ไม่พบผลการค้นหา
ที่ประชุมสภาฯ เห็นชอบในวาระที่ 2 ผ่าน มาตรา 6 งบกลาง มาตรา 7 งบฯสำนักนายกฯ ที่มีการแก้ไข พร้อมทั้งเห็นชอบตาม กมธ.แก้ไขปรับลดงบฯ กระทรวงกลาโหม ขณะที่ ส.ส.ก้าวไกล รุมชำแหละงบฯจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์แพงกว่าท้องตลาด บี้ 'ประยุทธ์' เคลียร์จัดซื้อชุดเกณฑ์ทหารที่ตั้งราคาเตรียมจัดซื้อไว้แพงกว่า Shopee ถามกลางสภาฯ จัดซื้อกางเกงในไว้ใส่หรือไว้กิน

เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2563 ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ในวาระที่ 2 โดยพิจารณามาถึงมาตรา 6 งบกลาง ภายหลังการอภิปรายเสร็จสิ้น วิเชียร ชวลิต รองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.รายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ชี้แจงว่า งบกลางเป็นรายการที่ไม่สามารถตั้งอยู่ในกระทรวง ทบวง กรม ต่างๆ จึงไม่สามารถตั้งหน่วยรับงบประมาณได้ แต่สามารถแบ่งเป็นกลุ่มการใช้งาน คือ ค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐ ซึ่งไม่มีการเพิ่มผิดปกติ, การใช้จ่ายภายใต้แผนงานและแผนยุทธศาสตร์, และเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินและจำเป็น ตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ ที่ตั้งได้ในสัดส่วน 2-7.5% และที่ตั้งไว้ 99,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 3% ถือว่าเป็นไปตามกรอบวินัยการเงินและการคลัง และในปี 2561 ต่อเนื่องมาก็ตั้งไว้ตามสัดส่วนนี้ กรรมาธิการจึงไม่มีการแก้ไขหรือปรับลด โดยที่ประชุมมีมติ 259 เสียงเห็นด้วยให้ยืนตามร่างเดิม ไม่เห็นด้วย 85 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง ไม่ลงคะแนน 4 คน

โดยก่อนหน้านั้น พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ ในฐานะกรรมาธิการเสียงข้างน้อย สงวนคำแปรญัตติลดงบกลาง 1% เนื่องจากรายจ่ายประจำในปีนี้เพิ่มมาอีกแสนล้านบาท ซึ่งสำนักงบประมาณฯ ชี้แจงว่า ประกอบด้วยเบี้ยผู้สูงอายุ ผู้พิการและเด็ก อีก 50,000 ล้านบาทคือเบี้ยหวัดบำนาญ และอีก 40,000 ล้านบาทคืองบเกี่ยวกับโควิด ซึ่งที่บอกไว้ว่าจะลดรายจ่ายประจำกลับมาเพิ่มรายจ่ายประจำอีกแสนล้าน การโอนงบกลางก่อนหน้านี้ 88,000 ล้านบาท เหมือนเป็นการไปพรากเงินมาจากเด็ก คนชรา ฯลฯ ซึ่งตอนนี้ก็ยังอยู่ และยังมีงบฉุกเฉินอีก 99,000 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นเงินจำนวนมาก แต่รายการขอใช้งบกลางบางรายการไม่มีหน่วยรับงบประมาณ ซึ่งตนคิดว่าการใช้งบกลางต้องมีแผนและใช้ในเวลาฉุกเฉิน และรายจ่ายที่ไม่มีหน่วยรับงบประมาณกลับเป็นค่าใช้จ่ายด้านการบริหารจัดการภาครัฐที่สูงถึง 9,752 ล้านบาท ซึ่งตรวจสอบไม่ได้ แม้ขณะที่กรรมาธิการขอรายละเอียดไปนานแล้วแต่ปีนี้ก็ยังไม่ส่งให้ 

ด้าน ณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายขอตัดงบกลาง 5% เนื่องจากหลายรายการไม่ปรากฎหน่วยรับงบประมาณ บางรายการกำหนดวัตถุประสงค์ไว้แล้ว แต่กำหนดเป้าหมายในการใช้จ่ายไม่ได้ และมีหลายแผนงานที่มีเกณฑ์การใช้จ่ายแตกต่างกันไป เหมือนเป็นการตีเช็คเปล่าให้นายกรัฐมนตรีว่าจะวางงบประมาณไปที่ตรงจุดไหนหรือส่วนใด อาจเกิดจุดประสงค์ซ่อนเร่นพูดคุยกันข้างหลังได้ 

นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ ส.ส.ชัยภูมิ พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า อย่าเอางบกลางไปใช้จ่ายค่าปรับคดีเหมืองทองอัคราเด็ดขาด เพราะการสั่งปิดเหมืองทองอัคราเป็นคำสั่งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในสมัยที่เป็นหัวหน้า คสช. โดยอาศัยสคำสั่งหัวหน้า คสช. ในการสั่งปิด ในเมื่อตำแหน่งหัวหน้า คสช. ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐแล้วไปทำผิดกฎหมาย แต่จะเอานำเงินของรัฐไปจ่ายเป็นค่าปรับถือเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง

'ก้าวไกล' ตัดงบฯสำนักนายกฯ ปูดงบฯ พีอาร์แพงกว่า 6.25 แสนบาท

จากนั้นทีประชุมสภาฯได้อภิปรายมาตรา 7 งบประมาณสำนักนายกรัฐมนตรี โดย นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปราย มาตรา 7 งบประมาณสำนักนายกรัฐมนตรีลงไป 5% โดยยกตัวอย่างงบประมาณบางรายการที่สามารถลดลงได้ เช่น สำนักเลขาธิการสำนักนายกรัฐมนตรีมีงบประมาณประชาสัมพันธ์ มีงบประมาณทำไลน์ ออฟฟิเชียล 7,500,000 บาท ต้องการส่งข้อความที่มากเกินไปเพื่อให้ถึงประชาชนที่แอดไลน์ไทยคู่ฟ้ากว่า 4,700,000 คน แบ่งเป็น 4 ไตรมาส รวม 1,140 ข้อความ เทียบกับค่าบริการของไลน์ ถ้าสมัครแบบโปรอยู่ที่เดือนละ 1,500 บาท แต่ถ้าเทียบกับงบประมาณของสำนักนายกฯ เดือนละ 625,000 บาทต่อเดือน คิดตามค่าบริการของไลน์คือจะส่งข้อความได้ถึง 175 ล้านคน ซึ่งความจริงสามารถปรับลดราคาได้มาก

อีกส่วนหนึ่งคือ กอ.รมน. งบประมาณ 9,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่อยู่ที่งบกำลังพล ทั้งที่มีงบประมาณบุคลากรอยู่แล้ว 80 ล้านบาท แต่กลับใช้เพิ่มในส่วนนี้อีก 4,000 ล้านบาทเพื่อจ่ายเงินให้ทหาร แล้วจุดประสงค์ในการตั้ง กอ.รมน. คือเสริมสร้างความตระหนักรู้สถาบันหลักของชาติในเยาวชน ทั้งที่กระทรวงศึกษาธิการก็น่าจะทำภารกิจนี้ได้ อีกทั้งยังมีโครงการแก้ปัญหาผู้หลบหนีเข้าเมืองกลุ่มเฉพาะ ทั้งที่มี ตม. นอกจากนี้ยังมีโครงการแก้ไขปัญหาปฏิบัติการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา แล้วจะมีกรมทรัพย์สิทนทางปัญญาไว้ทำไม และการพัฒนาเครือข่ายมวลชนเฝ้าระวังการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ทั้งที่กระทรวง DES ก็มีอาสา DE ซึ่งเป้าหมายคือให้ประชาชนเข้าใจบทบาทของสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ซึ่งไม่ตรงกับชื่อของเครือข่าว, การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ทั้งที่มี ปภ. อยู่แล้ว แต่มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดกรอบการทำงานด้านมวลชนของ กอ.รมน. ตนไม่เข้าใจว่าโครงการนี้เป็นเรื่องของการรวมพลังมวลชนหรือไม่ เพราะไม่สอดคล้องกับชื่อ นอกจากนี้ยังมีการผลิตสื่อโทรทัศน์ อยู่ที่ 17,250,000 บาท ต่องาน ซึ่งตนคิดว่าสามารถปรับลดงบประมาณลงมาได้ แต่ของ กอ.รมน. สามารถลดขนาด หรือไม่ก็ควรยุบหน่วยงานของกระทรวงต่างๆ ที่ทับซ้อนออกไป

ประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา พรรคเพื่อไทย เสนอปรับลด 10% เนื่องจากหน่วยงานนี้ประสิทธิภาพในการทานยังไม่เห็นผล ได้แก่ การปฏิรูปประเทศ เช่น การปฏิรูปตำรวจล้มเหลว โดยเฉพาะการแต่งตั้งโยกย้าย บุคลากรตำรวจบางคนได้เลื่อนตำแหน่งทั้งที่ความอาวุโสในการรับราชการยังไม่ถึง หลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้มาแล้ว 3 ปีแต่ยังไม่เห็นผล, การปฏิรูปการศึกษา จะเห็นชัดเจนว่าการศึกษาไทยยังไม่ไปถึงไหน ยังมีความเหลื่อมล้ำในการเรียนมัธยมยังไม่ตอบโจทย์การสอบเข้ามาหวิทยาลัย, 

สาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ เสนอปรับลดงบประมาณ 10% โดยเน้นที่ พ.ร.ก.เงินกู้ 4 แสนล้านบาท โดย สภาพัฒน์ฯ เป็นประธานในการกลั่นกรอง และมีระเบียบการใช้จ่ายเงินกู้ให้สภาพัฒน์จัดทำกรอบนโยบายในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศด้วย ซึ่งตั้งแต่ลงพระราชกิจจานุเบกษารวมแล้ว 150 วัน มีโครงการเสนอเข้ามากว่าสี่หมื่นโครงการ แต่ยังเหลือเงินที่ยังไม่อนุมัติกว่าอีกสามแสนล้านบาท และเบิกจ่ายไปได้เพียงกว่าหนึ่งพันล้านบาท ทั้งที่ต้องเร่งใช้จ่าย แต่ผ่านไป 5 เดือน อนุมัติไปได้เพียง 45,000 ล้านบาท เพราะเหตุผลว่าโครงการมีปัญหาไม่เข้าเงื่อนไขตามท้าย พ.ร.ก. และไม่เข้ากรอบที่กำหนด สภาพัฒน์ทำตัวเนอาจารย์ตรวจข้อสอบ โครงการไม่ผ่านตีกลับ จึงไม่แปลกว่าทำไมตอนนี้คนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด ยังเดือดร้อน เพราะโครงการยังไม่เกิด อีกทั้งในการศึกษาของสภาพัฒน์บอกว่าโครงการเหล่านี้จะจ้างงานได้กว่าแสนคน ทั้งที่มีคนตกงานหลายล้านคน ตนฝากไปถึงรัฐบาลว่าถ้าเหตุการณ์ยังเป็นแบบนี้รัฐบาลต้องตัดสินใจเรื่องการเบิกจ่ายและการตัดสินใจอนุมัติโครงการ ไม่เช่นนั้นสิ้นปีนี้คนได้รับผลกระทบจะอยู่ไม่ได้

จากนั้น ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบวาระ 2 ผ่านงบสำนักนายกฯ 29,362 ล้านบาท ด้วยมติ 256 เสียง ไม่เห็นด้วย 87 เสียง งดออกเสียง 31 และไม่ลงคะแนน 2

กรรมาธิการ งบประมาณ สมคิด สภา_200916_3.jpg

'ก้าวไกล' รุมชำแหละเม็ดเงินยุทโธปกรณ์ 'กลาโหม'

เวลา 21.00 น. พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล สงวนความเห็นอภิปรายมาตรา 8 งบประมาณกระทรวงกลาโหม จำนวน 1.07 แสนล้านบาท โดยระบุว่าขอปรับลดงบประมาณ กว่า 1.5 หมื่นล้านบาท ถึงความจำเป็นการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ การปรับลดงบประมาณ จากเอกสารที่กองทัพบกชี้แจงในชั้นอนุกรรมาธิการครุภัณฑ์มี 5 โครงการเป็นงบประมาณผูกพัน ในปี 2564 พบว่ามี 3 โครงการน่าจะตัดงบประมาณไปได้ แต่ตัดได้ 1 โครงการคือการจัดหายานเกราะสไตรเกอร์ในระยะที่ 4 เท่านั้น การจัดหายานเกราะสไตรเกอร์ 10 คัน มีการซื้อมาแล้ว 2 ระยะ ผูกพันปี 2562-2564 รวมแล้วมี 47 คัน และ 23 คัน กว่า 3,710 ล้านบาท งบประมาณปี 2563-2565 จำนวน 50 คันงบประมาณ 4,515 ล้านบาท ปี 2564-2566 จำนวน 10 คัน งบประมาณ 900 ล้านบาท รวม 130 คัน กว่า 9,125 ล้านบาท คำถามคือจะมีการเลื่อนออกไปก่อนได้หรือไม่ในปี 2564-2566 โครงการสะพานยุทธวิธี ไว้ใช้สร้างสะพานกรณีถนนขาด หรือสะพานขาด ตนได้ชี้แจงอนุกรรมาธิการน่าจะปรับลดงบฯ ได้ เพราะสะพานยุทธวิธียังไม่มีการเบิกจ่าย พร้อมทั้งตั้งคำถามว่าการจัดซื้อครุภัณฑ์ทำไมกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจึงได้งบฯ น้อยกว่ากองทัพบก ในการแก้ไขปัญหาสะพานขาด และถนนขาด

