ไม่พบผลการค้นหา
ธนาคารกลางจีนประกาศตรึงอัตราแลกเปลี่ยนกลางไว้ที่ระดับ 6.9683 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่ากว่าที่นักวิเคราะห์คาด ลดกระแสร้อนแรง 'สงครามค่าเงิน' ปัดทำหยวนอ่อน สู้สงครามการค้าสหรัฐ

หลังจากสร้างความตื่นตกใจแก่ตลาดเงินตลาดทุนทั่วโลกวานนี้ (5 ส.ค.) ล่าสุดเช้านี้ (6 ส.ค.) ธนาคารกลางจีน หรือ พีบีโอซี ออกประกาศค่ากลางอัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนเทียบดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 6.9683 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งนับว่าแข็งค่ากว่าระดับ 6.9871 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐ ตามผลสำรวจจากบลูมเบิร์กที่สอบถามความเห็นจากนักวิเคราะห์และผู้ค้าค่าเงินในตลาดเงิน

หลังจากวานนี้ เงินหยวนอ่อนค่าทะลุ 7 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นระดับที่อ่อนค่ามากที่สุดในรอบ 11 ปี 

คำประกาศตรึงอัตราแลกเปลี่ยนกลางจากธนาคารกลางจีน ยังมาพร้อมกับการประกาศขายพันธบัตรระยะสั้นในรูปสกุลเงินหยวนที่อยู่ในฮ่องกง มูลค่า 3 หมื่นล้านหยวน หรือประมาณ 4.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในสัปดาห์หน้า เพื่อเตรียมการรองรับความผันผวนที่เกิดขึ้นจากการอ่อนค่าของสกุลเงินหยวน และสร้างสภาพคล่องในตลาดการเงินนอกประเทศ

ทั้งนี้ ระบบอัตราแลกเปลี่ยนในจีน เป็นแบบลอยตัวภายใต้การจัดการ (Managed float) ซึ่งภายใต้ระบบนี้ธนาคารกลางจีนจะประกาศอัตราอ้างอิงค่าเงินหยวนรายวัน หรือ CNY fixing ในช่วงเช้าของแต่ละวันก่อนเริ่มมีการซื้อขายเงินหยวน และจะควบคุมไม่ให้ค่าเงินหยวนผันผวนเกินกรอบที่กำหนด (trading band) ซึ่งนับตั้งแต่ปี 2557 trading band อยู่ที่บวก/ลบ ไม่เกินร้อยละ 2

'เจา ฮัว' นักเศรษฐศาสตร์จาก คอมเมิร์ซแบงก์ เอจี ในสิงคโปร์ ระบุว่า นี่เป็นข้อความสำคัญจากธนาคารกลางจีนที่จะปกป้องเงินหยวนจากการอ่อนค่าอย่างรุนแรง และบ่งชี้ว่า จีนไม่ต้องการใช้เงินหยวนเป็นอาวุธหลักในช่วงต้นนี้ 

ขณะที่ บลูมเบิร์กรายงานว่า การประกาศอัตราแลกเปลี่ยนประจำวันที่อยู่ในระดับแข็งค่ากว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์พร้อมแผนการขายพันธบัตรระยะสั้นสกุลเงินหยวนในฮ่องกง ของธนาคารกลางจีนในวันนี้ เกิดขึ้นเพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังจากสหรัฐฯ ออกมาตอบโต้ด้วยการตีตราจีนเป็นประเทศที่ใช้อัตราแลกเปลี่ยนบิดเบือนตลาด 

โดยหลังจากจีนปล่อยเงินหยวนเทียบดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าทะลุ 7 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐ ภายในวันเดียวกัน 'โดนัลด์ ทรัมป์' ประธานาธิบดีสหรัฐ ออกมาทวีตข้อความ กล่าวอ้างว่าจีนเป็นประเทศผู้บิดเบือนค่าเงิน  

"จีนปล่อยให้ค่าเงินตกลงแทบจะต่ำสุดเป็นประวัติกาล แบบนี้มันคือ "การบิดเบือนค่าเงิน" เฟด (ธนาคารกลางสหรัฐ) ฟังอยู่รึเปล่า นี่เป็นการละเมิดครั้งใหญ่ซึ่งจะทำให้จีนอ่อนแอเองเมื่อเวลาผ่านไป" ทรัมป์ ทวีต พร้อมกับระบุในเวลาต่อมาว่า จีนมักเข้ามาแทรกแซงค่าเงินเสมอเพื่อแย่งชิงธุรกิจจากสหรัฐฯ ทั้งยังทำร้ายการจ้างงาน ลดค่าจ้างแรงงาน รวมทั้งส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าเกษตรของสหรัฐฯ มาเสมอ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ "จะต้องหมดไปสักที"


