การชุมนุมในนามราษฎร (2563) เรียกร้องรัฐบาลยุบสภาและปฏิรูปโครงสร้างการเมืองไทย ต่อเนื่องเข้าสู่วันที่ 7 และยุติลงเมื่อประมาณเวลา 20.30 น.วันที่ 19 ต.ค.2563 หลังจากนั้นมีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจในเครือข่ายสังคมออนไลน์ 'ทวิตเตอร์' ในประเทศไทย เพราะแฮชแท็ก #อนุชนรักชาติศาสน์กษัตริย์ ติดอันดับ 1 เทรนด์ยอดนิยมของทวิตเตอร์เมื่อเวลา 22.00 น. หลังจากมีผู้ทวีตข้อความพร้อมแฮชแท็กดังกล่าวกว่า 100,000 ครั้ง
ผู้ใช้ทวิตเตอร์ที่ติดแฮชแท็กดังกล่าวส่วนใหญ่ระบุว่าเป็นเรื่องน่ายินดีที่มีแฮชแท็กนี้เกิดขึ้นและติดอันดับยอดนิยมของทวิตเตอร์ บ่งชี้ว่ายังมีพลังเงียบอีกเป็นจำนวนมากที่เห็นด้วยกับแฮชแท็กนี้
ผู้ใช้ทวิตเตอร์ที่สมัครใช้งานมานาน มีการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง ยืนยันตัวตนได้ และมีผู้ติดตามหลายพันคน มีจำนวนไม่น้อยที่ติดแฮชแท็กนี้ พร้อมย้ำว่า นี่ไม่ใช่บัญชีที่สมัครขึ้นเพื่อปฏิบัติการด้านข้อมูลข่าวสาร (IO) และส่วนใหญ่จะบอกเล่าประสบการณ์และความประทับใจที่เกี่ยวโยงกับการติดแฮชแท็กดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ผู้ใช้ทวิตเตอร์จำนวนหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่าผู้ทวีตหรือรีทวีตแฮชแท็ก #อนุชนรักชาติศาสน์กษัตริย์ อีกจำนวนไม่น้อย มีลักษณะคล้ายบัญชี IO เพราะเพิ่งสมัครใช้งานได้ไม่นาน ส่วนใหญ่เริ่มทวีตเดือน พ.ค.-มิ.ย. 2563 ทั้งยังมีการรีทวีตข้อความที่มีแฮชแท็กดังกล่าวเป็นจำนวนมากในเวลาเพียงสั้นๆ และเนื้อหาของทวีตเหล่านี้โจมตีผู้ที่ออกมาชุมนุมกับกลุ่มราษฎรอย่างชัดเจน
นอกจากนี้ยังมีแฮชแท็ก #กูบอกให้มึงยกระดับการชุมนุม ที่ในระยะแรกมีข้อความทำนองสนับสนุนให้เปลี่ยนจากการชุมนุมโดยสันติวิธีไปใช้วิธีอื่นๆ เนื่องจากแกนนำถูกจับกุมจนหมดแล้ว แต่ก็มีผู้ใช้ทวิตเตอร์จำนวนมากที่เห็นแย้ง และตั้งข้อสงสัยว่า แฮชแท็กดังกล่าวอาจเกิดจากการปั่นกระแสของ IO อีกเช่นกัน
ข้อความของผู้ใช้ทวิตเตอร์รายอื่นๆ ที่ติดแฮชแท็ก #กูบอกให้มึงยกระดับการชุมนุม ในช่วงดึกจึงเป็นการรีทวีตเพื่อแจ้งว่าให้ระวังปฏิบัติการของกลุ่มผู้ไม่หวังดีที่ต้องการยั่วยุให้เกิดความรุนแรงผ่านแฮชแท็กนี้
อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการตั้งข้อสงสัยเรื่อง IO เพราะก่อนหน้านี้ทวิตเตอร์ได้ออกมายืนยันผ่านรายงานการตรวจสอบบัญชีปลอมในไทย พบว่ามีการสมัครใช้งานทวิตเตอร์ที่เกี่ยวข้องกับกองทัพบกที่มีปฏิบัติการ IO โดยอ้างอิงจากเลขที่ไอพีและพิกัดการล็อกอินเข้าใช้งาน
ส่วนเนื้อหาที่ IO ทวีตส่วนใหญ่คือการประชาสัมพันธ์เฉพาะข้อดีของกองทัพ แต่โจมตีผู้ที่เห็นต่างจากรัฐบาลและกองทัพ ซึ่งหลักๆ คือพรรคการเมืองฝ่ายค้าน และกองทัพออกมากล่าวว่า รายงานของทวิตเตอร์ไม่เป็นความจริง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: