นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการตัดไม้ทำลายป่าแห่งชาติ (คปป.) ครั้งที่ 1/2563 ว่า ภาพรวมตั้งแต่ปี 2557–2562 สามารถยึดคืนพื้นที่ป่าจากกลุ่มนายทุนที่ไม่มีคุณสมบัติที่จะอยู่อาศัย และทำกินในเขตป่าไม้ 853,603 ไร่ และดำเนินคดีบุกรุก 29,350 คดี โดยคดีการลักลอบตัดไม้อยากให้คนกระทำผิดต้องติดคุกเท่ากับอายุของต้นไม้ที่ตัดไปด้วยซ้ำ แต่ต้องอิงกับกฎหมายปัจจุบันด้วย ซึ่งพื้นที่ที่ยึดคืนมาได้จะเร่งฟื้นฟูสภาพให้กลับไปเป็นป่าสมบูรณ์ต่อไป
โดยจากการแปลภาพถ่ายทางอากาศ ของคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พบปัจจุบันพื้นที่ป่าไม้ของประเทศเพิ่มขึ้นจากเดิมกว่า 300,000 ไร่ โดยเฉพาะช่วงเวลา 4 ปีที่ผ่านมาระหว่างปี 2557-2561 ส่วนการจัดสรรที่ดินของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ให้ประชาชนไร้ที่ดินทำกินใช้เป็นที่อยู่อาศัยและทำกินในรูปแบบแปลงรวมไปแล้ว 184 พื้นที่ รวม 58 จังหวัด คิดเป็นเนื้อที่กว่า 659,428 ไร่ และในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 234 พื้นที่ รวม 61 จังหวัด คิดเป็นเนื้อที่กว่า 1,083,366 ไร่
ทั้งนี้จากการปฏิบัติงานเมื่อปี 2562 เทียบกับปี 2557 พบคดีบุกรุกป่ามีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง ดูจากตัวเลขปีที่ผ่านมายึดคืนพื้นที่ป่า 108,385 ไร่ ดำเนินคดีบุกรุกป่าได้ 2,851 คดี จับผู้ต้องหาได้ 521 คน ขณะที่ปี 2557 ยึดพื้นที่ป่าได้ 109,303 ไร่ดำเนินคดีบุกรุกป่า 6,003 คดี จับผู้ต้องหา 1,556 คน
นายวราวุธ กล่าวย้ำว่า การบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำความผิดยังมีข้อจำกัดอยู่มาก เนื่องจากกลุ่มผู้กระทำความผิดไม่ได้มีแค่กลุ่มนายทุน หรือผู้มีอิทธิพลเท่านั้น แต่ยังมีชาวบ้านด้วยทำให้การจับกุมส่งผลให้เกิดความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐและชาวบ้านในพื้นที่ จึงเน้นให้ความสำคัญเรื่องของการแก้ปัญหาความขัดแย้งและการใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตป่าไม้ของกลุ่มประชาชนที่อยู่อาศัยและทำกินในเขตป่าไม้โดยต้องมีคุณสมบัติที่จะเข้าทำกินและอยู่อาศัยในเขตป่าไม้ได้ตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ภาพรวมกลุ่มประชาชนผู้เดือดร้อนค่อนข้างพอใจกับมาตรการที่รัฐทำ