ดัชนีหุ้นไทยปิดตลาดเช้าวันที่ 25 มี.ค. ปรับตัวลดลงกว่า 10 จุด โดยดัชนีหุ้นไทยเปิดตลาดสูงสุดที่ 1,634.96 จุด ก่อนลดลงอย่างรวดเร็วไปแตะที่ 1,629.86 จุด หรือลดลง -12.00 จุด ส่วนดัชนีหุ้นไทย ณ เวลา 11.00 น. อยู่ที่ 1,633.47 จุด ลดลง 12.82 จุด หรือลดลงร้อยละ 0.78 ด้วยมูลค่าซื้อขาย 13,299.39 ล้านบาท
ปัจจัยหลัก 'หุ้นร่วง'
นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ ชี้ประเด็นสำคัญที่สุดในการอธิบายสถานการณ์หุ้นในปัจจุบัน ว่าไม่ควรนำไปเทียบกับเหตุการณ์ในอดีต เนื่องจากการเลือกตั้งในครั้งปัจจุบันมีความแตกต่างมาก ทั้งเรื่องที่มาของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และที่มาของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) รวมไปทั้งระบบเบอร์เลือกตั้งของ ส.ส. จึงเป็นเรื่องสุ่มเสี่ยงที่จะนำผลการศึกษาในอดีตมาเปรียบเทียบกับกรณีปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ปี 2535 เป็นต้นมา ช่วงระยะเวลา 2 สัปดาห์ก่อนมีการเลือกตั้งไปจนถึง 1 สัปดาห์หลังการเลือกตั้ง หุ้นมักปรับตัวดีขึ้นทุกครั้ง
ขณะที่ปัจจัยหลัก มี 2 กรณี คือปัจจัยภายนอกประเทศและปัจจัยการเลือกตั้ง นายณัฐชาต ชี้ว่า ขณะนี้ตลาดหุ้นในเอเชียร่วงกันเกือบร้อยละ 1 ทั้งนั้น เนื่องมาจากความกังวลเรื่องเศรษฐกิจโลก เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (22 มี.ค.) ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ของสหรัฐฯ ปิดตลาดลดลง 460 จุด หรือราวร้อยละ 1.8 ขณะที่พันธบัตรสหรัฐอเมริกา 10 ปี ก็ให้ผลตอบแทนที่ลดลงเช่นเดียวกัน สภาวะเศรษฐกิจยังสะท้อนการขาดความเชื่อมั่นอย่างหนักหลังราคาน้ำมันโลกปรับลดลงแม้จะมีการแทรกแซงการผลิตก็ตาม
อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้หุ้นไทยร่วงมากจากสถานการณ์การเลือกตั้งอย่างไม่มีข้อสงสัย คือ นักลงทุนยังไม่เชื่อใจและเชื่อมั่นในความชัดเจนหลังการเลือกตั้ง รวมไปถึงผลการเลือกตั้งที่ยังไม่ออกมาอย่างเป็นทางการ และ สถานการณ์ที่การจัดตั้งรัฐบาลต้องมาคอยลุ้นว่าพรรคที่เป็นตัวแปรสำคัญจะเลือกไปอยู่ฝ่ายไหน สร้างความอึดอัดและไม่สบายใจให้กับนักลงทุนเป็นอย่างมาก จนทำให้นักลงทุนอยู่ในสภาวะ 'รอดูไปก่อน' หรือบางรายอาจเทขายหุ้นเพื่อลดความเสี่ยง
ดังนั้นเมื่อนำปัจจัยทั้งสองมาดูร่วมกัน การที่หุ้นไทยในช่วงเช้าปิดตัวติดลบที่ไม่ถึงร้อยละ 1 ยังถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่น่าตกใจเท่าไหร่ เพราะแค่ปัจจัยจากเศรษฐกิจโลกตัวเดียว ตลาดหุ้นในเอเชียตลาดอื่นก็ปิดตลาดติดลบกันไปร้อยละ 1 กว่าแล้วทั้งนั้น
'เสถียรภาพ' ของรัฐบาลใหม่
นายณัฐชาต ชี้ว่า จุดเปลี่ยนเดียวที่จะพาความรู้สึกของนักลงทุนให้กลับมาเป็นบวก คือการจัดตั้งรัฐบาลภายใต้เงื่อนไขว่าต้องเป็นรัฐบาลที่มีเสถียรภาพด้วย สิ่งที่นักลงทุนกำลังเฝ้ารอตอนนี้คือ นายกรัฐมนตรีที่มาจากขั้วการเมืองเดียวกันและได้เสียงข้างมากในสภาล่าง (สภาผู้แทนราษฎร) โดยหากพรรคนายกฯ ได้เสียงข้างมากในสภาก็ยิ่งดี เพราะเป็นการการันตีความมีเสถียรภาพของรัฐบาล
"เรื่องนโยบายไว้ทีหลัง ถ้ามันมีเสถียรภาพ นโยบายมาแน่นอนอยู่แล้ว แต่ถ้าไม่มีเสถียรภาพ การออกกฏหมาย นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจทำได้ยาก ซึ่งตรงนั้นเป็นสิ่งที่นักลงทุนไม่น่าจะชอบ" นายณัฐชาต กล่าว
อย่างไรก็ตาม ความสุ่มเสี่ยงที่ประเทศไทยจะไม่ได้รัฐบาลที่มีเสถียรภาพมีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูง ในสถานการณ์ที่ผลการนับคะแนนยังไม่มีการประกาศอย่างเป็นทางการ หากขั้วที่ไม่เอาด้วยกับพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) รวมตัวกันได้ราว 240 ที่นั่ง แต่เสียงที่ไม่ได้ชนะขาดกันเท่าไหร่ จะทำให้พรรคที่จัดตั้งรัฐบาลไม่มีเสถียรภาพด้านการดำเนินนโยบายมากนัก ซึ่งไม่ใช่เรื่องดีกับอารมณ์ความรู้สึกของนักลงทุนอย่างแน่นอน
อ้างอิง; The Guardian, CNBC