ไม่พบผลการค้นหา
สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสทรงเห็นชอบกฎฉบับใหม่ ที่อนุญาตให้นักบวชในคริสตจักรคาทอลิกสามารถอวยพรคู่รักที่ยังไม่ได้สมรสกัน และคู่รักที่เป็นคนเพศเดียวกัน นับเป็นการเปลี่ยนแปลงจุดยืนครั้งสำคัญของคริสตจักรคาทอลิกในรอบ 2 พันปี

รายงานจากสำนักงานหลักคำสอนของวาติกัน ซึ่งมีรายละเอียดเผยแพร่ในสำนักข่าววาติกัน เมื่อช่วงวันจันทร์ที่ผ่านมา (18 ธ.ค.) ระบุว่า การอวยพรคู่รักที่ยังไม่ได้สมรสกัน และคู่รักที่เป็นคนเพศเดียวกันจะได้รับอนุญาตให้นักบวชสามารถกระทำได้ แม้ว่าสันตะสำนักจะมีการออกคำเตือนประกอบกับการออกกฎใหม่ในครั้งนี้

“มันมีความเป็นไปได้ที่จะให้พรแก่คู่รักเพศเดียวกัน แต่ไม่มีการประกอบพิธีกรรมใดๆ หรือกระทำพิธีอันมีลักษณะสัมผัสได้เหมือนการสมรส” รายงานของสำนักข่าวาติกันกล่าว นอกจากนี้ รายงานยังระบุว่า “หลักคำสอนเกี่ยวกับการสมรสนั้นไม่เปลี่ยนแปลง และการอวยพรไม่ได้หมายถึงการยอมรับการเป็นคู่ชีวิต”

อย่างไรก็ดี แม้คำประกาศดังกล่าวจะยังคงมีข้อจำกัด แต่ท่าทีดังกล่าวถือเป็นก้าวสำคัญของการปรับเปลี่ยนท่าทีของคริสตจักรคาทอลิกให้มีความเปิดกว้างมากขึ้น หลังจากที่ในก่อนหน้านี้เมื่อปี 2564 คริสตจักรคาทอลิกระบุว่า นักบวชในศาสนาไม่สามารถอวยพรคู่รักเพศเดียวกันได้ เหมือนกับที่พระเจ้า “ไม่ทรงอวยพรความบาป”

ผู้เชี่ยวชาญด้านศาสนจักรคาทอลิกวาติกันระบุว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าว “น่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงทางอภิบาลที่เป็นรูปธรรมที่สุด เกี่ยวกับจุดยืนของคริสตจักรต่อคู่รักเกย์ในประวัติศาสตร์ 2,000 ปีของคริสตจักร”

รายงานระบุว่า นักบวชในศาสนจักรคาทอลิกควรตัดสินใจเป็นกรณีๆ ไป และ “ไม่ควรป้องกันหรือห้ามไม่ให้คริสตจักรมีความใกล้ชิดกับผู้คนในทุกสถานการณ์ ที่พวกเขาอาจขอความช่วยเหลือจากพระเจ้า ผ่านการอวยพรธรรมดาๆ”

อย่างไรก็ดี แถลงการณ์เน้นย้ำว่าท่าทีดังกล่าวต้องหลีกเลี่ยง “ความสับสนหรือเรื่องอื้อฉาวทุกรูปแบบ” เพื่อว่าเมื่อคู่รักเพศเดียวกันได้ทำการขอพร รูปแบบขอพรนั้น “ไม่ควรให้มีความสอดคล้องกับพิธีการสมรส และไม่แม้แต่การเชื่อมสัมพันธ์กันระหว่างพวกเขา และไม่สามารถแสดงออกผ่านเสื้อผ้า ท่าทาง หรือคำพูดใดๆ ที่เข้าลักษณะการสมรสได้”

ในทางกลับกัน การอวยพรดังกล่าว “อาจพบได้ในบริบทอื่นๆ แทน เช่น การไปสักการะ การพบปะกับนักบวช การสวดภาวนาเป็นกลุ่ม หรือระหว่างการเดินทางแสวงบุญ”

รายงานดังกล่าวเป็นไปตามหนังสือที่สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ที่ทรงส่งถึงพระคาร์ดินัลสายอนุรักษ์นิยม 2 คน ซึ่งได้รับการเผยแพร่ออกมาเมื่อเดือน ต.ค. โดยในหนังสือ สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสทรงกล่าวว่า การอวยพรพรดังกล่าวสามารถมอบได้ในบางกรณี ตราบใดที่ไม่เกิดความสับสนกับการมอบศีลสมรส

คริสโตเฟอร์ ไวท์ ผู้สื่อข่าววาติกันของ National Catholic Reporter กล่าวเมื่อวันจันทร์ว่า “แม้ว่าคำประกาศของวาติกันจะมีขอบเขตที่แคบมาก แต่ก็แสดงให้เห็นถึงการพัฒนาอย่างมาก ทั้งในด้านคำสอนและการปฏิบัติของคริสตจักร ซึ่งน่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงอภิบาลที่เป็นรูปธรรมที่สุดของคริสตจักร ในท่าทีต่อคู่รักเกย์ในประวัติศาสตร์ 2,000 ปีของคริสตจักร”

“นับตั้งแต่ได้รับการเลือกตั้งในปี 2556 สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสทรงใช้น้ำเสียงที่แตกต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิงในการพูดถึงเกย์มากกว่าพระสันตปาปาในอดีต แต่นี่เป็นครั้งแรกที่มีการเปลี่ยนแปลงตามลายลักษณ์อักษรกฎ เพื่อแสดงว่าคริสตจักรกำลังเปิดใจในเรื่องนี้” ไวท์ระบุ “อย่างที่กล่าวไปแล้ว มันมีข้อควรระวังหลายประการ ในการไม่อนุญาตให้มีการอวยพรในทางพิธีกรรม แยกออกจากแนวทางการอวยพรอย่างเป็นทางการของคริสตจักร ฯลฯ และด้วยเหตุนี้ มันแทบจะไม่มีใครมองว่ามีการก้าวไปได้ไกลอย่างแน่นอน (และ) เพียงพอสำหรับผู้ที่ต้องการให้คู่เกย์ได้รับศีลสมรสของคริสตจักรอย่างเต็มที่”

บาทหลวงเจมส์ มาร์ติน นักบวชนิกายเยซูอิตในสหรัฐฯ ผู้มีชื่อเสียง และดูแลชุมชน LGBTQ ระบุว่า คำประกาศนี้เป็น “ก้าวสำคัญไปข้างหน้า” มาร์ตินยังกล่าวอีกว่าเอกสารดังกล่าว “ตระหนักถึงความปรารถนาอันลึกซึ้งของคู่รักเพศเดียวกันชาวคาทอลิกจำนวนมาก ที่ต้องการการสถิตอยู่ของพระเจ้าในความสัมพันธ์ทางความรักของพวกเขา”

นับตั้งแต่ได้รับเลือกเป็นสมเด็จพระสันตะปาปาในเดือน มี.ค. 2556 สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ซึ่งเพิ่งมีพระชนม์ครบ 87 พรรษา เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (17 ธ.ค.) ทรงพยายามใช้น้ำเสียงที่โอบรับความหลากหลายมากขึ้นต่อชุมชน LGBTQ แม้จะมีคำวิจารณ์จากพระคาร์ดินัลสายอนุรักษ์นิยมอย่างรุนแรง อย่างไรก็ดี ไม่นานหลังจากขึ้นเป็นสมเด็จพระสันตะปาปา สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสตรัสเพื่อตอบคำถามเกี่ยวกับบาทหลวงที่เป็นเกย์ว่า “ข้าพเข้าเป็นใครที่จะไปตัดสิน”

ในการให้สัมภาษณ์ในภาพยนตร์สารคดีเมื่อปี 2563 สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสทรงกล่าวสนับสนุนต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรก ในการให้สิทธิแก่เกย์ภายใต้การการจดทะเบียนคู่ชีวิตของคนเพศเดียวกัน อย่างไรก็ดี ความคิดเห็นของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสในครั้งนั้น เป็นความเห็นในทางกฎหมายแพ่งด้านโลกวิสัย ไม่ใช่ภายใต้กฎในคริสตจักรคาทอลิก

ในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งสันตะปาปา สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสทรงเปิดรับความก้าวหน้าในด้านอื่นๆ อาทิ ทรงอนุญาตให้ชาวคาทอลิกที่หย่าร้างและแต่งงานใหม่สามารถรับศีลมหาสนิทได้ ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวที่ชาวคาทอลิกสายอนุรักษ์นิยมตำหนิว่าเป็น "บาป"


ที่มา:

https://www.theguardian.com/world/2023/dec/18/vatican-gives-conditional-approval-to-blessings-for-same-sex-couples?CMP=Share_AndroidApp_Other&fbclid=IwAR2yMKRSNjJd9G9ZbujriYQFp9-K0lMAIU4imiTSLdCbBvOsRodRY-LhX_A