'โฮเรก้า' (HORECA) คือกลุ่มธุรกิจที่ประกอบไปด้วย ธุรกิจโรงแรม (Hotel), ร้านอาหาร (Restaurant), กาแฟและธุรกิจจัดเลี้ยง (Café and Catering) ซึ่งตามข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่ามีมูลค่าสูงถึง 1 ล้านล้านบาท ในปี 2561 และสัดส่วนที่มาจากอาหารอย่างเดียวคิดเป็นมูลค่า 4 แสนล้านบาท หรือ เกือบครึ่งของมูลค่าอุตสาหกรรมทั้งหมด
'สุชาดา อิทธิจารุกุล' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจสยามแม็คโคร กล่าวว่า ในฐานะผู้ประกอบการที่ทำการค้าใกล้ชิดกับกลุ่มธุรกิจโฮเรก้า เมื่อวัดจากฐานลูกค้าของแม็คโครประมาณ 3 ล้านราย พบว่าส่วนใหญ่ยังเติบโตได้ต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการที่ไปขยายฐานในประเทศเพื่อนบ้าน
โอกาสดี ไม่ใช่ไม่ต้องปรับตัว
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่คนในธุรกิจโฮเรก้าทราบกันดีคือ ความสัมพันธ์ของธุรกิจนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยเศรษฐกิจเป็นหลัก แม้ในภาวะเศรษฐกิจไม่คึกคัก หลายธุรกิจประสบยอดจำหน่ายลดลง แต่ธุรกิจกลุ่มโฮเรก้ากลับไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เป็นเพราะเมื่อเศรษฐกิจชะลอตัว รัฐบาลมักออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการเน้นการจับจ่ายใช้สอยก่อน ธุรกิจเหล่านี้จึงโตต่อเนื่องและแทบไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตมากนัก
'สุพรทิพย์ พัฒนยินดี' ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายขาย บริษัท ซินโนว่า จำกัด บริษัทรับผลิตผลิตภัณฑ์เบเกอรี กล่าวว่า แม้ปัจจุบันคู่แข่งในตลาดจะเพิ่มจำนวนสูงขึ้น แต่ก็ไม่ได้เป็นเรื่องยากต่อการทำธุรกิจขนาดนั้น เนื่องจากธุรกิจรับผลิตเบเกอรีเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและค่อนข้างใช้ทุนสูง ดังนั้นคู่แข่งใหม่ๆ ที่ไม่สามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพเพียงพอก็จะถูกผลักให้ออกจากตลาดไปเอง
ขณะที่ อัตราการเติบโตของร้านค้าและโรงแรมต่างๆ ก็เพิ่มขึ้น 'สุพรทิพย์' กล่าวว่า ปัจจุบันเครือโรงแรมในต่างประเทศทยอยเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นโอกาสทางธุรกิจของบริษัท
อีกทั้ง แม้เบเกอรีจะไม่ใช่อาหารหลัก แต่ก็กลายเป็น 'แฟชัน' และ 'เทรนด์' ของสังคม ที่ผู้คนยินดีจ่ายอยู่ดี
"เป็นกลุ่มธุรกิจที่ไม่มีทางที่ (ยอดขาย) จะลดลงเลย แต่ต้องพัฒนาเสมอ" สุพรทิพย์ กล่าว
'สุพรทิพย์' ทิ้งท้ายว่า ทุกอย่างก็วนกลับมาอยู่ที่คุณภาพของสินค้า คนทำเบเกอรีของบริษัทยังคงต้องตั้งใจทำเค้กทุกก้อนอยู่ดี ยังต้องคงมาตรฐานเอาไว้อยู่ดี และที่สำคัญต้องไม่คิดราคาขายสูงเกินไป เพราะผู้มารับซื้อเองก็ยังต้องการกำไรเช่นเดียวกัน
ด้าน 'ฐิตาภา สนอินทร์' ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายโมเดิร์นเทรด บริษัท ง่วนเชียง อุตสาหกรรมอาหาร จำกัด กล่าวในมุมมองของบริษัท ซึ่งอยู่ในตลาดที่คงที่มากว่า 100 ปี ว่า ตลาดซอสเองค่อนข้างทรงตัว แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า บริษัทจะสามารถหยุดนิ่งและไม่พัฒนาสินค้าของตัวเองได้
'ฐิตาภา' ชี้่ว่า การเข้าใจผู้บริโภคเป็นเรื่องสำคัญ เธอกล่าวว่าผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ของบริษัทมองลงไปถึงเมื่อลูกค้าทำกับข้าวและต้องการกลิ่นหรือรสของซอสที่ไหม้กระทะเล็กน้อยจนผลิตสินค้าตัวใหม่ เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถได้รับความรู้สึกแบบนั้นอีกครั้ง
นอกจากนี้ บริษัทก็ตามเทรนด์สม่ำเสมอ 'ฐิตาภา' อธิบายว่า เนื่องจากกระแสชานมไข่มุกมาแรงมาก จนร้านค้าเปิดตัวขึ้นแทบทุกแห่ง บริษัทจึงผลิตซอสหวานที่จะใช้หมักไข่มุกออกมาเพื่อมาจับตลาดตรงนี้เช่นเดียวกัน
ปิดท้ายที่ 'ศิริลักษณ์ มัทวกาญจน์' ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารภาพลักษณ์องค์กร บริษัท พี.เอฟ.พี. เทรดดิ้ง กล่าวว่า แท้จริงแล้วบริษัทเน้นผลิตผลิตภัณฑ์เนื้อปลาแช่แข็ง แต่ก็มีความพยายามขยายตลาดไปจับสินค้ากลุ่มอื่นๆ เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะสินค้าเพื่อสุขภาพซึ่งกำลังเป็นเทรนด์ที่มาแรง
'ศิริลักษณ์' ชี้ว่า ธุรกิจมีอุปสรรคตลอด แต่ก็สามารถปรับตัวได้จากข้างในองค์กรทั้งพนักงานและการนำนวัตกรรมต่างๆมาประยุกต์ใช้ไม่ให้ตกเทรนด์ แต่สุดท้ายแล้ว ก็มองว่าอุตสาหกรรมอาหารยังโตได้ต่อเนื่อง
คงกล่าวได้ชัดเจนว่าอุตสาหกรรมอาหารและธุรกิจเกี่ยวข้องเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่โชคดีและเติบโตได้ต่อเนื่องจากการเป็นปัจจัยสำคัญในชีวิตของผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม ข้อได้เปรียบเหล่านั้นจะไม่ช่วยให้ผู้ประกอบการประสบความสำเร็จได้ หากตัวผู้ประกอบการไม่พัฒนาสินค้าและบริการให้สอดรับกับเทรนด์ต่างๆ
การมีข้อได้เปรียบเป็นสิ่งที่ดีเสมอ แต่จะดียิ่งกว่าถ้านำข้อได้เปรียบนั้นมาพัฒนาให้เกิดการต่อยอด ไม่ใช่ปล่อยให้สูญเปล่าไป