ไม่พบผลการค้นหา
สมศักดิ์ เผย ราชทัณฑ์ส่ง ตะวัน-แบม ออกไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์แล้ว หลังอดน้ำ-อาหาร 7 วัน ทั้งคู่ยังปฏิเสธการรักษา ด้าน รพ.ราชทัณฑ์ หวั่นอาการหนัก มองว่าชีวิตผู้ต้องขังสำคัญที่สุด โดยยืืนยันจะดูแลตามหลักสิทธิมนุษยชน-มาตรฐานสากล ดูแลผู้ต้องขังเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ

วันที่ 26 มกราคม 2566 สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยถึงกรณีผู้ต้องขังหญิง นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ขอย้ายไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ว่า ล่าสุด กรมราชทัณฑ์ ได้รายงานมาว่า ผู้ต้องขังหญิงทั้ง 2 ราย คือ ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และอรวรรณ ภู่พงษ์ หลังปฏิเสธการรักษาจากทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ได้ถูกส่งตัวไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ เรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่วันที่ 24 มกราคมที่ผ่านมา ตามความประสงค์ของผู้ต้องขัง ซึ่งเป็นไปตามระเบียบของกรมราชทัณฑ์ 

สมศักดิ์ กล่าวว่า กรณีของทานตะวัน และอรวรรณ ได้ขอถอนการประกันตัวเอง จึงต้องกลับเข้าทัณฑสถานหญิงกลาง เมื่อวันที่ 16 มกราคมที่ผ่านมา และเริ่มงดน้ำและอาหารเอง ตั้งแต่ช่วงเย็นของวันที่ 18 มกราคม จากนั้น ถูกส่งเข้ารับการรักษาตัวที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ เมื่อวันที่ 20 มกราคม แต่ทั้งคู่แจ้งความประสงค์ขอไม่รับการรักษา พร้อมได้ลงนามปฏิเสธการรักษา และขอให้ส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ โดยทั้งคู่ มีอาการอ่อนเพลีย ไม่มีแรง คลื่นไส้ วิงเวียนศรีษะ ดังนั้น เพื่อคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ต้องขังหญิงทั้ง 2 ราย จึงพิจารณาเห็นสมควร ให้ส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลภายนอก 

“การส่งผู้ต้องขังออกไปรับการรักษายังโรงพยาบาลภายนอก ตามที่ผู้ต้องขังร้องขอ หลังอดน้ำและอาหาร มาเป็นเวลากว่า 7 วัน ก็เพราะเรามองเห็น ชีวิตของผู้ต้องขังเป็นสำคัญที่สุด ถ้ายังไม่ส่งตัวไปรักษาภายนอก ผู้ต้องขังที่ปฏิเสธการรักษาอาจเกิดอาการหนักจนถึงขั้นวิกฤติ ดังนั้นตามหลักสิทธิมนุษยชน จึงได้ส่งตัวไปรักษาภายนอกแล้ว ซึ่งเป็นการปฎิบัติตามมาตรฐานการปฎิบัติงานด้านการควบคุมผู้ต้องขังที่อดอาหาร โดยยึดตามหลักมาตรฐานสากล ทั้ง แพทย์สมาคมโลก ปฏิญญาโตเกียว ปฏิญญามอลตาว่าด้วยผู้อดอาหารประท้วง โดยผมขอยืนยันว่า การดูแลผู้ต้องขังในเรือนจำ เป็นไปตามมาตรฐาน และดูแลผู้ต้องขังเหมือนกันอย่างเท่าเทียม ไม่มีการเลือกปฎิบัติแต่อย่างใด“ รมว.ยุติธรรม กล่าว

แพทยสมาคมโลก ได้กำหนดคู่มือสำหรับแพทย์ที่ต้องเกี่ยวข้องกับการอดอาหารประท้วงอย่างน้อย 2 ครั้ง ได้แก่ คำประกาศโตเกียว 1975 และ คำประกาศมอลตา 1991 โดยสาระสำคัญของคำประกาศโตเกียวคือ ห้ามแทรกแซงทางการแพทย์ไม่ว่าจะในรูปแบบใดก็ตาม ไม่ว่าจะเพื่อทรมาน หรือลดทอนการรักษา โดยระบุว่า แพทย์ไม่ควรเป็นส่วนหนึ่งของการบังคับให้อาหารแก่ผู้ถูกคุมขัง

ส่วนสาระสำคัญของคำประกาศมอลตาคือ การกระทำใดๆ ของเแพทย์ ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ประท้วงอดอาหาร เพื่อดำรงไว้ซึ่งเจตจำนงเสรี และเพื่อให้ผู้อดอาหารประท้วงมีสิทธิจะได้ตายอย่างมีเกียรติ