"การแสดงเอกสารของกองทัพบกต้องแก้ไขให้เหมือนกับกองทัพอากาศที่แสดงสมุดปกขาวที่ให้รายละเอียดในการจัดซื้อ ส่วนการจัดหาเรือดำน้ำ 2 ลำ แม้จะเลื่อนไปก็สำคัญมาก ถ้าไม่เลื่อนการจัดหา การโอนงบ" พิจารณ์ ระบุ

ซัดจัดซื้อครุภัณฑ์ในราคาแพงผิดปกติกว่าท้องตลาด

ด้าน ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า ตนเสนอปรับลดงบกระทรวงกลาโหม เนื่องจากมีความไม่โปร่งใส เกิดปัญหาการจัดซื้อครุภัณฑ์ในราคาที่แพงผิดปกติ ยกตัวอย่างการจัดซื้อครุภัณฑ์ในราคาแพง เช่น กล้องสำรวจแบบวัดระยะและมุม ตราอักษร TOPCON รุ่น OS-101 สำรวจราคาตามท้องตลาดทั่วไปถูกกว่าราคาที่กองทัพซื้อมาถึง 26.85 เท่า รถยกไฮดรอลิค แฮนด์ สไตรเกอร์ รุ่น ADJ HS 1.5 TX3m ราคาตามท้องตลาดถูกกว่าที่กองทัพเรือจัดซื้อมา 57.29 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ยังเคยให้คำสัญญาว่าจะปฏิรูปกองทัพ ที่จะทำให้กิจการภายในของกองทัพมีความโปร่งใส แต่ปรากฎว่าผ่านมาร้อยกว่าวัน กองทัพก็ยังเป็นแดนสนธยาที่ปกคลุมไปด้วยเมฆหมอกที่มีผู้มีอำนาจไม่กี่คนที่จะเข้าไปข้างในได้ คนที่อยู่ข้างนอกไม่มีทางรู้เลยว่าคนที่เข้าไปตอนกลับออกมาหยิบอะไรติดไม้ติดมือมาบ้าง และไม่รู้ว่ายุทโธปกรณ์อาวุธเหล่านั้นจะเอามาปกป้องชาติหรือฟาดฟันคนไทยด้วยกันเอง


'วิโรจน์' ชำแหละงบฯจัดซื้อชุดทหารเกณฑ์แพงกว่า Shopee

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล สงวนความเห็นมาตรา 8 งบประมาณกระทรวงกลาโหมโดยอภิปรายถึงโครงการจัดหายุทธภัณฑ์และอาภรณ์ภัณฑ์ สายพลาธิการกองทัพบก โดยเป็นชุดทหารเกณฑ์ ตั้งไว้สูงถึง 150 ล้านบาท จากเอกสารชี้แจงต่อคณะอนุกรรมาธิการครุภัณฑ์ฯ ตนยืนยันพิสูจน์แล้วมีกลิ่นไม่ชอบมาพากล ชุดลำลองทหารเกณฑ์ตอนนี้เป็นแบบใหม่ แต่เนื้อผ้ายังเหมือนเดิม ต้นทุนใกล้เคียงเหมือนเดิม เสื้อยือคอวี สั่งซื้อ 152,000 ตัว งบประมาณ 27.819 ล้านบาท หรือตัวละ 161.25 บาท ถ้าซื้อปลีก 1 ตัวที่ Shopee ราคาตัวละ 80 บาท การสั่งซื้อ 152,000 ตัว แต่แพงกว่าตัวละ 81.25 บาท 

วิโรจน์ ระบุว่า ตนจึงดูประกาศราคากลางในงบฯ ปี 2563 ชื่อโครงการจ้างผลิตเสื้อยืดคอรูปตัววี จำนวน 1 รายการ เสื้อยืด 161.25 บาท กรมพลาธิการทหารบก เจ้าของโครงการ วงเงินงบประมาณที่ได้รับจัดสรร 52,691 ล้านบาท ขณะที่กางเกงขาสั้นลำลอง 76,000 ตัว งบประมาณ 27.816 ล้านบาท ตัวละ 366 บาท ซื้อปลีกที่ Shopee ตัวเดียวมีป้ายใช้ในราชการกองทัพของแท้ แพงกว่าตัวละ 246 บาท ขณะที่รองเท้า Jungle Boots ซื้อ 37,400 คู่ งบประมาณ 64.7768 ล้านบาท คู่ละ 1,732 บาท หากซื้อปลีก 1 คู่ Shopee มีป้ายใช้ในราชการของแท้คู่ละ 600 บาท แต่กองทัพบกซื้อแพงกว่า 1,132 บาท 

ผ้าเช็ดตัวสั่งซื้อไป 63,914 ผืน งบประมาณกว่า 9.5871 ล้านบาท ตกผืนละ 150 บาท หากซื้อปลีก 1 ผืนที่ Shopee ราคาผืนละ 100 บาท ซื้อของกองทัพแพงกว่าผืนละ 50 บาท ส่วนผ้าขาวม้า ซื้อ 76,000 ผืนงบประมาณ 7.98 ล้านบาท ผืนละ 105 บาท หากซื้อปลีก 1 ผืนที่ Shopee จะผืนละ 39 บาท ซึ่งกองทัพบกซื้อแพงกว่า 61 บาท

บี้ 'ประยุทธ์' กำกับ 'กลาโหม' เคลียร์ปมถุงเท้า-กางเกงในมีไว้ใส่หรือไว้กิน

วิโรจน์ ระบุแม้แต่กางเกงใน 100,000 ตัว ซื้อด้วยงบประมาณ 6.93 ล้านบาท ตัวละ 69.3 บาท หากซื้อปลีกที่ Shopee 5 ตัว 170 บาท เฉลี่ยตัละ 34 บาท แต่การซื้อของกองทัพบกแพงกว่า ตัวละ 35.3 บาท ตนสงสัยว่ากางเกงในรุ่นนี้ป้องกันแรงระเบิดได้หรือไม่ ทั้งนี้งบประมาณที่ตั้งไว้ถึง 150 บาท แพงเกินจริง หากสั่งซื้อทุกรายการในราคาปลีก ใน Shopee จะใช้งบเพียง 59.9754 ล้านบาท การสั่งซื้อจำนวนมากน่าจะได้ส่วนลดอย่างน้อย 10 % ดังนั้นงบฯที่ใช้จริงควรอยู่ที่ 53.9779 ล้านบาท ด้วยเหตุผลเอกสารทั้งหมด ตนจึงขอเรียกร้องต่อสภาฯ ต้องรักษาผลประโยชน์ประชาชน ร่วมกันปรับลดงบฯ ชุดทหารเกณฑ์ โดยขอให้ปรับลดลง 96.0221 ล้านบาท เนื่องจากงบฯที่ตั้งไว้เป็น 3 เท่าของราคาขายปลีก รัฐบาลและ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมต้องตั้งกรรมการสอบด้วยซ้ำ และ พล.อ.ประยุทธ์ต้องตอบประชาชนด้วยว่าถุงเท้าหรือกางเกงในมีไว้ใส่หรือมีไว้กิน

