ไม่พบผลการค้นหา
สมัชชาคนจน ระดมเครือข่ายเล่นเกมการเมืองก่อนเลือกตั้ง ชวนกว่า 10 พรรคการเมืองร่วม "กำจัดอ้ายคนจน" สะท้อนความจนไม่ใช่แค่เงินทอง แต่รวมถึงโอกาสและอำนาจ หวังอนาคต คนจนจะถูกเข้าใจและแก้ปัญหาอย่างถูกต้องเหมาะสม ไม่ถูกหยิบใช้เป็นเครื่องมือของนายทุนหรือเกมการเมือง

สมัชชาคนจน ร่วมกับ องค์กรภาคี จัดเวทีสาธารณะ “ประชาธิปไตยที่กินได้ การเมืองที่เห็นหัวคนจน” ที่ ลานหน้าหอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยซุ้มสินค้าชุมชนสมัชชาคนจนและเครือข่าย, นิทรรศการ “สิทธิของเกษตรกรและบุคคลอื่นที่ทำงานในเขตชนบท”และ“สถานการณ์คนจน” รวมไปถึงการตั้งโต๊ะระดมชื่อเสนอชื่อยกเลิก คำสั่ง คสช.ของโครงการกฎหมายอินเตอร์เน็ตเพื่อประชาชน โดยมีภาควัฒนธรรม มีการเล่นดนตรีและอ่านบทกวี รวมถึงการแสดงหมอลำกลอน จากพี่น้องปาก มูน จังหวัดอุบลราชธานี สลับเป็นระยะตลอดทั้งวัน

รศ.อนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวเปิดงานระบุว่า คนจนและความจนไม่ได้หมายถึงแค่จนเงินทอง แต่ยังรวมถึงจนโอกาสและจนในอำนาจ โดยเฉพาะ 4-5 ปีที่ผ่านมา ขบวนการคนจนพยายาม ชี้ต้นตอปัญหาและแนวทางแก้ไขให้ผู้มีอำนาจตลอดมา มีการจัดกิจกรรม We Walk แต่ผู้มีอำนาจไม่รับฟัง โดยหวังว่าในอนาคต ความจนและคนจนจะถูกเข้าใจและแก้ปัญหาอย่างถูกต้องเหมาะสม ไม่ให้ความจนและคนจนถูกหยิบใช้เป็นเครื่องมือของนายทุนหรือเกมการเมือง 

ขณะที่ ผศ.สามชาย ศรีสันต์ อาจารย์วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บรรยายพิเศษ “คนจน คนไทย หรือคนอื่น : ประมวลสถานการณ์คนจนในประเทศไทย” ระบุว่า สังคมไทยสังคมประกอบด้วยกลุ่มคน 2 ชนชั้นคือ ผู้ถูกปกครองซึ่งเป็นคนจำนวนมากโดยเฉพาะคนยากจน กับชนชั้นผู้ปกครองซึ่งเป็นคนจำนวนน้อย ขณะที่การนิยามความยากจนนั้น มาจากชนชั้นผู้ปกครอง โดยด้านหนึ่งคือมุมมองว่าคนจนมักโง่และสิ้นคิด ด้าน 2 คือความยากจนที่มาจากการไม่มีเงิน ในยุคอุตสาหกรรม เพราะปรับตัวไม่ทันกับระบบเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ รัฐจึงเร่งให้มีความรู้เพื่อทำงานและให้มีรายได้

ผศ.สมชาย กล่าวว่า การขึ้นทะเบียนคนจนในยุคปัจจุบันมากกว่า 14 ล้านคนและยังมีผู้ตกหล่นไปจำนวนมหาศาลรวมถึงกลุ่มคนไร้สัญชาติในไทยด้วย อีกทั้งการแจกเงินผ่านโครงการต่างๆ ล้วนเป็นลักษณะการสงเคราะห์ และสร้างข้อถกเถียงและอาจนำสู่ความขัดแย้งในอนาคต ท่าม กลางความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่สูงอันดับ 1 ของโลก โดยเสนอให้ใช้ระบบรัฐสวัสดิการ ที่คนชนชั้นเข้าถึงได้อย่างครอบคลุม

ทั้งนี้สมัชชาคนจนได้ออกแถลงการณ์ร่วมกับพรรคการเมือง โดยมีรายละเอียดใจความว่า ตลอด 4 ปี ที่ผ่านมา คสช. ละเลยเพิกเฉยต่อปัญหาคนจน ส่วนการแก้ปัญหาปากท้องของประชาชนนั้น ได้ผ่านนโยบายบัตรสวัสดิการคนจน แต่ก็ไม่ต่างจากนโยบายประชานิยม ที่เอื้อประโยชน์ให้นายทุน

สมัชชาคนจนหวังว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นไปโดยความบริสุทธิ์โปร่งใส สมัชชาคนจนยืนยันว่าจะติดตามตรวจสอบและมีส่วนร่วมในการเลือกตั้งครั้งนี้ เพื่อให้ประชาธิปไตยเดินหน้าอีกครั้ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในงานยังมีกิจกรรม“เกมส์กำจัดอ้ายคนจน” ซึ่งเป็นช่วงสำคัญของงานโดย ดร.เดชรัตน์ สุขกำเนิด อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้ควบคุมเกมส์ แบ่งเป็น 3 ช่วง ประกอบด้วยช่วงที่ 1 ผู้เล่นประกอบด้วย ตัวแทน สมัชชาคนจนจากเครือข่ายต่างๆทั้งเครือข่ายป่าไม้ที่ดิน, เขื่อน, แรงงาน, เครือข่ายสลัม 4 ภาค, เครือข่ายรักษ์สิ่งแวดล้อม และเกษตรกรรมทางเลือก 

ช่วงที่ 2 ผู้เล่นประกอบด้วย รศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, นางสาวภาวิณี ชุมศรี หัวหน้าฝ่ายคดีศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, นายอธึกกิต แสวงสุข ผู้ดำเนินรายการชื่อดังจากวอยซ์ทีวี, รวมทั้งนางสาวฐาปนีย์ เอียดศรีไชย ผู้เล่นในฐานะสื่อมวลชน และยังมีนัก กิจกรรมทางสังคมรวมถึงนักศึกษาร่วมเล่นเกมด้วย

ช่วงที่ 3 ผู้เล่นประกอบด้วย ตัวแทนจากพรรคการเมืองต่างๆ มากกว่า 10 พรรค ซึ่งจะมีการสัมภาษณ์ผู้เล่นเกมส์กำจัดอ้ายคนจน แล้วมีการเล่นดนตรี รวมถึงอ่านบทกวีท่านรายการเป็นระยะ ตลอดทั้งวัน ก่อนที่แถลงการณ์ เตรียมจับตาการเลือกตั้งและรวมพลังเครือข่ายภาคประชาชนเพื่อเสนอปัญหาและแนวทางแก้ไขในอนาคต รวมทั้งตัวแทนสมัชชาคนจนและตัวแทนพรรคการเมือง ร่วมแสดงเจตนารมณ์ ร่วมกันผลักดันนโยบายในการแก้ไขปัญหาคนจน โดยงานนี้ได้รับเกียรติจากนาย สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ปัญญาชนสยามกล่าวปิดงานด้วย