ชื่อนั้นสำคัญไฉน ‘วอยซ์’ ขอพาย้อนไปดูเคสตัวอย่างในจังหวัดชายแดนใต้ ระดับตั้งชื่อผิดชีวิตเปลี่ยน กลายเป็นความขัดแย้งระหว่างทางการไทยกับชาวบ้าน
บ้านบลีดอ หมู่ 8 ต.บาราเฮาะ อ.เมือง จ.ปัตตานี หมู่บ้านแห่งนี้ตั้งอยู่ริมแม่น้ำปัตตานี คำว่า “บลีดอ” เป็นภาษามลายูถิ่น หมายถึง ปลากราย ซึ่งมีอยู่ชุกชุมในบึงของหมู่บ้าน โดยเฉพาะช่วงฤดูน้ำหลากของทุกปี ชาวบ้านจึงเรียกหมู่บ้านแห่งนี้ว่า “กัมปงบลีดอ” หมายถึงหมู่บ้านปลากราย
ข้อมูลบอกว่าเมื่อประมาณ 200 ปีก่อน มีชายหนุ่มชื่อ สุหลง และเซ็ง เดินทางมาจากรัฐกลันตัน มาเลเซีย เพื่อมาศึกษาเล่าเรียนวิชาศาสนาที่ปอเนาะในปัตตานี หลังจากนั้นก็ตั้งรกรากที่หมู่บ้านแห่งนี้และได้สมรสกับหญิงปัตตานี และเป็นผู้ก่อตั้ง “ปอเนาะบลีดอ” เพื่อใช้สอนศาสนาและภาษามลายู ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือเสมือนบิดา และเรียกนายสุหลงว่า “โต๊ะบลีดอ”
ปัจจุบันบุคคลสำคัญในหมู่บ้านที่สืบเชื้อสายมาจาก “โต๊ะบลีดอ” คือ นายฮัจญีอับดุลรอนิง แวนิ อิหม่ามประจำมัสยิด “บลีดอ” ชาวบ้านหมู่บ้าน “บลีดอ” ล้วนแล้วแต่เป็นลูกหลานของนายสุหลงทั้งสิ้น
ในบรรดาหมู่บ้านนับพันของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หมู่บ้าน “บลีดอ” เป็นหมู่บ้านที่มีปัญหาเกี่ยวกับป้ายชื่อหมู่บ้านมากที่สุด เนื่องจากประมาณปี พ.ศ. 2535 มีการตัดถนนลาดยางเข้าสู่หมู่บ้านโดยสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบทจังหวัดปัตตานี (รพช.)
เมื่อเสร็จสิ้นการดำเนินงาน ทาง รพช. ได้ติดตั้งป้ายชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านปิดอ” โดยไม่ได้ปรึกษาชาวบ้าน ความเร่งรัดและไม่รอบคอบในครั้งนั้นสร้างความคับข้องใจให้กับชาวบ้านเป็นอย่างยิ่ง เพราะคำว่า “ปิดอ” หมายถึงอวัยวะเพศหญิงและชาย หลังจากนั้นประมาณ 4-5 ปี ป้ายชื่อดังกล่าวก็ถูกทำลายเหลือไว้แค่เพียงเสา
ต่อมาในปี พ.ศ. 2539 กรมชลประทานได้เข้ามาพัฒนาและปรับปรุงบึงในหมู่บ้าน โดยได้ขึ้นป้ายชื่อว่า “บึงปรีดอ” ตามชื่อหมู่บ้าน “ปรีดอ” ดังที่ปรากฏในชื่อทะเบียนหมู่บ้าน อ.เมือง จ.ปัตตานี
แม้ว่าปัจจุบันชื่อของหมู่บ้านจะเปลี่ยนจาก “บ้านปิดอ” เป็น “บ้านปรีดอ” แล้ว แต่ชื่อที่ถูกต้องและต้องเปลี่ยนมาใช้คือ “บ้านบลีดอ”
บ้านกือปาลอบาตัส เกาะกาโป หมู่ 3 ตำบลบันนังสตา อ.บันนังสตา จ.ยะลา มีความหมายว่า “หัวถนนเตาปูน” คำว่า “กือปาลอ” แปลว่า หัว “บาตัส” แปลว่า ถนน และคำว่า “เกาะ” แปลว่า “เตาเผา” “กาโป” แปลว่า “ปูน” ชาวบ้านนำคำทั้งหมดมารวมกันเรียกเป็นชื่อหมู่บ้านว่า “กือปาลอบาตัส เกาะกาโป”
“กือปาลอบาตัส” มีที่มาจากชื่อเรียกหัวถนนของถนนสายหนึ่งในหมู่บ้าน หัวถนนดังกล่าวเป็นทางแยกจากถนนสายหลัก ยะลา-เบตง สามารถเดินทางไปยังเขื่อนบางลางได้ ส่วนคำว่า “เกาะกาโป” นั้นมาจากการที่หมู่บ้านแห่งนี้เป็นแหล่งผลิตปูนขาว (กาโป) โดยชาวบ้านนำปูนขาวไปเผาในเตาเผา (เกาะ)
