และบำเพ็ญกุศลแก่ พ.อ.พระยาศรีสิทธิสงคราม ที่ อาคารศรีสิทธิสงคราม บก.ทบ.ราชดำเนิน
โดยมีพระเทพปัญญามุณี เจ้าอาวาสวัดอาวุธวิกสิตาราม ทำพิธีฯ โดยมีการพรมน้ำมนต์ป้ายชื่อห้องศรีสิทธิสงครามและห้องบวรเดช ท่ามกลางสายฝนที่ตกแรง
แต่ความสำคัญอยู่ที่การบันทึก ประวัติศาสตร์ ฉบับ ทบ. ในการบันทึกเหตุการณ์ ‘กบฏบวรเดช’ แม้จะไม่ได้เกิดขึ้น 24 มิ.ย.2475 แต่เกิดขึ้น 11 ต.ค. 2476 แต่เป็นเหตุการณ์ระหว่าง ‘กลุ่มอำนาจเดิม’ กับ ‘คณะราษฎร’ ซึ่งเป็น ‘กบฏแรก’ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
โดยระบุเหตุผลของการจัดทำพิธีขึ้นว่า ‘คณะราษฎร’ ทำรัฐประหาร ล้มราชบัลลังก์ พร้อมยกย่อง พล.อ.พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าบวรเดช และ พ.อ.พระยาศรีสิทธิสงคราม เป็นนายทหารประชาธิปไตย จงรักภักดีต่อสถาบันฯ พร้อมชี้ถึงการปกครอง พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) นายกฯคนที่ 2 ของไทย ภายใต้คณะราษฎรเป็น ‘เผด็จการ’ อีกทั้งยอมรับถึงการเป็น ‘กบฏ’ ด้วย ผ่านเอกสารข่าวของ แผนกแถลงข่าว กองประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการ ทบ.
“เพื่อระลึกถึงคุณงามความดีของนายทหารที่มีความจงรักภักดีต่อสถาบันและยังเป็นนายทหารประชาธิปไตย ปี พ.ศ. 2475 เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของประวัติศาสตร์ไทย จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นระบอบประชาธิปไตย
โดยกลุ่มคนที่เรียกตนเองว่า ‘คณะราษฎร’ ถือเป็นการรัฐประหารเพื่อล้มราชบัลลังก์ ครั้น พ.ศ. 2476 ได้เกิดการกบฏครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 โดยพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช โดยมีพระยาศรีสิทธิสงครามเป็นแม่ทัพ มีชื่อเป็นที่รู้จักกันว่า ‘กบฏบวรเดช’
เนื่องจากพระองค์ทรงไม่เห็นด้วยกับแนวทางการปกครองของพระยาพหลพลพยุหเสนา ที่มีลักษณะเป็นเผด็จการ
โดยเรียกร้องให้ รัฐบาลของพระยาพหลฯ ดำเนินตามแนวทางที่เสนอคือ ให้รักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ไว้ และให้รัฐบาลมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น
โดยให้อำนาจฝ่ายรัฐสภาในการตรวจสอบมากขึ้นและจำกัดอำนาจของรัฐบาลมิให้คณะราษฎรกลายเป็นคณะเผด็จการ
(พระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎร)
แต่ในที่สุดการก่อกบฏไม่เป็นผลฝ่ายรัฐบาลปราบปรามคณะกบฏลงได้ วีรกรรมที่กล้าหาญและเสียสละของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช และพระยาศรีสิทธิสงครามควรแก่การยกย่องในฐานะที่ทรงปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วยความจงรักภักดี และทรงมุ่งหวังให้ประเทศชาติดำรงไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง” เอกสารข่าว ทบ. ระบุ
อย่างไรก็ตามเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันว่าเอกสารข่าว ทบ. ฉบับดังกล่าว ย่อมได้รับ ‘ไฟเขียว’ ให้เผยแพร่อย่างเป็นทางการ เพราะเป็นการออกข่าวในนาม ทบ. ซึ่งเป็นเสมือนประวัติศาสตร์ที่ ทบ. บันทึกไว้ ดังนั้นการออกเอกสารข่าวเช่นนี้ย่อมได้รับการ ‘อนุมัติ’ มาแล้ว
อีกทั้งเป็นที่สังเกตุว่า ทบ. แจ้งหมายข่าวกับสื่อที่เป็นไปอย่างกระชั้นชิด โดยได้แจ้งหมายให้สื่อช่วงบ่ายโมง ก่อนพิธีเริ่มเพียง 2 ชั่วโมง และเจ้าหน้าที่มาจัดเตรียมพื้นที่ก่อนพิธีเริ่มไม่นาน อีกทั้ง พล.อ.ณัฐพล ติดภารกิจประชุมอยู่ที่ ทำเนียบฯ ด้วย ซึ่งการทำพิธีทั้งหมดใช้เวลาเพียง 20 นาทีเท่านั้น
ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ อาคารแห่งนี้ชื่อว่าอาคารพิพิธภัณฑ์กองทัพบกเฉลิมพระเกียรติ ก่อนที่เอกสารข่าวครั้งนี้จะระบุว่า อาคารศรีสิทธิสงคราม
โดยช่วง ต.ค. 2562 พล.อ.อภิรัชต์ ได้เชิญ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม มาเปิดอาคารรับรองของพิพิธภัณฑ์กองทัพบกเฉลิมพระเกียรติ ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ เคยตั้งใจจะปรับปรุงตั้งแต่สมัยเป็น ผบ.ทบ. โดย พล.อ.อภิรัชต์ ได้สานเจตนารมณ์นี้ ซึ่งเดิมเป็นอาคารสรรพาวุธ ของ ร.11 รอ. และ ร.1 รอ.