ชวน ศุภชัย สภา_200916_0.jpg

กมธ.แจงยังไม่ได้จัดซื้อ แค่กำหนดหลักเกณฑ์

เวลา 23.10 น. วิเชียร ชวลิต ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ชี้แจงในฐานะ กมธ.วิสามัญฯ ว่ามาตรา 8 ในส่วนของกระทรวงกลาโหม ในปีงบประมาณ 2564 เรื่องครุภัณฑ์ของกระทรวงกลาโหม เช่นการจัดหารถสไตรเกอร์ เนื่องจากแผนของหน่วยจะมีรถสไตรเกอร์เต็มกำลัง 160 คัน ตอนนี้ได้จัดหาไปแล้ว 127 คัน จะมีเป้าหมายต่อไป เหตุที่ต้องให้ครบกำลังพล 1 หน่วยปฏิบัติภารกิจและการศึกษาต่างๆจะเป็นองค์ประกอบที่ครบหน่วย โดยจะครบตามแผนในปี 2565 มีการกำหนดงบประมาณเป็นงบผูกพันเป็นช่วงๆ โดย กมธ.ตรวจสอบว่าอยู่ในวิสัยของวงเงินงบประมาณที่จัดได้ ส่วนสะพานยุทธวิธีเป็นสะพานช่วยเหลือประชาชน การจัดหายุทโธปกรณ์เหล่านี้ในการตั้งงบฯ สำนักงบประมาณได้ตรวจสอบได้เทียบเคียงราคาผู้ขายมีหลายบริษัท เปรียบเทียบเพื่อการตั้งงบฯ ว่าเท่าไร ซึ่งยังไม่ใช่ขั้นตอนจัดหา แค่กำหนดหลักเกณฑ์เพื่อกำหนดงบประมาณ เมื่อได้รับอนุมัติงบฯ เป็นเรื่องของหน่วยราชการจะดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างต่อไป

วิเชียร ระบุว่า ยืนยันมีแผนปฏิรูปกองทัพ เปลี่ยนข้าราชการทหารเป็นข้าราชการพลเรือนกลาโหม สิ่งเหล่านี้อยู่ในแผนปฏิรูปมีการดำเนินการมาต่อเนื่อง ทั้งนี้การพิจารณา กมธ.ได้ปรับลดงบฯลงตามที่ กมธ.วิสามัญได้มีการแก้ไขแล้ว

โดยที่ประชมสภาฯ มีมติ 255 เห็นด้วยตาม กมธ.วิสามัญเสียงข้างมากที่แก้ไขมาตรา 8 งบประมาณกระทรวงกลาโหม ขณะที่ 78 เสียงไม่เห็นด้วย และ งดออกเสียง 4 เสียง

ชงยุบ คนร.ล้มเหลวตรวจสอบรัฐวิสาหกิจ

จากนั้นเป็นการพิจารณาในมาตรา 9 งบประมาณรายจ่ายของกระทรวงการคลัง และหน่วยงานในกำกับมีการแก้ไข มีกรรมาธิการขอสงวนความเห็น และมีผู้แปรญัตติขอสงวนคำแปรญัตติ ทั้งนี้ กมธ.ที่ขอสงวนความเห็นและ ส.ส.ที่สงวนคำแปรญัตติได้ขอให้ยุบคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เนื่องจากล้มเหลวในการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจและล้มเหลวในการตรวจสอบให้รัฐวิสาหกิจดำเนินงานให้เป็นประโยชน์ต่อประชาชนที่เสมือนผู้ถือหุ้นใหญ่ 

นอกจากนี้ ยังมีการอภิปรายบัตรสวัสดิการประชารัฐ เพื่อสนับสนุนค่าครองชีพ ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่ามีผู้อยู่ในโครงการที่ได้รับความช่วยเหลือจำนวน 14.6 ล้านคน แต่ปรากฏว่าผู้สอบบัญชีของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบแล้วไม่ผ่าน การตรวจสอบบัญชีโดยระบุว่าไม่สามารถตรวจสอบความมีอยู่จริงของผู้เข้าโครงการได้ และ สตง. ได้ประเมินผล พบว่าโครงการที่ลงทะเบียนเพื่อบัตรสวัสดิการแห่งรัฐไม่มีความรัดกุม ไม่เหมาะสม ฐานข้อมูลกลุ่มเป้าหมายไม่ครบถ้วน ไม่ถูกต้อง และไม่เป็นปัจจุบัน รวมทั้งการดำเนินการพัฒนาคุณภาพชีวิต ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐไม่บรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ มีรายการที่ไม่เกิดประโยชน์ และมีบางกลุ่มไม่แท้จริง 

ขณะที่ กมธ.วิสามัญฯ ชี้แจงว่า เงินนอกงบประมาณนั้น สภาผู้แทนราษฎรสามารถตรวจสอบ การใช้จ่ายงบประมาณได้จากรายงานทางการเงินของหน่วยรับงบประมาณ จากนั้นที่ประชุมมีมติเห็นด้วยกับร่างของคณะกรรมาธิการที่มีการแก้ไข ด้วยคะแนน237 เสียง จากนั้น ประธานฯ สั่งพักการประชุมในเวลา 01.04 น. วันที่ 17 ก.ย. 2563 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง