ไม่พบผลการค้นหา
ครม.เห็นชอบรายงานความคืบหน้าการพัฒนาพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน บูรณะอาคารศาลากลางจ.น่าน หลังเก่าเป็นหอศิลปวัฒนธรรมเมืองน่านและแหล่งเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมล้านนาตะวันออก หวังอนุรักษ์และพัฒนาเมืองอย่างเป็นระบบ

ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 14 มีนาคม2566 ว่า ที่ประชุมครม. มีมติเห็นชอบรับทราบรายงานความคืบหน้าของการดำเนินงานการพัฒนาพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน ตามที่กระทรวงมหหาดไทยเสนอ เพื่อเป็นพื้นที่อนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า พ.ศ.2546 และมีมติเห็นชอบให้คณะกรรมการและพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่าเสนอขอทบทวนแผนแม่บทและผังแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนาบริเวณเมืองเก่าน่านในส่วนของพื้นที่เมืองเก่าน่านต่อไป

ทิพานัน กล่าวว่า เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2565 คณะอนุกรรมการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าน่านได้มีมติเห็นชอบโครงการการบูรณะปรับปรุงอาคารศาลากลางจังหวัดน่านหลังเก่าเพื่อเป็นหอศิลปวัฒนธรรมเมืองน่านและแหล่งเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมล้านนาตะวันออก ซึ่งต่อมาคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่าได้มีมติการประชุมเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2565 เห็นชอบในหลักการการขอเปลี่ยนแปลงแผนแม่บทและผังแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนาบริเวณเมืองเก่าน่าน

โดยให้ปรับปรุงอาคารศาลากลางดังกล่าวเป็นหอศิลปวัฒนธรรมเมืองน่านและแหล่งเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมล้านนาตะวันออก พร้อมกับให้จังหวัดน่านจัดทำแผนแม่บทและผังแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนาบริเวณเมืองเก่าน่านฉบับใหม่ โดยทบทวนแผนแม่บทฉบับเดิมในภาพรวม และการใช้ประโยชน์พื้นที่บริเวณต่าง ๆ ในเมืองเก่าให้เหมาะสม โดยจัดให้มีกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบ

“จากฐานข้อมูล ณ วันที่ 28 ตุลาคม 2565 มี 36 เมืองที่ได้รับการประกาศเป็นเขตพื้นที่เมืองเก่า ได้แก่ น่าน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง พิษณุโลก กำแพงเพชร ลพบุรี พิมาย นครศรีธรรมราช สงขลา แพร่ เพชรบุรี จันทบุรี ปัตตานี เชียงราย สุพรรณบุรี ระยอง บุรีรัมย์ ตะกั่วป่า พะเยา ตาก นครราชสีมา สกลนคร สตูล ราชบุรี สุรินทร์ ภูเก็ต ระนอง แม่ฮ่องสอน กาญจนบุรี ยะลา นราธิวาส ร้อยเอ็ด อุทัยธานี ตรัง ฉะเชิงเทรา โดยพื้นที่ดังกล่าวจะมีแนวทางในการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งจะมีการส่งเสริมให้ภาคเอกชนและประชาชนได้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และพัฒนาเพื่อให้พื้นที่เมืองเก่าเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สืบทอดความเจริญทางวัฒนธรรมของประเทศไทย” น.ส.ทิพานัน กล่าว