ไม่พบผลการค้นหา
ราคาไส้กรองยังคงผันผวนต่อเนื่อง แม้ประเทศต้นทางอย่างจีนจะมีสถานการณ์ดีขึ้นบ้างแล้ว ผู้นำเข้าฯ แนะหากรัฐบาลต้องการช่วยผู้ผลิต ต้องช่วยให้รอบด้าน โดยเฉพาะเรื่องต้นทุนไส้กรอง

แม้ว่ากระทรวงพาณิชย์จะมีความพยายามเพิ่มกำลังการผลิตหน้ากากอนามัยกับโรงงานเอกชนทั้ง 11 แห่ง แต่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการหน้ากากอนามัยของประชาชนเพื่อป้องกันทั้งโรคโควิด-19 และปัญหาฝุ่นควัน

ล่าสุด 'ทีมข่าววอยซ์ออนไลน์' พูดคุยกับนายโชคพิสิฏฐ์ กันทะนูน ผู้อำนวยการบริหารเจ เทค อินเตอร์เนชันแนล บริษัทผู้นำเข้าเครื่องจักรที่ใช้ผลิตหน้ากากอนามัย ในประเด็นความพยายามในการตั้งโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยเพื่อแก้ปัญหาความขาดแคลนในปัจจุบัน

Crownfunding หน้ากาก
  • นายโชคพิสิฏฐ์ กันทะนูน ผู้อำนวยการบริหารเจ เทค อินเตอร์เนชันแนล

นายโชคพิสิฏฐ์ อธิบายให้ฟังว่า หากย้อนกลับไปช่วง 2 เดือนก่อนหน้านี้ที่ประเทศจีนมีการระบาดอย่างหนัก สายการผลิตที่ต้องพึ่งการนำเข้าทั้งวัตถุดิบและเครื่องจักรจากจีนจึงต้องหยุดชะงักในทันที และถึงแม้ว่าปัจจุบันสถานการณ์ในจีนจะดีขึ้นบ้างแล้ว แต่การปล่อยวัตถุดิบออกมานอกประเทศยังไม่กลับไปเป็นปกติ จึงยังต้องมีการแอบขายโดยไม่มีใบเสร็จอยู่บ้าง ส่งผลให้ราคาเหวี่ยงขึ้นลงไม่คงที่โดยเฉพาะกับวัตุดิบสำคัญอย่างไส้กรอง

โดยหลักการผลิตหน้ากากอนามัย ชั้นนอกสุดและชั้นในสุดไม่ได้มีราคาวัตถุดิบแพงมากนัก ต่างจากชั้นกลางหรือชั้นที่เป็นไส้กรองที่มีราคาสูงกว่าอีกสองชั้นถึง 2 เท่า หรือมีราคาไส้กรองประมาณตันละ 2 ล้านกว่าบาท ขณะที่ชั้นนอกและชั้นในมีราคาต่อตันประมาณ 1 ล้านบาท 

ขณะที่ราคาของเครื่องจักรเองขึ้นอยู่ที่ศักยภาพการผลิต โดยเครื่องจักรที่สามารถผลิตได้ 100 ชิ้น/นาที หรือประมาณ 6,000 ชิ้น/ชั่วโมง มีราคานำเข้าอยู่ที่ประมาณ 3 ล้านปลายๆ เกือบ 4 ล้านบาท แต่การจะตั้งโรงงานได้ก็ต้องมีห้องปลอดฝุ่นและให้ได้มาตรฐานของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งก็จะมีค่าใช้จ่ายต่างๆ ตามมา

ตั้งโรงงานเพื่อการค้า-ไม่ใช่ประชาชน

นายโชคพิสิฏฐ์มองว่า ด้วยความต้องการหน้ากากอนามัยของประชาชนไทยในปัจจุบันหากไม่ใช่ผู้ผลิตที่มีเงินทุนรายใหญ่อย่างเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ที่มีข่าวจะออกมาตั้งโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยแจก ก็แทบจะเป็นไปไม่ได้ที่หน้ากากอนามัยจะเพียงพอต่อประชาชนไทยทุกคน เพราะส่วนมากผู้ที่สนใจตั้งโรงงานผลิตในปัจจุบันจะมองหาการทำกำไรเป็นหลักมากกว่าการแจกจ่ายหน้ากากอนามัยไปยังผู้ที่ขาดแคลน

"คนที่จะมาตั้งโรงงานมีเยอะมาก แต่เป้าหมายเพื่อจะผลิตขาย" โชคพิสิฏฐ์ กล่าว

ขณะที่ผู้นำเข้าเครื่องจักรอีกหลายรายก็เป็นบริษัทที่มีขนาดใหญ่ ซึ่งมีกำลังทรัพย์เพียงพอที่จะลงทุนตั้งเครื่องจักรเพื่อผลิตหน้ากากอนามัยให้กับพนักงานภายในใช้

พร้อมปิดท้ายว่า หากรัฐจะเข้ามาดูแลโรงงานที่ต้องการจะผลิตหน้ากากอนามัยให้ประชาชนก็จำเป็นต้องดูแลให้รอบด้านไม่ใช่แค่กับต้นทุนอย่างเครื่องจกัรเท่านั้น แต่ต้องรวมไปถึงต้นทุนที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาอย่างไส้กรองด้วย