ไม่พบผลการค้นหา
หลังการเดินทางเยือนไต้หวันของ แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เมื่อต้นเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา ความคืบหน้าในประเด็นความสัมพันธ์ของสหรัฐฯ และไต้หวันดูเหมือนจะแน่นแฟ้นขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สำนักข่าว BBC รายงานว่ารัฐบาลของสหรัฐฯ ได้ประกาศว่าการเจรจาทางการค้าของทั้งสองกำลังจะเริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการ โดยสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ เผยว่าการจัดเจรจารอบแรกจะมีขึ้นในช่วงต้นของฤดูใบไม้ร่วงที่กำลังจะถึงนี้ ซึ่งตรงกับช่วงเดือน ก.ย. - ต.ค.

การพูดคุยที่จะมีขึ้นจะครอบคลุมถึงประเด็นการอำนวยความสะดวกทางการค้า การค้าทางดิจิทัล และมาตรฐานการต่อต้านคอร์รัปชั่น โดยความเคลื่อนไหวนี้เกิดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างความสัมพันธ์ของจีนและสหรัฐฯ 

ด้านสำนักข่าว CNA ของสิงคโปร์รายงานว่า ผู้แทนระดับสูงของสหรัฐฯ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออก แดเนียล คริทเตนบริงค์ กล่าวว่า "จีนกำลังใช้การเยือนไต้หวันของเพโลซีเป็นข้ออ้างในการเปลี่ยนสถานการณ์ และทำลายสเถียรภาพในภูมิภาคอย่างชัดเจน" พร้อมระบุด้วยว่าการกระทำของจีนขณะนี้คือความพยายามที่จะบีบบังคับและบ่อนทำลายศักยภาพในการฟื้นตัวของไต้หวัน

ภายหลังการเยือนไต้หวันของเพโลซีเมื่อช่วงต้นเดือน ส.ค. จีนแผ่นดินใหญ่ได้เริ่มการซ้อมรบครั้งใหญ่ของตนรอบเกาะไต้หวัน เพื่อเป็นการตอบโต้กับการเดินทางของประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เยือนไต้หวัน ซึ่งจีนอ้างว่าเป็นมณฑลหนึ่งของตน ทั้งนี้ จีนย้ำว่าไต้หวันจะต้องกลับมาเป็นส่วนหนึ่งของจีนในอนาคต ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใด ซึ่งหมายรวมถึงการใช้กำลัง

แนนซี เพโลซี กลายมาเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงของทางการสหรัฐฯ รองจากประธานาธิบดี และรองประธานาธิบดี ที่เดินทางเยือนไต้หวันเป็นครั้งแรกในรอบ 25 ปี โดยระหว่างการแวะเยือนไต้หวันของเพโลซี กระทรวงการต่างประเทศจีนได้ออกแถลงการณ์เรียกว่าทริปของเพโลซีนั้น “คลุ้มคลั่ง ไร้ความรับผิดชอบ และไม่สมเหตุสมผล”

12 วันหลังการเยือนของเพโลซี คณะผู้แทนรัฐสภาสหรัฐฯ ประกอบไปด้วย 5 สมาชิกรัฐสภา ซึ่งมี เอ็ด มาร์คีย์ วุฒิสมาชิกจากพรรคเดโมแครต ซึ่งจะเข้าหารือกับเจ้าหน้าที่ของไต้หวันในวันที่ 15 ส.ค.ที่ผ่านมาในประเด็นความมั่นคงระดับภูมิภาค การค้า และการลงทุน โดยมีกำหนดการเข้าพบกับ ไช่อิงเหวิน ประธานาธิบดีไต้หวันด้วย

สำนักประธานาธิบดีไต้หวันออกแถลงการณ์ ถึงการเดินทางเยือนไต้หวันจากทางคณะผู้แทนรัฐสภาสหรัฐฯ ว่าเป็นการส่งสัญญาณถึง “การสนับสนุนที่หนักแน่น” ของสหรัฐฯ ต่อไต้หวัน 

แม้ว่าสหรัฐฯ จะไม่ได้รับรองไต้หวันให้เป็นประเทศ และประกาศว่าตนยึดถือนโยบายจีนเดียว แต่สหรัฐฯ ยังคงรักษาความสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับไต้หวัน รวมถึงการขายอาวุธเพื่อให้ไต้หวันใช้ในการป้องกันตนเองจากภัยคุกคามด้วย