ซึ่ง ทบ. ได้ตั้งชื่อห้องทั้ง 2 ห้อง แบ่งเป็นห้องชั้นล่างชื่อ ‘ศรีสิทธิสงคราม’ หรือ พระยาศรีสิทธิสงคราม (ดิ่น ท่าราบ) ที่มีศักดิ์เป็นคุณตาของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี
ส่วนชั้นบนชื่อ ‘บวรเดช’ ที่มาจากชื่อ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช ซึ่งทั้ง 2 ชื่อ อยู่ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ในเหตุการณ์ ‘กบฎบวรเดช’ โดยทั้งคู่ต่างเป็นนายทหารที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับ ‘คณะราษฎร’ นั่นเอง ทว่าจุดสำคัญอยู่ที่ชื่อห้องบวรเดช ที่ไม่มีคำว่า ‘กบฏ’ แต่ในเอกสารข่าว ทบ. ล่าสุด มีคำว่า ‘กบฏ’
ย้อนกลับไปอีก ต.ค.62 ในการขึ้นเวทีบรรยายพิเศษของ พล.อ.อภิรัชต์ หัวข้อ ‘แผ่นดินของเราในมุมมองด้านความมั่นคง’ ที่ หอประชุมกิตติขจร ใน บก.ทบ.ราชดำเนิน ก็ได้ขับเน้นตัวเลข 2475
“พวกนักวิชาการ อาจารย์บางคน ที่คบคิดกับพวกคอมมิวนิสต์เดิม เป็น Mastermind เป็นคลังสมอง ร่วมกับ นักเรียนนอก ซ้ายจัดดัดจริต ไปเรียนในประเทศที่เคยล่าอาณานิคม อบรมสั่งสอน ไร้จรรยาบรรณ ชอบอ้างตัวเลข 2475 เป็นตัวชี้นำ อ้างว่าตัวเองเป็นประชาธิปไตย แต่มีวาทกรรมจาบจ้วง” พล.อ.อภิรัชต์ กล่าวเมื่อวันที่ 11 ต.ค. 2562
การออกมาของแอ็กชั่นของ พล.อ.อภิรัชต์ หลายครั้ง ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็น ‘สัญญาณสำคัญ’ ในการต่อสู้ทางการเมืองในช่วงเวลาที่แหลมคมเช่นนี้ โดยเฉพาะการ ‘ชำระประวัติศาสตร์’ ของแต่ละขั้ว เพราะแต่ละฝ่ายมีความทรงจำที่ ‘อยากให้จำ’ และ ‘อยากให้ลืม’ แต่ในโลกยุคโซเชียลฯ ก็ยากจะปิดกั้น ‘การสร้างความทรงจำ’ ได้ แน่นอนว่าฝ่ายที่ต้องออกแรงมากกว่า คือ ‘ผู้แพ้ระหว่างทาง’ ในห้วง 88 ปี ที่ผ่านมา
การแอ็กชั่นของ ทบ. ครั้งล่าสุดนี้ แม้จะไม่ได้ ‘จัดใหญ่’ แต่ในแง่วันและสิ่งที่ทำมีความหมายอยู่ในตัวเอง ที่สะท้อนว่าการต่อสู้ในการช่วงชิงพื้นที่ทางการเมืองและประวัติศาสตร์ยังคงดำเนินต่อไป จาก ‘กบฏ’ ในอดีต อาจเป็น ‘ผู้ชนะ’ ในอนาคต ก็เป็นได้ เพราะ ‘ผู้ชนะ’ คือ ‘ผู้สถาปนา’ ประวัติศาสตร์
ศึกครั้งนี้อีกนาน !!
ข่าวที่เกี่ยวข้อง