เตาเผาปูนดังกล่าวตั้งอยู่ในบริเวณทุ่งนา ชาวบ้านก่อสร้างเตาเผาปูนโดยการขุดดินเป็นหลุม ปัจจุบันสถานที่ตั้งของเตาเผาปูนอยู่ห่างจากสะพานจาเราะกือโระห์ประมาณ 500 เมตร และยังคงมีร่องรอยหลงเหลืออยู่บ้าง ปัจจุบันชาวบ้านได้ใช้บริเวณดังกล่าวทำเรือกสวนไร่นา
ในอดีตป้ายชื่อหมู่บ้านและป้ายชื่อโรงเรียนใช้ชื่อว่า “เฆาะกาโป” เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2534 ทางการได้เข้าไปตัดถนนผ่านหมู่บ้านจากอำเภอบันนังสตาไปยังอำเภอเบตง และได้ขึ้นป้ายชื่อหมู่บ้านและโรงเรียนใหม่ว่า “บ้านเงาะกาโป” ที่เพี้ยนมาจากคำว่า “เกาะกาโป” ซึ่งไม่ตรงตามความจริง
บ้านลาดอ หมู่ 3 ต.บาราเฮาะ อ.เมือง จ.ปัตตานี บ้าน “ลาดอ” มีความหมายว่า “พริก” หมู่บ้านแห่งนี้ตั้งอยู่ติดกับแม่น้ำปัตตานี มีสภาพดินที่อุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การประกอบอาชีพด้านการเกษตร ชาวบ้านนิยมปลูกพืชสวนและพืชไร่หลากหลายชนิด เช่น พริกขี้หนู พริกหยวก แตงกวา แตงโม มันสำปะหลัง อ้อย มะระ ถั่วฝักยาว ข้าวโพดและอื่นๆ
นอกจากนี้ ความอุดมสมบูรณ์ของดินยังทำให้ชาวนาสามารถทำนาได้ถึงปีละ 2 ครั้ง ทั้งนาปีและนาปรัง ในบรรดาพืชพันธุ์นานาชนิดเหล่านั้น พริกขี้หนูและพริกหยวกนับเป็นพืชที่ให้ผลผลิตมากที่สุด จึงเป็นที่มาของการเรียกชื่อหมู่บ้านแห่งนี้ว่า “กัมปงลาดอ” แปลว่า “หมู่บ้านพริก”
ราว 50 ปีก่อน “หมู่บ้านลาดอ” ยังไม่มีโรงเรียน เด็กๆ ในหมู่บ้านต้องไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนที่อยู่ไกลจากหมู่บ้าน ชาวบ้านจึงขอให้ทางราชการสร้างโรงเรียนประถมขึ้นในหมู่บ้าน เมื่อโรงเรียนถูกสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว ทางการได้ย้ายครูใหญ่มาเป็นครูใหญ่คนแรกของโรงเรียน โดยตั้งชื่อว่า “โรงเรียนบ้านลัดดา” หลังจากนั้นทางการก็ได้ติดตั้งป้ายชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านลัดดา” ตามชื่อโรงเรียน
แต่ “ลัดดา” เป็นคำในภาษาไทย แปลว่า “เถาวัลย์” แม้จะอ่านออกเสียงใกล้เคียงกับคำว่า “ลาดอ” ในภาษามลายูถิ่น แต่ก็ไม่ตรงกับความหมายเดิมของชื่อหมู่บ้านเป็นสาเหตุให้ชาวบ้านร่วมกันลงมติให้เปลี่ยนชื่อหมู่บ้านจาก “ลัดดา” เป็น “ลาดอ” ดังเดิม
ทั้งหมดเป็นข้อมูลบางส่วนจากโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการ : “ชื่อบ้านนามเมืองในพื้นที่ชายแดนใต้” ในปี 2557 จัดทำโดยศูนย์อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นและสิ่งแวดล้อมจังหวัดชายแดนภาคใต้ (PUSTA) สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา สถาบันภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา
ซึ่งถูกสรุปว่าเป็นตัวอย่างจากอีกกว่า 1,700 หมู่บ้านในพื้นที่ที่มีปัญหาเรื่องชื่อจากราชการไทย