วันที่ 18 ส.ค. 2565 ชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ รองโฆษกพรรคเพื่อไทย และว่าที่ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสุรินทร์ กล่างถึงกรณีที่นางสาววทันยา บุนนาค ลาออกจากจาก ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อและสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) โดยอ้างเหตุผลว่า การประชุมร่วมรัฐสภาเมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2565 ไม่สามารถตอบสนองเจตนารมณ์ของประชาชนที่ฝากความหวังให้ ส.ส.ปฏิบัติหน้าที่ได้นั้น อยากให้นางสาววทันยา ทำความเข้าใจกับระเบียบการประชุมรัฐสภา และการทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญให้ถี่ถ้วน เพราะการไม่กดปุ่มแสดงตนเป็นองค์ประชุมในการประชุมใดๆ เป็นสิทธิ์ที่สมาชิกสามารถทำได้ ซึ่งแตกต่างกันกับการขาดประชุม หรือไม่มาลงชื่อเข้าประชุมที่หน้าห้อง
โดยในอดีตเสียงข้างน้อยในการประชุมรัฐสภา หรือสภาผู้แทนราษฎรเอง ก็มีการแสดงเจตจำนงไม่ร่วมเป็นองค์ประชุมอยู่ในหลายครั้ง โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะยับยั้งกระบวนการที่อาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือไม่ถูกต้องตามกระบวนการ แต่หากเสียงข้างมากยังยึดมั่นและยืนยันในความถูกต้องของตน ก็ต้องย่อมมาเป็นองค์ประชุมและผลักดันจนการพิจารณาจบไปได้ จึงจัดเป็นกลไกตรวจสอบถ่วงดุล หรือเป็นการปฏิบัติหน้าที่ในลักษณะหนึ่ง
ทั้งนี้ตามระเบียบการประชุมรัฐสภาเองก็ได้มีการระบุไว้ชัดเจนต่อการพิจารณากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญใดๆ ว่าหากผ่านวาระ3 ไม่ผ่านวาระ3 หรือไม่สามารถพิจารณาหาข้อสรุปได้ทันเวลา จะต้องมีการดำเนินการต่ออย่างไร ดังนั้นการดำเนินการของเสียงข้างน้อยในรัฐสภาครั้งนี้ จึงไม่สมควรถูกกล่าวหาว่าเป็นการไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามที่ควรจะเป็น
ชนินทร์ กล่าวอีกว่า การประชุมร่วมรัฐสภาเมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2565 ส.ส.พรรคเพื่อไทยเห็นพ้องต้องกันว่า จะไม่เป็นองค์ประชุมในการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อยืนยันในเจตนารมณ์ของพรรค ที่จะไม่ร่วมสังฆกรรมกับการกระทำที่อาจเป็นการขัดต่อบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ จึงเป็นวิธีการที่สามารถกระทำได้ ไม่ผิดระเบียบใดๆ ในการประชุม จึงไม่ควรใช้มาเป็นเหตุผลในการลาออกจากพรรคการเมือง ควรไปอย่างสง่างามไม่กล่าวร้ายกันทางการเมืองมากกว่า