ไม่พบผลการค้นหา
'ไอติม พริษฐ์' เสนอระบบสภาเดียวที่มีแค่ ส.ส. ยกหลายประเทศเลิก ส.ว. ชวนประชนทำหน้าที่ฝ่ายค้านอิสระ 'สฤณี' ย้ำ ประชาชนต้องเลิกเป็นเหยื่อการเมืองแห่งความเกลียดชัง ด้าน บก. The Matter ชี้ สภาวะเสียงปริ่มน้ำทำให้อำนาจต่อรองทางการเมืองสูง

27 ส.ค. 2562 เวลา 18.00 น. ที่หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร ชั้น L โครงการ Elect จัดงานเสวนา หัวข้อ เลือกแล้วได้อะไร? ประชาธิปไตยไทยหลังการเลือกตั้ง โดยมีวิทยากร คือ น.ส.สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระ นายพงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์ บรรณาธิการข่าวเว็บไซต์ The Matter นายพริษฐ์ วัชรสินธุ นักการเมืองรุ่นใหม่ ดำเนินรายการโดยนายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw)


เรื่องแปลกใจในการเลือกตั้ง 62

นายพริษฐ์ กล่าวว่าเรื่องที่ทำให้รู้สึกแปลกใจ คือ ผลโพลจากการไปนับผลการค้นหาใน Google Search ของประชาชนในคืนก่อนวันเลือกตั้ง ผลที่ออกมาชี้ว่า ประชาชนค้นหา ชื่อพรรคพลังประชารัฐ และชื่อนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่มากที่สุด ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์มีเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ของผลการค้นหา ซึ่งแปลมาเป็นจำนวนที่นั่ง ส.ส. 50 ที่นั่งพอดี

ส่วนในเรื่องที่พรรคประชาธิปัตย์แทบจะไม่ได้คะแนนเสียงเลย ตนไม่ได้แปลกใจ หากดูจากคะแนนกลุ่มที่ไปเลือกตั้ง อาจจะถูกแบ่งออกเป็นสามกลุ่มหลักๆ กลุ่มแรก คือ กลุ่มที่พอใจมากกับผลของ 5 ปีที่ผ่านมา ก็จะเลือกพรรคพลังประชารัฐ สอง กลุ่มที่อยากย้อนไปสู่การเมืองในอดีต อาจจะชื่นชอบผลงานของรัฐบาลในอดีต ก็จะเลือกเพื่อไทย เพราะต้องการเห็นอะไรที่เขาเคยเห็นมาในอดีต สาม กลุ่มที่ไม่อยากย้อนกลับไปในอดีต แต่ไม่พอใจกับปัจจุบัน หลายคนก็เลยหันไปเลือก พรรคอนาคตใหม่

"สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้เป็นที่หนึ่ง ในดวงใจของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เพราะฉะนั้นเมื่อมาเป็นอันดับสองในดวงใจก็ไม่แปลงมาเป็นคะแนนเสียง ก็เลยไม่แปลกใจในเชิงผลลัพธ์" นายพริษฐ์ กล่าว

ด้าน นายพงศ์พิพัฒน์ กล่าวว่า สำหรับตนนั้นสิ่งที่แปลกใจไม่ใช่ผลการเลือกตั้ง หากแต่เป็นจำนวนของผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ที่มีมากถึง 75% ซึ่งนับว่าเยอะที่สุดในประวัติศาสตร์การเลือกตั้งของไทย

หลายคนคาดการณ์ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้คนอาจจะไปใช้สิทธิน้อย เพราะเราห่างการเลือกตั้งมานาน และคนอาจจะรู้สึกว่าเลือกไปก็อาจจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เพราะมีการเซ็ตผู้ชนะเอาไว้แล้ว

แต่การที่ทุกคนมาตื่นตัวโดยเฉพาะช่วงโค้งสุดท้าย ทำให้รู้สึกแปลกใจ หลายคนพูดว่า คนที่ตื่นตัวทางการเมือง เมื่อตื่นครั้งหนึ่งแล้ว เขาจะไม่กลับไปหลับอีก เขาจจะถอยบ้าง เหนื่อยบ้าง พักบ้าง แต่เมื่อดวงตาเปิดออกแล้ว จะไม่กลับไปหลับตาอีก ซึ่งส่งผลกับชะตากรรมประเทศไทยในอนาคต

ส่วน น.ส.สฤณี กล่าวว่า บทบาทของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ครั้งนี้ มีปัญหาตั้งแต่เทคนิคความผิดพลาดที่ส่งผลตัวเลขมาให้นักข่าวคลาดเคลื่อน ไปจนถึงการตัดสินใจว่าแบบนี้ได้เหรอ เช่น เรื่องบัตรเขย่ง เป็นส่วนสำคัญในฐานะองค์กรอิสระ แม้จะรู้ว่าใครคือคนแต่งตั้ง น.ส.สฤณี มองว่า กกต. ควรทำหน้าที่ให้เข้มแข็งกว่านี้ เอาใจใส่กับเรื่องใหญ่ๆ เช่นข้อมูลพื้นฐานที่คนอยากรู้ และความจริงใจที่จะอธิบาย ขอโทษ และยอมรับผิด

น.ส.สฤณี ยังกล่าวว่า การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นบทเรียน ถ้าเราไม่ไปเลือกตั้ง เราก็จะไม่เห็นว่า กติกาจริงๆ พอไปเลือกตั้งจริงๆ แล้วมันจะหน้าตาเป็นอย่างไร

ELECT


แม้เสียเปรียบทางกติกา แต่ผลการเลือกตั้งมีความหมาย เกิดเสียงปริ่มน้ำ ทำอำนาจต่อรองทางการเมืองสูง

นายพงศ์พิพัฒน์ กล่าวว่า สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นคือมันทำให้สิ่งที่มีคนเตือนตั้งแต่ประชามติในปี 2559 ออกมาเป็นรูปธรรมมากที่สุด แต่การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ใช่ไม่มีความหมาย เพราะทำให้เสียงที่เราไปลงคะแนนมีความหมายจริงๆ ต่อให้ไม่เกิดอะไรเปลี่ยนแปลง การที่เกิดเสียงปริ่มน้ำ ต้องมีการซื้อทรานซิสเตอร์มาไว้เพื่อให้มาลงคะแนน สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่า เสียงของคนส่วนหนึ่งมีความหมาย แม้ว่าจะเป็นฝ่ายค้าน ซึ่งในบางครั้งเสียงอาจดังกว่ารัฐบาลด้วยซ้ำ แม้จะไม่ได้เป็นผู้ออกแบบกติกาเอง

การที่เสียงมันห่างกันบวกลบสิบ ในทางการเมืองนักการเมืองรู้ว่าอันตราย แล้วต้องใช้อำนาจในการต่อรองสูง...รัฐมนตรีบางคนพูดว่าอายุรัฐบาลนี้อยู่ได้ 1 ปีก็เก่งแล้ว เพราะเป็นเกมที่ต้องชิงไหวชิงพริบ เผลอไม่ได้ อย่างเช่น สองสัปดาห์ก่อน ฝั่งรัฐบาลไม่เข้าประชุมสักสิบคน เผลอแป็ปเดียวแพ้โหวตแล้ว
'โซเชียลมีเดีย' ทำให้ ส.ส. กับประชาชน ใกล้กันมากขึ้น

น.ส.สฤณี กล่าวว่า ปัจจุบันเราอยู่ในโลกโซเชียลมีเดีย เมื่อก่อนต้องรอสื่อรายงานเท่านั้น แต่ตอนนี้เรื่องเหล่านี้เป็นข้อมูลที่ดีมากสำหรับประชาชน ที่จะไปติดตามนักการเมืองอย่างใกล้ชิด ตนเชื่อว่าไม่มีนักการเมืองคนไหนไม่อยากพูด อาจจะมีน้อย เพราะ โซเชียลต้นทุนต่ำ ซึ่งสิ่งนี้ทำให้ ส.ส. กับประชาชน ใกล้ชิดกันมากขึ้น

ELECT

ไอติมเสนอสภาเดียว ยกหลายประเทศประชาธิปไตย เลิกระบบ ส.ว.

นายพริษฐ์ กล่าวว่า สิ่งที่เป็นปัญหาสำคัญที่สุด คือ ส.ว. เพราะท้ายที่สุดแล้วถ้าเราเชื่อในระบอบประชาธิปไตย เชื่อในหลักการหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียง ถ้าถามว่าองค์กรอะไรที่ขัดกับหลักการหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียงมากที่สุด คำตอบก็คือ ส.ว.

หากถามว่า ส.ว. จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้งหรือไม่ จริงๆ ก็ไม่จำเป็น หลักมาตรฐานสากล คือ ทำอย่างไรให้อำนาจและที่มาของ ส.ว. สอดคล้องกัน

ยกตัวอย่างว่า หากจะให้ ส.ว. มีอำนาจเยอะ ก็ต้องมาจากการเลือกตั้ง แบบในสหรัฐอเมริกา แต่ถ้า ส.ว. ไม่ต้องมีอำนาจเยอะ ก็สามารถแต่งตั้งได้ อย่างในอังกฤษ

แต่ในขณะที่ไทย ส.ว. มีอำนาจเยอะมาก เลือกนายกรัฐมนตรีได้ แต่ที่มาไม่รู้สุดท้ายใช้เกณฑ์อะไร เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าที่มากับอำนาจมันไม่สอดคล้องกัน

ทั้งนี้ นายพริษฐ์ เสนอสามทางออกว่า

หนึ่ง คือ เปิดให้มีการเลือกตั้ง ส.ว. แต่ความท้าทายที่เจอคือคุณจะจัดระบบอย่างไรให้แตกต่างจาก ส.ส. เพราะไม่อย่างนั้นก็จะกลายเป็นมีสภาสองอันเหมือนกัน

