ที่ประชุมวุฒิสภา ลงคะแนนให้ความเห็นชอบบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติตามมาตรา 14 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 ดังนี้
ด้านที่ 1 ผู้มีประสบการณ์ในการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนต่อเนื่องกัน ตามมาตรา 8 (1) แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) พ.ศ. 2560 โดย น.ส.ลม้าย มานะการ ผู้ประสานคณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ ที่ประชุมให้ความเห็นชอบ 27 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ 149 เสียง ไม่ออกเสียง 23 เสียง ขณะที่นางปรีดา คงแป้น กรรมการในคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ให้ความเห็นชอบ 161 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ 24 เสียง ไม่ออกเสียง 14 เสียง
ด้านที่ 2 ผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการสอนหรือทำงานวิจัยเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในระดับอุดมศึกษา ตามมาตรา 8 (2) แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กสม. พ.ศ. 2560 ผศ.สุชาติ เศรษฐมาลินี หัวหน้าสาขาวิชาสันติศึกษา มหาวิทยาลัยพายัพ ให้ความเห็นชอบ 171 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ 13 เสียง ไม่ออกเสียง 15 เสียง
ด้านที่ 3 ผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนทั้งภายในประเทศและต่างประเทศที่จะยังประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ ตามมาตรา 8 (3) แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กสม. พ.ศ. 2560 ผศ.วิชัย ศรีรัตน์ อาจารย์ประจำสาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ให้ความเห็นชอบ 74 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ 101 เสียง ไม่ออกเสียง 24 เสียง
ด้านที่ 5 ผู้มีความรู้และประสบการณ์ด้านปรัชญา วัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตของไทยเป็นที่ประจักษ์ที่จะยังประโยชน์ในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ตามมาตรา 8 (5) แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กสม.พ.ศ. 2560 นายบุญเลิศ คชายุทธเดช อดีตบรรณาธิการอาวุโสหนังสือพิมพ์มติชนและอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่ประชุมให้ความเห็นชอบ 121 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ 49 เสียง ไม่ออกเสียง 29 เสียง
ทั้งนี้ผลการออกเสียงลงคะแนนปรากฎว่า นางปรีดา คงแป้น และ ผศ.สุชาติ เศรษฐมาลินี ได้รับความเห็นชอบด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา (คือ ไม่น้อยกว่า 125 คะแนน) จึงเป็นผู้ได้รับความเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
ส่วน น.ส.ลม้าย มานะการ ผศ.วิชัย ศรีรัตน์ และนายบุญเลิศ คชายุทธเดช ได้รับความเห็นชอบด้วยคะแนนเสียงน้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา (คือ น้อยกว่า 125 คะแนน) จึงเป็นผู้ไม่ได้รับความเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในกรณีที่วุฒิสภาไม่ให้ความเห็นชอบผู้ได้รับการสรรหารายใด ให้ดำเนินการสรรหาบุคคลใหม่แทนผู้นั้น แล้วเสนอต่อวุฒิสภาเพื่อให้ความเห็นชอบต่อไป โดยผู้ซึ่งไม่ได้รับความเห็นชอบจากวุุฒิสภาในครั้งนี้จะเข้ารับการสรรหาครั้งใหม่นี้ไม่ได้