ไม่พบผลการค้นหา
โค้งสุดท้ายของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จัทร์โอชา ใกล้ได้เวลา ‘บิ๊กตู่’ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรมว.กลาโหม ประกาศยุบสภาฯ ช่วงกลาง มี.ค.นี้ เรียกว่าเป็น ‘แท็คติก’ ทางข้อกฎหมาย เปิดช่องให้ ส.ส. สังกัดพรรคภายใน 30 วัน ก่อนเลือกตั้ง หาก ‘บิ๊กตู่’ อยู่ครบวาระ 4 ปี จะต้องสังกัดพรรคภายใน 90 วัน ตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้นจึงใช้วิธียุบสภาฯ เพื่อระดม ส.ส. เข้าพรรคได้มากที่สุด แม้ ‘บิ๊กตู่’ จะยืนยันว่าไม่ได้ ‘ดึงเวลา’ ให้กับ รทสช. ก็ตาม

ในฝั่ง ‘การเมือง’ ก็จัดกระบวนทัพรับเลือกตั้ง แต่ในฝั่ง ‘กองทัพ’ ก็สงวนท่าที ไม่ออกตัวแรง เพราะการเมืองในขณะนี้ ‘ผันผวน’ อย่างมาก ในเวลานี้กระแสของทั้ง 2 ฝั่ง หากแบ่งตามเดิมคือ ‘ฝ่ายค้าน-ฝ่ายรัฐบาล’ ไม่มีขั้วใด ‘กระแสพุ่ง’ ไปทางใดทางหนึ่ง การต่อสู้ไม่ได้สู้กันระหว่าง 2 พรรคใหญ่ เฉกเช่นในอดีตอีกต่อไป แต่เป็นการต่อสู้ของหลายพรรค

ดังนั้นท่าทีของ ‘กองทัพ’ ที่ผ่านหน้าสื่อยังคง ‘นิ่ง’ อยู่ในที่ตั้ง และที่ผ่านมา ผบ.เหล่าทัพ เลี่ยงให้สัมภาษณ์หรือพูดเรื่องการเมือง ยกเว้นการมี ‘แอคชั่น’ เพื่อปกป้องสถาบัน จากกรณี ‘บอยคอตลาซาด้า’ ที่เริ่มมาจาก ทบ. ก่อนไปยังเหล่าทัพอื่นๆ รวมถึง ‘ระยะห่าง’ ระหว่าง ผบ.เหล่าทัพ ที่เป็น ตท.22 ทั้งหมด ยกเว้น ‘บิ๊กแก้ว’ พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผบ.ทหารสูงสุด ที่เป็น ตท.21 ซึ่งทั้งหมดจะเกษียณฯ ก.ย. 2566 ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ จบ ตท.12 อีกทั้ง ผบ.เหล่าทัพ ชุดนี้ ก็ไม่ได้เป็นสายทหารเสือฯ-บูรพาพยัคฆ์ หรือเป็นสายตรง ‘บ้านป่ารอยต่อ-ไทยคู่ฟ้า’ เฉกเช่นยุค คสช.

โดยเฉพาะกับ ‘บิ๊กบี้’พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ. ที่คุมกองทัพที่มีกำลังมากที่สุด-คุมขุมกำลังปฏิวัติ ขึ้นมาเป็น ผบ.ทบ. ได้เพราะมี ‘แบ็คอัพ’ ของตัวเอง สำหรับ พล.อ.ณรงค์พันธ์ เติบโตมาจาก ร.31 รอ. หน่วยเคลื่อนที่เร็ว RDF ก่อยเข้า กทม. มาเติบโตที่ พล.1 รอ. เป็นสายวงศ์เทวัญ และเป็น ‘ทหารคอแดง’ ที่เป็น ผบ.ทบ. คนที่ 2 ต่อจาก ‘บิ๊กแดง’ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ อดีต ผบ.ทบ.ที่ในขณะนี้เป็นรองราชเลขาธิการ

