นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผยว่า กระทรวงสาธารณสุข กำหนดให้วันเสาร์แรกของ มี.ค. ของทุกปีเป็นวันรณรงค์ป้องกันเด็กจมน้ำ สาเหตุที่ทำให้เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีเสียชีวิตสูงเป็นอันดับ 1 มากกว่าโรคติดเชื้อและไม่ติดเชื้อ ในรอบ 10 ปี พบว่าเด็กจมน้ำเสียชีวิตเฉลี่ยสูงถึงปีละ 904 คน หรือวันละ 2.5 คน ช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อนมีเด็กจมน้ำเสียชีวิตสูงสุดทุกปี
เดือน มี.ค. – พ.ค. ปีที่ผ่านมา (2561) มีเด็กจมน้ำเสียชีวิตถึง 231 คน คิดเป็นร้อยละ 34 ของเด็กที่จมน้ำตลอดทั้งปี เกือบครึ่งหนึ่งของเหตุการณ์พบว่าเป็นการชวนกันไปเล่นน้ำเป็นกลุ่มตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ส่วนใหญ่ขาดทักษะการเอาชีวิตรอดในน้ำและไม่รู้วิธีการช่วยเหลือที่ถูกต้อง แหล่งน้ำที่เด็กจมน้ำมากที่สุด คือ แหล่งน้ำตามธรรมชาติ ได้ให้ทุกจังหวัดร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลดอัตราการเสียชีวิตจากการจมน้ำของเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีลงร้อยละ 50 ภายในปี 2564 หรือจำนวนการเสียชีวิตต้องไม่เกิน 360 คน
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ปีนี้ กรมควบคุมโรค ชวนประชาชนช่วยกันรณรงค์ “บ้านเริ่ม ชุมชนร่วม ป้องกันเด็กจมน้ำ” ช่วงปิดเทอมฤดูร้อน เพื่อให้ผู้ปกครอง ผู้ดูแลเด็ก และชุมชนตระหนักถึงโอกาสเสี่ยง วิธีการป้องกันการจมน้ำ รวมทั้งร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผลักดันให้เกิดทีมผู้ก่อการดี อย่างน้อยตำบลละ 1 ทีมช่วยกันดำเนินการ อาทิ การจัดการแหล่งน้ำเสี่ยง สอนหลักสูตรว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด ฝึกปฏิบัติการช่วยฟื้นคืนชีพ (CPR) เป็นต้น
อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวต่อว่า ในการช่วยคนจมน้ำขอให้ใช้มาตรการ “ตะโกน โยน ยื่น” โดย ตะโกน เรียกให้ผู้ใหญ่มาช่วยโยนอุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัวเพื่อช่วยคนตกน้ำเกาะจับพยุงตัว เช่น ถังแกลลอนพลาสติกเปล่า หรือวัสดุที่ลอยน้ำได้โดยโยนครั้งละหลายๆ ชิ้น และยื่นอุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัวให้คนตกน้ำจับ เช่น ไม้ เสื้อ ผ้าขาวม้า ให้คนตกน้ำจับและดึงขึ้นมาจากน้ำ หลังจากช่วยคนจมน้ำขึ้นมาจากน้ำกรณีไม่หายใจให้รีบทำการช่วยฟื้นคืนชีพ (CPR) โดยเป่าปากและกดหน้าอก
ทั้งนี้ เน้นย้ำห้ามจับคนจมน้ำอุ้มพาดบ่าหรือกระแทกเอาน้ำออก เนื่องจากเป็นวิธีการช่วยเหลือที่ผิด และรีบโทรแจ้งทีมแพทย์กู้ชีพ 1669