วันที่ 21 พ.ย. 2565 ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้ตั้งคำถามต่อความโปร่งใสของกระบวนการเจรจากับกลุ่มทุนเพื่อมอบสิทธิ์ถ่ายทอดสดบอลโลก จากกรณีที่การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ให้สิทธิ์กลุ่มทรูในการเลือกแมทช์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกก่อน จากนั้นแมทช์ที่เหลือ 32 นัด จึงค่อยกระจายไปช่องทีวีดิจิทัลต่างๆ จับสลากกัน และยังมีเงื่อนไขในการกีดกันไม่ให้ประชาชนที่ติดตามชมในระบบ IPTV, ระบบอินเทอร์เน็ต, ระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่, และระบบ OTT ซึ่งทำให้ประชาชนที่ติดตามผ่านระบบอินเตอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือไม่สามารถติดตามฟุตบอลโลกได้ ซึ่งผิดกฎระเบียบของกสทช.ในเรื่อง must carry ที่จะต้องเผยแพร่ให้ได้รับชมในทุกช่องทางอย่างทั่วถึง และเท่าเทียม
โดยศิริกัญญา ตั้งคำถามถึงกระบวนการเจรจาและการทำข้อตกลงระหว่าง กกท. และกลุ่มทุนบริษัทต่างๆ ว่ามีความโปร่งใสหรือไม่ เงื่อนไขที่กลุ่มทรูได้รับมีการประเมินมูลค่าอย่างไร ได้นำเงื่อนไขเดียวกันนี้ไปเสนอกับผู้ให้บริการทีวีดิจิทัล หรือ IPTV เจ้าอื่นๆ อย่าง 3BB TV AIS Play Box ด้วยหรือไม่ เพราะอาจมีเอกชนรายอื่นให้ข้อเสนอที่ดีกว่า กลายเป็นกลุ่มทรูเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตกระจายเสียงเพียงรายเดียวที่จ่ายเงินสนับสนุนค่าลิขสิทธิ์
ศิริกัญญากล่าวว่าความวุ่นวายของการถ่ายทอดฟุตบอลโลกในครั้งนี้ องค์กรที่ควรต้องออกมาพูดอะไรมากที่สุดคือ กสทช. ในฐานะหน่วยงานที่ใช้เงินของรัฐจ่ายค่าลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกมากที่สุด และเงินที่นำมาอุดหนุนค่าลิขสิทธิ์เป็นเงินที่เบียดบังมาจากงบประมาณที่จัดไว้สำหรับการเข้าถึงระบบโทรคมนาคมของกลุ่มเปราะบางทางสังคม แต่เงื่อนไขการถ่ายทอดฟุตบอลโลกที่เอกชนอ้างกลับเป็นการกึ่งบังคับให้คนที่ต้องการติดตามบอลโลกต้องเป็นลูกค้าทรู
“เงื่อนไขที่กลุ่มทรูได้ คือร่วมจ่าย 300 ล้านบาท ได้ถ่าย 32 คู่รวมคู่เปิด-ปิด แถม Exclusive deal ต้องเป็นลูกค้าทรูถึงจะดูผ่าน กล่อง หรือแอพทรูไอดีได้ กสทช.ในฐานะเจ้าของเงินลิขสิทธิ์ครึ่งนึงจะไม่พูดอะไรเลยหรอคะ ในวันที่กฎระเบียบมีปัญหาจนไม่มีเอกชนมาประมูลแล้วต้องควักเงินจ่าย 600 ล้านบาท นั้น กสทช. กลับไม่แก้กฎ ดังนั้นในวันนี้ อย่างน้อยที่สุด กสทช. ต้องกำกับดูแล อย่าปล่อยให้เอกชนเล่นตุกติก เจรจาลับกับ กกท. แล้วได้รับสิทธิพิเศษยกเว้นกฎ Must Carry ทำให้ลูกค้าทรูเท่านั้นที่จะได้ดูฟุตบอลครบทุกแมทช์แบบคมชัด แต่ประชาชนที่ไม่จ่ายต้องไปดิ้นรนหาช่องทางติดตามฟุตบอลโลกกันเอาเอง” ศิริกัญญา กล่าวทิ้งท้าย