สอง คือ ลดอำนาจ ส.ว. ไปเลย แล้วก็แต่งตั้งไป แต่คำถามที่ตามมาก็คือว่า ถึงแม้จะมีการแต่งตั้ง ส.ว. ที่ไม่มีอำนาจสูงอยู่ ทำอย่างไรให้เราได้ความหลากหลายทางวิชาชีพ และได้ ส.ว. ที่เป็นกลางจริง

สาม เปลี่ยนไปเป็นระบบสภาเดียว ที่มีแค่สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งในต่างประเทศที่มีบริบทเหมือนประเทศไทย คือ ใช้ระบบรัฐสภา มีนายกรัฐมนตรี ทั้งหมด 31 ประเทศ ที่เรียกว่าเป็นประชาธิปไตย มี 20 ประเทศใช้ระบบสภาเดียว และมีแค่ 11 ประเทศที่ใช้ระบบสภาคู่ และภายใน 11 ประเทศ มีเพียง 2 ประเทศที่มีวุฒิสภาคือ ประเทศอังกฤษ ที่มี ส.ว. แต่ไม่มีอำนาจมาก และประเทศตรินิแดดและโตเบโก

เพราะฉะนั้น ในต่างประเทศก็เริ่มจะมาในแนวทางนี้ มีหลายประเทศที่เปลี่ยนจากสภาคู่ เป็นสภาเดี่ยว ถึงเวลาไหมที่ประเทศไทยต้องพิจารณาข้อดี อย่างแรก งบประมาณของ ส.ว. และค่าใช้จ่ายการสรรหา ส.ว. สภาเดี่ยวง่ายกว่าในการออกกฎหมายที่เปลี่ยนแปลงในยุคสมัยใหม่อย่างรวดเร็ว


ชวนทำการเมืองสร้างสรรค์ 'อยากให้ประชาชนเป็น 'ฝ่ายค้านอิสระ'

นายพริษฐ์ กล่าวถึงความคาดหวังของบทบาทประชาชนว่า การพัฒนาประชาธิปไตยไม่พึ่งแค่ระบบ แต่่พึ่งสังคมด้วย ว่าสังคมมีความเชื่อในประชาธิปไตยมากแค่ไหน เช่น ยอมรับความแตกต่าง เคารพสิทธิมนุษยชนหรือไม่

ในวันที่ระบบถดถอยไม่จำเป็นเลยที่สังคมจะต้องหยุดเดินหน้า หากในอนาคตเกิดการรัฐประหารอีก ณ จุดนั้น การรัฐประหารจะไม่สำเร็จ ถ้าคนทุกคนในประเทศ ยังเชื่อและศรัทธาในระบบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

นายพริษฐ์กล่าวต่อมา ตนอยากเห็นทุกคนเป็น "ฝ่ายค้านอิสระในตัวเอง" คือ ประชาชนสามารถทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลและฝ่ายนิติบัญญัติได้มากกว่า 5 ปีที่ผ่านมา ทั้งรัฐบาลและ ส.ส. ในพื้นที่ของตัวเอง ท้ายสุดแล้วกลไกของสภาอาจจะทำให้มีได้แค่สองฝ่าย ตนคิดว่าประชาชนไม่จำเป็นต้องแบ่งตัวเองออกเป็นสองฝ่าย อยากเห็นประชาชนพยายามประเมิณ ตัดสิน วิจารณ์ เป็นกรณีๆ ไป

"ผมอยากเห็นรายการคล้ายๆ กับ The Mask Singer แต่เป็น The Mask Politician เพราะปัจจุบันเวลาเราเห็นข่าว ยังไม่ได้อ่านเลยว่าคนนี้พูดอะไร เรารู้แล้วว่าเราจะชอบหรือไม่ชอบ ทุกคนมีอคติส่วนตัวอยู่แล้วว่าท้ายสุดแล้วเราเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับคนๆ นี้ ถ้าเราได้เห็นความคิดตัวตนของเขา โดยที่ไม่รู้ว่าเขามาจากพรรคไหน ไม่แน่อาจจะเซอร์ไพรส์ว่านักการเมืองที่เราชอบมาก อาจจะทำในสิ่งที่เราไม่เห็นด้วย ในขณะที่นักการเมืองที่เราไม่ชอบอาจจะทำในสิ่งที่เราเห็นด้วย"

ด้าน น.ส.สฤณี เสริมว่า ประชาชนควรต้องเลิกเป็นเหยื่อการเมืองแห่งความเกลียด จะเห็นว่าการเลือกตั้งที่ผ่านมา หลายคนเขาไปเลือกพรรคพลังประชารัฐ ไม่ใช่เพราะว่าชอบ แต่กลัวว่าถ้าไม่เลือก พรรคที่เขาไม่ชอบจะกลับเข้ามาได้ กับดักหรือปัญหาของการคิดอย่างนั้น พอเราได้รัฐบาลที่เราไม่ได้ชอบ แต่แค่ว่าไม่ใช่ฝ่ายที่เราเกลียด เราจะถอยห่างจากการเมืองทันที เพราะเหตุผลที่เราเลือกเขาไม่ใช่เพราะนโยบาย