ไม่พบผลการค้นหา
รองโฆษกพรรคประชาชาติ ระบุกรณี "ประยุทธ์" ประกาศล็อกเก้าอี้ กลาโหม-มหาดไทย-คลัง-คมนาคม ให้พรรคพลังประชารัฐ เข้าข่ายครอบงำ ส่อขัดรัฐธรรมนูญ

นายสุพจน์ อาวาส รองโฆษกพรรคประชาชาติ ระบุว่ารู้สึกตกใจที่พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา จู่ๆ ออกมาประกาศต่อสื่อมวลชนว่าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ต้องดูแลกระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการคลัง และกระทรวงคมนาคม รวมถึงต้องการให้ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นรองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

พร้อมกับระบุว่า การกระทำข้างต้นขัดกับมาตรา 92 (3) และ มาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ที่ระบุว่า "ห้ามมิให้พรรคการเมืองยินยอมหรือกระทำการอันใดทำให้บุคคลอื่น ซึ่งมิใช่สมาชิกพรรคกระทำการอันเป็นการควบคุม ครอบงำ หรือ ชี้นำกิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทำให้พรรคการเมืองหรือสมาชิกขาดความอิสระ ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม"

ดังนั้น จึงเห็นว่าคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สามารถยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรคพลังประชารัฐ ได้ หรือ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อาจพลั้งเผลอและยังแยกไม่ออกว่า ขณะนี้ต้องเล่นบทอะไรที่ให้เหมาะกับสถานการณ์


" เรื่องนี้น่าจะมีมูลและเข้าข่ายควบคุม ครอบงำ หรือ ชี้นำ พปชร. เพราะในเวลาต่อมา คสช.ออกมาแก้เกี้ยวและระบุว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา แค่เป็นห่วงและไม่มีนัยอะไรแอบแฝง เข้าลักษณะโยนหินถามทางเพื่อดูว่าพรรคร่วมต่างๆ จะมอง หรือ สะท้อนต่อท่าทีของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีของ พปชร.อย่างไร" นาย สุพจน์ อาวาส กล่าว

นอกจากนี้ นายสุพจน์ อาวาส ยังกล่าวเสริมว่า (1) ความเป็นนายกรัฐมนตรีตามที่ได้รับการเสนอชื่อยังไม่เกิดแถมยังไม่มีการเลือก (2) พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชายังมิได้เป็นสมาชิก พปชร. (แต่ถ้าเป็นก็ยิ่งน่าตกใจและแสดงว่าการเลือกตั้งที่ผ่านมามีการใช้อำนาจรัฐหนุนเสริม พปชร.และส่งผลให้การเลือกตั้งหมิ่นเหม่ไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม หรือ เอื้อและอำนวยต่อ พปชร.)

และ (3) หน้าที่ในการพิจาณาและเสนอชื่อ หรือ ฟอร์มทีมฝ่ายบริหารเป็นหน้าที่ของหัวหน้าและกรรมการบริหาร รวมถึง สมาชิกพรรค ดังนั้น การที่พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกมาพูดภายใต้กรอบเวลาที่ไม่เหมาะสมและไม่อยู่ในสถานะที่ต้องพูด จึงไม่เห็นจะเป็นประโยชน์อะไร หรือ ว่าคุ้นชินและถือปฏิบัติเป็นปกติวิสัย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :