ภายหลังจากเมื่อวานนี้ (22 ส.ค.62) เวลา17.00 น. กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยศูนย์วิจัยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ทะเลอันดามัน ร่วมกับทีมแพทย์โรงพยาบาลวชิระ ภูเก็ต ได้นำตัวพะยูน "ยามีล" ส่งไปรักษาที่โรงพยาบาลวิชระ ภูเก็ต เพื่อผ่าตัดโดยใช้กล้อง Endoscope ในการนำก้อนหญ้าทะเลที่อัดแน่นบริเวณกระเพาะอาหารออก
ต่อมาเวลา 20.30 น. ผลการทำ CT Scan พบการอักเสบของปอด มีกลุ่มก้อนหญ้าทะเลในบริเวณกระเพาะ จึงสอดท่อกล้องตรวจภายในและฉีดน้ำสลายการเกาะแน่นของหญ้าทะเล จากนั้นจึงเริ่มดูดออกได้ร้อยละ 30 จากนั้นจึงขนย้าย "ยามีล" กลับมาพักฟื้น ซึ่งขณะนั้น "ยามีล" มีอัตราการเต้นหัวใจที่ต่ำ ยังต้องเฝ้าระวังสัญญาณชีพอย่างใกล้ชิด
ล่าสุดเฟซบุ๊ก กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง แจ้งว่า "ยามีล" มีภาวะช็อก หัวใจหยุดเต้น ทีมสัตวแพทย์เร่งช่วยชีวิต ด้วยการทำ CPR แต่ไม่สามารถช่วยน้องกลับมาได้ ได้จากไปอย่างสงบ เมื่อเวลา 21.43 น. วานนี้ (22 ส.ค.62)
ทั้งนี้ ทีมสัตวแพทย์ตรวจพบอาการป่วยของ"ยามีล" มาตั้งแต่วันที่ 19 สิงหาคม ที่ผ่านมา โดยมีอาการเกร็งท้องต่อเนื่อง จึงได้ให้ยาลดอาการอักเสบร่วมกับยากระตุ้นทางเดินอาหาร พร้อมสอดท่อระบายแก๊ส ทำให้ยามีลมีอาการดีขึ้นบ้าง แต่ยังมีอาการเกร็งท้อง ทีมสัตวแพทย์ วินิจฉัยว่าอาจเกิดการบิดหมุนของลำไส้ ทำให้เกิดการอุดตันของระบบทางเดินอาหาร ที่เกิดจากภาวะท้องผูกก่อนหน้านี้ หรือลักษณะการว่ายน้ำที่มีการบิดตัวอย่างรวดเร็ว
สำหรับ ยามีล เป็นลูกพะยูนมีอายุราว 3-4 เดือน ที่มีชาวบ้านไปพบเกยตื้นอยู่ชายหาดบ่อม่วง จ.กระบี่ เมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2562 ในสภาพอ่อนแรง อิดโรย มีบาดแผลที่แผ่นหลัง สัตวแพทย์กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) จึงนำตัวมาดูแลในบ่ออนุบาลที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน จ.ภูเก็ต
ต่อมา สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงพระกรุณาพระราชทานชื่อให้แก่ลูกพะยูนเกยตื้นนี้ ว่า “ยามีล” ซึ่งมีความหมายในภาษายาวีว่า “ชายรูปงามแห่งท้องทะเล” และทรงรับไว้ในโครงการ “อนุรักษ์แนวปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทย ในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์”
โดยเมื่อวันที่ 8 ก.ค.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางไปเยี่ยมและให้นมยามีล ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน
ทีมสัตวแพทย์เตรียมหารือนำ "ยามีล” เก็บรักษาซากเป็นเครื่องเตือนใจอนุรักษ์พะยูน
ทีมสัตวแพทย์ที่ดูแลพะยูนยามีลเตรียมหารือผู้เกี่ยวข้องพิจารณานำ "ยามีล” พะยูนกำพร้าที่ช็อกตายหลังเข้าผ่าตัดนำก้อนหญ้าทะเลอุดตันออกจากระบบทางเดินอาหาร เมื่อกลางดึกที่ผ่านมา เก็บรักษาซาก เพื่อประโยชน์ในการศึกษา และเป็นเครื่องเตือนใจอนุรักษ์พะยูน รวมถึงสิ่งแวดล้อมในทะเล เช่นเดียวกับ “มาเรียม”
ขณะเดียวกันมีรายงานว่า พะยูนมาเรียมถูกเก็บรักษาไว้ในห้องแช่แข็งลบ 20 องศา เพื่อคงสภาพผิวหนังไม่ให้เน่าเปื่อย ส่วนผู้เชี่ยวชาญด้านสตัฟฟ์สัตว์ขององค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติกำลังหารือวิธีที่เหมาะสมที่สุดในการคงสภาพมาเรียมไว้ให้ใกล้เคียงกับตอนมีชีวิต โดยมีผิวหนัง แต่ไม่มีโครงกระดูกและกะโหลกศีรษะ คาดใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3 เดือน จึงแล้วเสร็จ และนอกจากการสตัฟฟ์แล้ว ยังจะต่อโครงกระดูกและทำหุ่นจำลองเพื่อการศึกษาด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :