เกาะสำคัญของอินโดนีเซียซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวอันเป็นที่นิยมของนักเดินทางจากทั่วโลกอย่าง 'บาหลี' กำลังประสบปัญหาขาดแคลนออกซิเจนสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 อย่างหนัก ท่ามกลางสถานการณ์การระบาดที่ผู้ติดเชื้อใหม่รายวันของทั้งประเทศพุ่งสูงขึ้นทำให้อินโดนิเซียอย่างกลายเป็นศูนย์กลางการระบาดใหญ่ของโควิดประจำภูมิภาคเอเชียแทนประเทศอินเดียไปเรียบร้อยแล้ว
ตัวเลขของผู้ติดเชื้อรายใหม่เฉลี่ยในรอบเจ็ดวันที่ผ่านมาคือ 42,153 คน โดยขณะนี้อินโดนีเซียอยู่ภายใต้มาตรการควบคุมการระบาดของโรคในระดับสูงที่สุดซึ่งกำลังจะหมดอายุลงในวันนี้ อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลกำลังพิจารณาขยายมาตรการออกไปเพราะสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น
เคตัส ซัวจายา หัวหน้าหน่วยงานด้านสาธารณสุขของอินโดนีเซียระบุว่า ภาวะของการขาดแคลนออกซิเจนนั้นเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่วันที่ 14 ก.ค.ที่ผ่านมา และขณะนี้สถานการณ์กำลังย่ำแย่ลงแบบวันต่อวันเพราะจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่กำลังพุ่งขึ้นสวนทางกับทรัพยากรที่มี
ขณะที่สำนักข่าวของภาครัฐอย่าง Antara ระบุเมื่อวันที่ 23 ก.ค. ที่ผ่านมาว่า “บาหลีกำลังประสบวิกฤตขาดแคลนออกซิเจนสำหรับผู้ป่วยอย่างหนัก” เนื่องจากผู้ป่วยในเกาะบาหลีต้องการใช้ออกซิเจนในปริมาณสูงถึง 113.3 ตัน แต่โรงพยาบาลทั้งเกาะมีปริมาณออกซิเจนเพียงแค่ 40.5 ตันเท่านั้น ขณะที่สถานการณ์บนเกาะชวาก็ยังคงน่ากังวลเช่นเดียวกันเพราะเริ่มเข้าสู่สถานการณ์การขาดแคลนออกซิเจนแล้ว และขณะนี้ทางการของอินโดนีเซียเร่งติดต่อนำเข้าออกซิเจนเพิ่มเติมเพื่อผู้ป่วยโควิด-19 จากทางประเทศจีนและสหรัฐฯ
จำนวนผู้ป่วยใหม่รายวันที่พุ่งสูงขึ้นในอินโดนีเซียมาพร้อมกับจำนวนผู้เสียชีวิตที่พุ่งสูงขึ้นเช่นเดียวกัน ปัจจุบันสาเหตุหลักของการเสียชีวิตของชาวอินโดนีเซียคือการที่โรงพยาบาลมีไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้ป่วย การที่ผู้ป่วยเสียชีวิตขณะที่กักตัวอยู่ที่บ้านโดยไม่มีผู้ดูแล และการที่ผู้ป่วยหนักเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลโดยมีระดับออกซิเจนในเลือดต่ำมากเกินไปจนไม่สามารถช่วยชีวิตได้ทัน ซึ่งในวันที่ 23 ก.ค.ที่ผ่านมามีจำนวนผู้เสียชีวิตเกือบ 1,600 ราย ขณะนี้รัฐบาลของอินโดนีเซียกำลังเร่งเพิ่มจำนวนเตียงผู้ป่วยในระดับไอซีอยู่ทั้งบนเกาะชวาและเกาะบาหลี
ปัจจุบันประชาชนในประเทศอินโดนิเซีย ติดเชื้อสะสมมากกว่า 3.13 ล้านคน และมีจำนวนผู้เสียชีวิตสะสมทั้งสิ้น 82,013 ราย ซึ่ง Our World in Data ระบุว่าอินโดนิเซียมีอัตราการเสียชีวิตจากโควิด-19 สูงกว่าประเทศอื่นๆ ราวสามเท่า ขณะที่อัตราการฉีดวัคซีนยังคงล่าช้าโดยจากประชากรทั้ง 276 ล้านคน มีผู้ได้รับวัคซีนโควิดอย่างน้อยหนึ่งโดสไปแล้วเป็นสัดส่วนเพียงแค่ 16.3% ขณะที่มีผู้ได้รับวักซีนครบโดสแล้วทั้งสิ้น 6.5% เท่านั้น