กรมสรรพากรสามารถจัดเก็บรายได้สะสม 4 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2568 (ตุลาคม 2567 - มกราคม 2568) ได้ 646,217 ล้านบาท สูงกว่าช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อน 23,426 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 3.8 และสูงกว่าประมาณการจัดเก็บภาษีสรรพากรตามเอกสารงบประมาณ 7,588 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 1.2 โดยกรมสรรพากรสามารถจัดเก็บภาษีได้สูงกว่า ประมาณการทุกเดือน หากพิจารณาเฉพาะภาษีที่กรมสรรพากรเป็นผู้จัดเก็บโดยไม่รวมหน่วยงานอื่นจัดเก็บให้ กรมสรรพากรสามารถจัดเก็บได้ 488,065 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อน 25,973 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 5.6 และสูงกว่าประมาณการ 11,857 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 2.5
นายปิ่นสาย สุรัสวดี อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า “กรมสรรพากรมุ่งเน้นการขยายฐานภาษีและการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี จึงสามารถจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการบริโภคภายในประเทศ (ภ.พ. 30) สะสม 4 เดือนแรกได้สูงกว่าปีก่อน 20,730 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 13 และสูงกว่าประมาณการ 16,585 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 10.4 อย่างไรก็ดี ภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าสะสม 4 เดือนแรกจัดเก็บได้ต่ำกว่าปีก่อนร้อยละ 2.7 และต่ำกว่าประมาณการร้อยละ 3.1 ซึ่งกรมสรรพากรได้ร่วมกับกรมศุลกากรติดตามการจัดเก็บภาษีอย่างใกล้ชิด จึงทำให้การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าใน เดือนมกราคม 2568 สูงกว่าปีก่อน 2,470 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 7.9 และสูงกว่าประมาณการ 804 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 2.4
ขณะนี้อยู่ในช่วงเวลาของการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภ.ง.ด.90/91 กรมสรรพากรขอแนะนำผู้มีเงินได้ถึงเกณฑ์ยื่นแบบฯ ตามที่กฎหมายกำหนดให้ยื่นแบบฯ ประจำปีภาษี 2567 ตรงตามข้อเท็จจริง โดยสามารถยื่นแบบฯ ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้ถึงวันที่ 8 เมษายน 2568”
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานสรรพากรทุกแห่งทั่วประเทศ หรือศูนย์สารนิเทศสรรพากร (RD Intelligence Center) โทร. 1161