ช่วง 2 ปีกว่าที่ พล.อ.ณรงค์พันธ์ เป็น ผบ.ทบ. ไม่เคย ‘ออกตัวแรง’ ปกป้องรัฐบาลหรือเชียร์ พล.อ.ประยุทธ์ โดย พล.อ.ณรงค์พันธ์ จะรับนโยบายตาม ‘สายบังคับบัญชา’ เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ เป็น รมว.กลาโหม ทำให้หลายครั้ง ‘แอ็คชั่น’ จาก ทบ. ในยุค พล.อ.ณรงค์พันธ์ เป็นไปตามกลไก มากกว่าจะ ‘แอ็คชั่น’ ที่มีเร็วหรือก่อนมีคำสั่งการจาก พล.อ.ประยุทธ์ หากเทียบกับ ผบ.ทบ. ยุคก่อนหน้านี้ 

อีกทั้งช่วงปีที่แล้ว (2565) เกิดกระแสข่าวในรั้ว ทบ. ถึงการ ‘ปลด ผบ.ทบ.’ แต่สุดท้ายก็เป็นเพียงกระแสข่าวเท่านั้น ซึ่งมีการมองว่าเป็นภาพสะท้อน ‘สงครามตัวแทน’ ของ ‘แบ็คอัพ’ แต่ละฝ่ายหรือไม่

ซึ่งในขณะนั้นเป็นช่วงรอยต่อที่ พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ระหว่างถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว กับการพิจารณาโยกย้ายนายพล ปลายปี 2565 เมื่อกระแสข่าว ‘ปลด ผบ.ทบ.’ นิ่งลง ก็เป็นครั้งแรกๆที่ พล.อ.ณรงค์พันธ์ เอ่ยชม พล.อ.ประยุทธ์ ชนิดที่ ‘ไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย’ ถึงกรณีทีที่ นายกฯ ทำตามคำสั่งศาล หลังสื่อถามถึงกระแสข่าว ‘ปลด ผบ.ทบ.’

“ผมขอยกตัวอย่างเรื่องของท่านพล.อ.ประยุทธ์ ทุกคนควรชื่นชม 

และยกย่องท่าน ท่านปฏิบัติตามระบบของประชาธิปไตย ทั้งนิติศาสตร์ คือการตรวจสอบ มีเรื่องอะไรก็ร้องไปที่ตุลาการ และทางตุลาการก็สั่งมาที่ฝ่ายบริหาร ว่าฝ่ายบริหารก็ปฏิบัติตามฝ่ายตุลาการ นี่คือระบบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ต้องยอมรับและชื่นชมว่าท่านคือสุภาพบุรุษ ท่านคือผู้นำ ท่านคือแบบอย่างของชายชาติทหาร สุภาพบุรุษ ที่ว่าทางฝ่ายตุลาการปฏิบัติอย่างไรก็ปฏิบัติตาม” พล.อ.ณรงค์พันธ์ กล่าวเมื่อ 25 ส.ค. 2565

ประยุทธ์ ณรงค์พันธ์ -C325-470E-81F3-445E98677BE4.jpegประยุทธ์ ณรงค์พันธ์ -54A9-4E05-B498-72A544F8FFC3.jpeg

เข้าปีที่ 3 ในการเป็น ผบ.ทบ. ก่อนเกษียณฯ ของ พล.อ.ณรงค์พันธ์ กลับมีความใกล้ชิดกับ พล.อ.ประยุทธ์ มากขึ้น เห็นได้จาก นายกฯ ไม่พลาดงานกองทัพช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ในฐานะ รมว.กลาโหม แต่ภาพที่เกิดขึ้น คือ พล.อ.ประยุทธ์ กอดคอ พล.อ.ณรงค์พันธ์ ถึง 2 ครั้ง ทั้งภายหลังงานเลี้ยงรับรองวันกองทัพบก 20 ม.ค. 2566 และหลังงานไหว้ครูมวยไทย ที่อุทยานราชภักดิ์ เมื่อวันที่ 6ก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่งในครั้งที่ 2 ได้กอดคอ พล.อ.เฉลิมพล ผบ.ทหารสูงสุด กับ พล.อ.สนิธชนก สังขจันทร์ ปลัดกระทรวงกลาโหม ด้วย

วันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะ รมว.กลาโหม ได้ ‘สังกัดพรรครวมไทยสร้างชาติ’ ครั้งแรก อีกทั้งเคยเป็นอดีต ผบ.ทบ. และอดีตหัวหน้าคณะรัฐประหาร

งานนี้ ‘กองทัพ’ จะว่างตัวอย่างไร ซึ่งเรื่องนี้ พล.อ.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ชี้แจงว่า “ต้องแยกแยะ เป็นเรื่องปกติ การเมืองเป็นแบบนี้ทุกยุคทุกสมัย ผู้นำรัฐบาล-รัฐมนตรี ต่างมีสังกัดพรรคการเมือง ซึ่งส่วนราชการต้องปฏิบัติตามมติ ครม. เกี่ยวกับแนวทางสนับสนุนการเลือกตั้ง ซึ่งในส่วนของกระทรวงกลาโหมมีข้อบังคับอยู่ด้วย”

ด้วยกำลังพล ‘กองทัพ’ มีกว่า 3 แสนนาย อีกทั้ง ‘หน่วยทหาร’ จะต้องเตรียมเปิดให้ ‘พรรคการเมือง’ เข้ามา ‘หาเสียง’ ดังนั้นจึงต้องมีการ ‘วางกรอบ-สร้างมาตรฐาน’ ให้เป็นไปในแนวทางเดียวกันทุกหน่วยและกับทุกพรรคการเมือง โดยหลักๆผ่าน ข้อบังคับกระทรวงกลาโหม ปี 2549 และมติคณะรัฐมนตรี ปี 2562 ที่เกี่ยวกับการสนับสนุนสถานที่หาเสียง-เลือกตั้ง , การจัดสถานที่ติดตั้งป้ายหาเสียง , ไม่ให้กำลังพลวิจารณ์การกระทำฝ่ายการเมืองและไม่แสดงออกโดยตรงหรือปริยายถึงผู้สมัครรับเลือกตั้ง เป็นต้น

ผู้นำดหล่าทัพ กองทัพ ทหาร ณรงค์พันธ์ -6793-49C3-AAF6-32DB0D2FA9BA.jpeg

ส่วนผู้มีอำนาจตัดสินใจให้พรรคการเมืองเข้าไปหาเสียงในหน่วยทหาร จะอยู่ในผู้บังคับบัญชาระดับใด นั้น พล.อ.คงชีพ ระบุว่า จะต้องมีการหารือว่าใครจะเป็นผู้ใช้ดุลพินิจพิจารณา ซึ่งจะการประชุมอีกครั้ง อาจเป็น ผู้บัญชาการทหารสูงสุด หรือ ปลัดกระทรวงกลาโหม นำประชุม

ทั้งนี้ที่ผ่านมา ‘กองทัพ’ เคยถูกครหาเมื่อปีที่แล้ว (2565) จากกรณีที่ ‘สาธิต วงศ์หนองเตย’ส.ส.จ.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์เคยเรียกร้องให้ พล.อ.ณรงค์พันธ์ ผบ.ทบ. ตรวจสอบ กรณีมีทหารลงพื้นที่ภาคใต้เข้าไปแทรกแซงการเลือกตั้งซ่อมทั้งที่ จ.ชุมพร และ จ.นครศรีธรรมราช 

รวมถึงกรณีสนามเลือกตั้งซ่อม ส.ส.กทม. เขตหลักสี่-จตุจักร เมื่อต้นปี 2565 หลัง ‘พรรคก้าวไกล’ ตั้งข้อสังเกตถึงการวางตัวไม่เป็นกลางของกองทัพ หลังปฏิเสธไม่ให้ ‘เพชร-กรุณพล เทียนสุวรรณ’ เข้าหาเสียงในพื้นที่หน่วยทหาร ด้วยเหตุผลที่ว่า ไม่มีพรรคอื่นขอเข้ามาหาเสียง หวั่นจะเกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ

อย่างไรก็ตามที่ถูกจับตาคือกระบวนการให้ ‘อิสระ’ กำลังพลกว่า 3 แสนนาย ในการลงคะแนนในคูหา ซึ่งสิ่งนี้ พล.อ.ณรงค์พันธ์ ยืนยันว่าทหารสั่งไม่ได้ มีวิจารณญาณของตัวเอง แต่คีย์เวิร์ดสำคัญอยู่ที่ ทาง ‘หน่วยทหาร’ จะให้คำแนะนำให้พิจารณาอย่างรอบคอบ

“ในส่วนของทหารก็เช่นเดียวกันเพราะถอดเครื่องแบบออกมาทหารก็เป็นประชาชนคนหนึ่ง เมื่อถึงเวลาต้องไปทำหน้าที่ของประชาชนก็ต้องไปทำหน้าที่ในการเลือกตั้งเลือกผู้แทนราษฎร ก็ถือเป็นวิจารณญาณและความคิดว่าจะนิยมชมชอบใคร แต่ทางหน่วยทหารเองก็จะให้คำแนะนำให้พิจารณาอย่างรอบคอบ อย่างถี่ถ้วนและข้อมูลที่ถูกต้องให้มากที่สุด ไม่ว่าจะทหารหรือประชาชนถามว่าใครสั่งได้บ้างเมื่อเข้าไปในคูหา สามารถไปตรวจสอบหรือบังคับได้หรือไม่ ทุกคนมีสิทธิเท่ากันหมด” พล.อ.ณรงค์พัน กล่าว 20ก.พ.66

จึงต้องจับตาท่าที ‘กองทัพ’ หลังจากนี้ จนไปถึง ‘ผลการเลือกตั้ง’ โดยเฉพาะจากหน่วยทหาร เพราะ ‘กองทัพ’ ถูกมองเป็นอีก ‘แบ็คอัพ’ ของ พล.อ.ประยุทธ์ มาตั้งแต่ยุค คสช. ว่าทหารยุคนี้ ‘สั่งได้’ หรือจะ ‘เสียงแตก-ฟรีโหวต’ แต่อย่าลืมว่าคูหาในหน่วยทหาร ยังรวมไปถึง ‘ครอบครัวกำลังพล’ ด้วย

หากสุดท้ายแล้วผลการเลือกตั้ง ‘พลิกขั้ว’ จะเกิดเหตุการณ์รัฐประหารขึ้นอีกหรือไม่ ก็ไม่มีใครออกมา ‘ปฏิเสธ’ หรือ ‘รับประกัน’ ได้ เพราะของแบบนี้หากพูดไปก่อน ก็จะ ‘ย้อนเข้าตัว’ ได้

แม้ว่า ‘ขุมกำลังปฏิวัติ’ หน่วยของ ทบ. จะถูกเปลี่ยนโครงสร้างใหม่ มีทั้งที่กลายเป็น ‘ทหารคอแดง’ และมีหน่วยที่ถูกโอนออกนอก ทบ. และ ‘ยุทโธปกรณ์หนัก’ ก็ถูกย้ายออกนอก กทม. ไปแล้ว ทำให้ ‘ปัจจัย’ ในการทำรัฐประหารเปลี่ยนไป จึงมีการตั้งข้อสังเกตว่าจะเกิด ‘รัฐประหารเงียบ’ ในรูปแบบใดหรือไม่

นอกจากนี้ต้องจับตาว่า ‘ผบ.เหล่าทัพ-ปลัดกลาโหม’ ชุดปัจจุบัน ที่มีตำแหน่งเป็น ‘สมาชิกวุฒิสภา' (ส.ว.) จะโหวตเลือกนายกฯ อย่างไร ถือเป็นการ ‘แสดงท่าทีกองทัพ’ กลางสภาฯ ทั้งในกรณีที่เป็นชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ และไม่ใช่ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เท่ากับว่าสถานการณ์ในอนาคต ‘กองทัพ’ ยังคงถูกจับตา และมีผลต่อ ‘สมการอำนาจ’ เป็นหนึ่งใน ‘หมากเกมการเมือง’ ทุกยุคทุกสมัย