนไหวหลายคนมักใช้สัญลักษณ์สองนิ้วในการเรียกร้องสันติภาพแก่ประเทศชาติเพื่อยุติความรุนแรงจากสงคราม

ริชาร์ด นิกสัน (Richard Nixon)

V-sign ที่หมายถึงความน่ารัก

ในสังคมญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และในประเทศไทย การทำท่าชูสองนิ้วหมายถึงท่าทางของความน่ารัก ซึ่งมักจะปรากฏพฤติกรรมเหล่านี้หากมีการถ่ายภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในญี่ปุ่นการชูสัญลักษณ์ V-sign เป็นสิ่งที่คนญี่ปุ่นทุกวัยตั้งแต่วัยเด็กจนถึงผู้สูงอายุชอบ เพราะเป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึงความน่ารักและยังทำให้ใบหน้าดูเรียวเล็กลง 

ที่มาของ V-sign ในญี่ปุ่นมีหลายเรื่องเล่า ซึ่งเรื่องเล่าหนึ่งที่น่าจะเป็นไปได้คือ เมื่อปี พ.ศ.2503 ญี่ปุ่นมีการ์ตูนยอดนิยมชื่อ ขุนศึกแห่งเคียวจิน Kyojin no Hoshi (巨人の星) ซึ่งเป็นการ์ตูนเกี่ยวกับกีฬาเบสบอล ในตอนหนึ่งตัวละครเอกของเรื่องทำสัญลักษณ์ V-sign ก่อนลงแข่งครั้งสำคัญเพื่อสื่อถึงสันติภาพในการแข่งขัน นอกจากนี้ยังญี่ปุ่นยังมีภาพยนตร์ชื่อดังเกี่ยวกับกีฬาวอลเลย์บอลชื่อเรื่องว่ายอดหญิงชิงชัย Volleyball manga Sain wa V (サインは V) ที่มีภาพโฆษณาเป็นตัวละครชูสองนิ้ว ซึ่งหมายถึงสัญลักษณ์แห่งชัยชนะ จึงเป็นการตอกย้ำกระแสความนิยมการทำ V-sign ในญี่ปุ่น จึงเป็นไปได้ว่าความนิยมของการชูสองนิ้วในสังคมญี่ปุ่นมีอิทธิพลมาจากสื่อบันเทิง 

แต่บางกรณีการชูสองนิ้วในสังคมญี่ปุ่นบางครั้งไม่ได้ต้องการใช้สื่อความหมายถึงชัยชนะ สันติภาพ หรือแม้แต่ความน่ารัก เพราะมีผู้คนส่วนหนึ่งมองว่า การทำสัญลักษณ์ V-sign เป็นพฤติกรรมที่ทำเป็นประจำจนเกิดความเคยชิน เพราะเมื่อคนญี่ปุ่นถ่ายรูปบางครั้งจะรู้สึกทำตัวไม่ถูกจึงต้องชูมือขึ้นสองนิ้ว ซึ่งนายกฯประยุทธ์มีพฤติกรรมคล้ายกันคือมักชูสองนิ้วเมื่อถ่ายรูปอยู่บ่อยครั้ง


ไม่ชนะและไม่น่ารัก

จากกรณีของวินสตัน เชอร์ชิล และริชาร์ด นิกสัน จะเห็นได้ว่าผู้นำทั้งสองสามารถใช้ภาษากายสื่อสารได้สอดคล้องกับสภาพที่เกิดขึ้นจริง เนื่องจากการแสดงสัญลักษณ์ V-sign ของทั้งเชอร์ชิลและนิกสัน เป็นการสื่อถึงชัยชนะที่ประจักษ์ต่อสายตาสาธารณะชนโดยแท้ เพราะเชอร์ชิลสามารถพาอังกฤษชนะสงครามโลกครั้งที่สอง และนิกสันก็ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีจริง

ในกรณีของผู้นำไทย การสื่อสารภาษากายหรือสัญลักษณ์ของผู้นำมีความสำคัญต่อการสื่อสารการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่ประเทศกำลังเผชิญภาวะวิกฤติโรคระบาดและมีผู้ล้มตายต่อเนื่องทุกวัน การสื่อภาษาสัญลักษณ์ของผู้นำยิ่งต้องพิจารณาถึงกาลเทศะและความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ว่าประเทศกำลังมีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจำนวนมากอยู่ การชูสองนิ้ว V-sign ของพล.อ.ประยุทธ์ไม่ว่าจะเพราะจุดประสงค์เพื่อชัยชนะหรือแสดงความน่ารักต่างก็ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ที่ประชาชนกำลังเผชิญอยู่ทั้งสิ้น แถลงการณ์ของท่านนายกฯจึงทั้งไม่ชนะและไม่น่ารัก  

ท่ามกลางสถานการณ์แพร่ระบาดในไทยที่ยากจะเห็นทางออก การถวิลหาชัยชนะท่ามกลางสภาวะวิกฤติเป็นสิ่งที่ผู้นำรัฐบาลสามารถคาดหวังได้ แต่สิ่งสำคัญคือรัฐบาลในฐานะผู้ทำหน้าที่ดูแลชีวิตทางสังคมของประชาชนทุกคน รัฐบาลต้องทำให้ทุกคนชนะและต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังให้เป็นผู้แพ้

เรื่องโดย: ชินดนัย ฝังสิมมา

ตรวจโดย: ชยพล พลวัฒน์

ที่มา: Collins , กรมประชาสัมพันธ์ , Washington Post , Mirror , Bright Side , BBC , Gogonihon , CIOS , Agincourt , Richardlangworth , CNN