'ฟรานเซส เฉิง' หัวหน้าด้านกลยุทธ์เศรษฐกิจมหภาคเอเชีย ธนาคารเวสท์แพค ในสิงคโปร์กล่าวว่า หลังจากที่ถูกกดดันแปะป้ายเป็นประเทศผู้บิดเบือนค่าเงิน ธนาคารกลางจีนออกมาส่งสัญญาณแก้ปัญหาค่าเงินหยวนอ่อนค่าแทบจะทันที โดยเลือกที่จะขายพันธบัตรเงินหยวนมูลค่ากว่า 4.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 1.3 แสนล้านบาท ในเกาะฮ่องกงในวันที่ 14 สิงหาคมนี้ ซึ่งจะส่งผลให้เงินหยวนกลับมาแข็งค่าในระยะสั้น

"ธนาคารกลางจีนกำลังส่งสัญญาณว่า ต้องการลดการอ่อนค่าของเงินหยวน หลังจากวานนี้ค่าเงินหยวนในต่างประเทศระหว่างวันอ่อนค่าไปแตะ 7.1 หยวนต่อดอลลาร์หลายครั้ง และผมคาดว่าในระยะใกล้ๆ นี้อัตราแลกเปลี่ยนหยวนเทียบดอลลาร์สหรัฐจะอยู่ในระดับนี้ต่อไป" เฉิง กล่าว

ขณะที่ 'ยี่ กัง' ประธานธนาคารกลางจีน กล่าวว่า เงินหยวนจะยังเป็นค่าเงินที่มีความแข็งแรง แม้จะมีความผันผวนในระยะนี้ และจีนจะไม่ใช้ค่าเงินมาเป็นหมากโต้กลับสหรัฐฯ ในประเด็นสงครามการค้า

ผลของค่าเงิน จึงทำให้ตลอดคืนที่ผ่านมา (ตามเวลาท้องถิ่น) ดัชนีตลาดหุ้นในสหรัฐฯ หลายแห่ง ปรับตัวลดลง นักวิเคราะห์ด้านค่าเงินประกาศปรับเป้าหมายอัตราแลกเปลี่ยนหยวน นักกลยุทธ์ค่าเงินของแบงก์ ออฟ อเมริกา คอร์ป ถึงขั้นบอกว่า สิ้นปีนี้เงินหยวนมีโอกาสอ่อนค่าไปอยู่ที่ 7.3 จากระดับ 6.63 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐ เพราะจีนจงใจทำค่าเงินให้อ่อน เพื่อลดผลกระทบจากกำแพงภาษีที่สูงขึ้นจากสหรัฐ 

ส่วนกรณีของนักวิเคราะห์จากซิตี้แบงก์ บอกว่า เงินหยวนมีโอกาสอ่อนค่าลงไปถึง 7.5 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐ หากความตึงเครียดของสงครามการค้ายกระดับรุนแรงขึ้น 

ผลที่ตามมาหลังค่าเงินหยวนอ่อนค่าเป็นประวัติกาลคือ มูลค่าหุ้นในสหรัฐฯ เมื่อคืนวันที่ 5 ส.ค. (ตามเวลาท้องถิ่น) หายไปมากถึง 7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ ประมาณ 21.7 ล้านล้านบาท โดยดัชนีตลาดหุ้น เอส แอนด์ พี ลดลงร้อยละ 3 ดัชนีอุตสาหกรรมดาวน์ โจนส์ลดลง 700 จุด จากมูลค่าของราคาหุ้นแอปเปิ้ล และไอบีเอ็มที่ลดลงร้อยละ 4 ส่วนดัชนีความผันผวน Cboe เพิ่มขึ้นร้อยละ 40 ผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีสหรัฐ (T-bill) ลดลงต่ำสุด นับตั้งแต่ประธานาธิบดีโรนัลด์ ทรัมป์ชนะการเลือกตั้งเมื่อปี 2560

ส่งผลให้เงินลงทุนไหลไปที่ทรัพย์สินปลอดภัยให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น โดยราคาทองคำเพิ่มขึ้นเป็น 1,500 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง และสกุลเงินดิจิทัล หรือ คริปโตเคอเรนซี่สกุลหลักๆ ก็มีมูลค่าเพิ่มขึ้นในเวลาที่นักลงทุนต้องการหาที่หลบภัย ส่งผลให้บิตคอยน์แตะที่ระดับ 12,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อบิตคอยน์

'คริส ซาคคาเรลลิ' ประธานเจ้าหน้าที่ด้านการลงทุน อินดิเพนเดนท์ แอดไวซอร์ อลิอันซ์ กล่าวว่า ตอนนี้สงครามการค้าเข้มข้นมากขึ้น และมีความเป็นไปได้ที่สงครามค่าเงินกำลังจะเริ่มต้นขึ้นในเวลาเดียวกัน และไม่ได้เป็นผลดีทั้งต่อเศรษฐกิจโลกและตลาดหุ้น

ทั้งนี้ ค่าเงินหยวนอ่อนค่าเกิดขึ้น หลังจากที่ 'โดนัลด์ ทรัมป์' ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ออกมาทวิตข้อความพร้อมขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเป็นร้อยละ 10 ในกลุ่มสินค้านำเข้าที่ยังไม่เคยถูกเรียกเก็บภาษีมาก่อน โดยจะมีผลต่อสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่า 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 9.3 ล้านล้านบาท และจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 กันยายนนี้

ท่ี่มา : บลูมเบิร์ก , เซาท์ ไชน่า มอนิ่ง โพสต์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :