ไม่พบผลการค้นหา
ผลการลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล จำนวน 10 คน เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2564 จบลงส่งผลสะเทือนในทางการเมืองไม่น้อย

ในบรรดา รัฐมนตรีที่ถูกขึ้นเขียงชำแหละในศึกซักฟอกตลอด 4 วันระหว่างวันที่ 16-19 ก.พ. 2564 ผลโหวตไว้วางใจสะท้อนออกมาอย่างเห็นได้ชัด

รัฐมนตรีที่บอบช้ำที่สุด หนีไม่พ้น 'ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ' รัฐมนตรีว่าการกระทรวง (รมว.) ศึกษาธิการ ซึ่งได้คะแนนเสียงไว้วางใจน้อยที่สุด 258 เสียง ทั้งที่พรรคร่วมรัฐบาลมีเสียง ส.ส.ในฝั่งตัวเอง 275 เสียง

วิเคราะห์คะแนนเสียงของ 'ณัฏฐพล' ที่พรรคร่วมรัฐบาลไม่เทให้ พบว่า มาจากพรรคประชาธิปัตย์ คือ พนิต วิกิตเศรษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ อันวาร์ สาและ ส.ส.ปัตตานี พรรคเศรษฐกิจใหม่ 5 คนที่มีใจอยู่กับรัฐบาล ก็ลงมติไม่ไว้วางใจ คน คือ นิยม วิวรรธนดิฐกุล ภาสกร เงินเจริญกุล มนูญ สิวาภิรมย์รัตน์ มารศรี ขจรเรืองโรจน์ และสุภดิช อากาศฤกษ์

นอกจากนี้ยังมีพรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย ดำรงค์ พิเดช ส.ส.บัญชีรายชื่อ ลงมติไม่ไว้วางใจ ส่วนยรรยงก์ ถนอมพิชัยธำรง ส.ส.บัญชีรายชื่อ งดออกเสียง

ประยุทธ์ สภา อภิปรายไม่ไว้วางใจ ลงมติ DB-852047D35E49.jpeg

ในบรรดา ส.ส.พรรคเล็กที่มีพรรคละ 1 เสียง ก็ลงมติไม่ไว้วางใจ ประกอบด้วย พีระวิทย์ เรื่องลือดลภาค ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทรักธรรม พิเชษฐ สถิรชวาล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธรรมไท ขณะที่ คฑาเทพ เตชะเดชเรืองกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังไทยรักไทย ศิลัมพา เลิศนุวัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลเมืองไทย นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังธรรมใหม่ ต่างใช้สิทธิงดออกเสียง

เป็นผลสะเทือนที่เกิดขึ้นหลังผลโหวตไม่ไว้วางใจ เพราะตัวเลขที่ปรากฏนั้น สะท้อนถึงความไม่เป็นเอกภาพนั้น ยังดำรงอยู่ในพรรคร่วมรัฐบาล

เป็นความขัดแย้งของรัฐบาลผสม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มีพรรคการเมืองอยู่ในขั้วรัฐบาลเกือบ 20 พรรค

ยิ่งโฟกัสไปที่ 'พรรคประชาธิปัตย์' แสดงให้เห็นถึงความไม่พอใจภายใน 'พรรคประชาธิปัตย์' และ ความไม่ลงรอยภายใน 'พรรคร่วมรัฐบาล'

จุรินทร์ สภา อภิปรายไม่ไว้วางใจ CD-99EE-B9DDEA36F605.jpeg

สะท้อนได้จากผลการลงมติของ 'พนิต วิกิตเศรษฐ์' และ 'อันวาร์ สาและ' เพราะ 2 ส.ส.ใช้สิทธิแหกมติพรรคร่วมรัฐบาลโดยลงมติงดออกเสียงให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ อนุุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม  พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.ศึกษาธิการ ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ สุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน

แม้แต่ 'จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์' รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ก็ยังถูก ส.ส.ภายในพรรคเดียวกัน คือ 'พนิต-อันวาร์' โหวตงดออกเสียงหัวหน้าพรรคตัวเอง

ขณะที่ 'นิพนธ์ บุญญามณี' รมช.มหาดไทย นั้น 'พนิต' เพียงคนเดียวของพรรคประชาธิปัตย์ ที่ใช้สิทธิงดออกเสียง

ส่วน 'ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า' รมช.เกษตรและสหกรณ์นั้น 'อันวาร์ สาและ' ลงมติไม่ไว้วางใจ พนิต วิกิตเศรษฐ์ ลงมติงดออกเสียง ขณะที่ สาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ ไม่ใช้สิทธิลงคะแนนเสียง

ยังไม่นับเสียงของ 6 ส.ส.ในกลุ่มของ 'วทันยา วงษ์โอภาสี' จากพรรคพลังประชารัฐ ที่ใช้สิทธิงดออกเสียงให้กับ 'ศักดิ์สยาม' จากพรรคภูมิใจไทย

เอกภพ อนุทิน อภิปรายไม่ไว้วางใจ สภา 210219_40.jpg

เป็นรอยร้าวที่เริ่มก่อตัวในพรรคร่วมรัฐบาล

ผลสะเทือนของผลโหวตไม่ไว้วางใจ ยังสะเทือนไปยังพรรคร่วมฝ่ายค้าน

แม้ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2562 จะกำหนดถึงการลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจไว้ใน ข้อ 178 ในการอภิปรายและการลงมติไม่ไว้วางใจ สมาชิกมีอิสระจากพรรคการเมือง ไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมาย หรือความครอบงำใดๆ ก็ตาม

แต่การไม่ปฏิบัติตามมติพรรคย่อมมีบทลงโทษภายในพรรคการเมือง

เห็นได้ชัดจากผลโหวตการลงมติไม่ไว้วางใจของพรรคร่วมฝ่ายค้าน โดยเฉพาะ 4 ส.ส.จากพรรคก้าวไกล ประกอบด้วย ขวัญเลิศ พานิชมาท ส.ส.ชลบุรี คารม พลพรกลาง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พีรเดช คำสมุทร ส.ส.เชียงราย และ เอกภพ เพียรพิเศษ ส.ส.เชียงราย ที่ลงมติไว้วางใจให้กับ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข และศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม พรรคภูมิใจไทย

พรรคเพื่อชาติ เมื่อ 3 ส.ส.ประกอบด้วย เพชรวรรต วัฒนพงศ์ศิรกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ ลินดา เชิดชัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ อารี ไกรนรา ส.ส.บัญชีรายชื่อ แหกโผฝ่ายค้านลงมติไว้วางใจให้กับ ร.อ.ธรรมนัส ขณะที่ ปิยรัชฐย์ ติยะไพรัช ส.ส.บัญชีรายชื่อ สงคราม กิจเลิศไพโรจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ใช้สิทธิงดออกเสียง ให้กับ ร.อ.ธรรมนัส

พรรคเพื่อชาติ โดยเฉพาะ 'อารี ไกรนรา' ซึ่งเป็นคนสนิทของ 'จตุพร พรหมพันธุ์' ประธาน นปช. ลงมติงดออกเสียงให้กับ พล.อ.ประวิตร อนุทิน ศักดิ์สยาม

ผลโหวตแหกโผฝ่ายค้านของ 'พรรคเพื่อชาติ'

ยังไม่นับผลโหวตที่เกิดขึ้นที่ทำให้เกิด 'งูเห่า' ภายในพรรคก้าวไกล

ผลสะเทือนที่เกิดขึ้นทำให้มีเสียงจากวิปฝ่ายค้านแสดงความไม่พอใจไปยัง 'พรรคเพื่อชาติ' ที่ยกพรรคไปลงมติให้กับ ร.อ.ธรรมนัส

ถึงขั้นอยากกดดันให้ 'พรรคเพื่อชาติ' ถอนตัวออกจากพรรคฝ่ายค้านในทันที

ปฏิเสธผลการลงคะแนนเสียงในสภาฯ ในญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลนั้น

เพราะด้วยกติกาตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ที่ออกแบบให้มีรัฐบาลผสมหลายพรรคการเมือง และยังวางกลไกให้สภาผู้แทนราษฎรมีรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ

สมพงษ์ เพื่อไทย ฝ่ายค้าน ก้าวไกล พิธา  รัฐสภา ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 48E-3701-418C-9E50-F3B307247F12.jpeg

เมื่อพรรครัฐบาลมีเสียงภายหลังการเลือกตั้งปี 2562 เดิมที พรรคร่วมรัฐบาลมีเสียงในสภาฯ 263 เสียง ภายหลังการยุบพรรคอนาคตใหม่ มีการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ในบางเขตเลือกตั้ง

ด้วยเวลาเกือบ 2 ปี พรรคร่วมรัฐบาลได้เสียงงูเห่าจากฝ่ายค้าน และได้ที่นั่ง ส.ส.เพิ่มจากการเลือกตั้งซ่อม ส่งผลให้มีเสียงในสภาฯ แล้ว 275 เสียง มากกว่ากึ่งหนึ่งของสภาฯ ในปัจจุบันที่มี ส.ส. 487 เสียง

รอยร้าวในพรรคร่วมรัฐบาลที่เกิดจากผลการลงมติไม่ไว้วางใจ 10 รัฐมนตรีในศักราช 2564

ย่อมมีผลต่ออนาคตทางการเมืองของรัฐบาล พล.อ.ประยุุทธ์ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ด้วยเช่นกัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง