ไม่พบผลการค้นหา
เลขาฯ ป.ป.ช. เผยกรณี ‘พิธา’ ยื่นบัญชีทรัพย์สินเพิ่ม เมื่อปี 62 มีคำสั่งศาลแนบมาให้เป็นผู้จัดการมรดกหุ้นไอทีวี พร้อมให้ข้อมูล กกต.หากร้องขอ

วันที่ 14 มิ.ย. นิวัตไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของ พิธา ลิ้ม​เจริญ​รัตน์​ หัวหน้า​และแคนดิเดท​นายก​รัฐมนตรี​ เมื่อครั้งเข้ารับตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อปี 2562 แล้ว พบว่า กรณีการถือหุ้น itv พิธา แนบเอกสารคำสั่งศาล ว่า เป็นผู้จัดการมรดกมาด้วย ซึ่งเป็นเอกสารประมาณปี 50 ทั้งนี้ จะต้องตรวจสอบให้ชัดเจนก่อน โดยขณะนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบเอกสารกับทางศาล แต่ยังไม่ได้ตรวจสอบว่ามีสถานะอื่นด้วยหรือไม่ 

ส่วนการยื่นบัญชีทรัพย์สินหนี้สิน หลังพ้นตำแหน่ง ส.ส.ตอนนี้ พิธา ยังไม่ได้มีการยื่นมาให้กับ ป.ป.ช. ยังคงเหลือกรอบเวลายื่นได้ถึงวันที่ 18 มิถุนายน 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า คำสั่งศาลดังกล่าว จะทำให้มีน้ำหนักหรือไม่ ว่านายพิธา เป็นผู้จัดการมรดกโดยศาลสั่ง ไม่ได้เป็นผู้ที่ตั้งใจจะถือหุ้นมาตั้งแต่ต้น เลขาธิการ คณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า เรื่องเจตนาก็ต้องไปดูกัน แต่ทรัพย์สินที่เขายื่นมาไม่ว่า จะยื่นในนามส่วนตัวหรือในนามผู้จัดการมรดกเขาก็ยื่นมา และเป็นการยื่นตามกฎหมาย ป.ป.ช. ไม่เกี่ยวกับเรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามการเป็น ส.ส. ซึ่งตามกฎหมาย ป.ป.ช. เมื่อเขายื่นมาเราก็จะตรวจสอบตามประเด็นที่เขายื่น ส่วนจะเป็นผู้จัดการมรดกจริงหรือไม่ ก็ต้องตรวจสอบเพิ่มเติมตามที่เขาได้ชี้แจงไว้ 

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีการเปิดเผยข้อมูลส่วนนี้ในการเปิดบัญชีทรัพย์สิน กรณีพ้นจากตำแหน่ง ส.ส. หรือไม่ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า ป.ป.ช. กำลังพิจารณาอยู่ และยืนยัน ว่า ป.ป.ช. พร้อมให้ข้อมูล หาก กกต. ข้อข้อมูลหลักฐานส่วนนี้เข้ามา เพราะเป็นข้อมูลที่เปิดเผยต่อสาธารณชนอยู่แล้ว

เมื่อถามว่า เหตุใดยื่น 4 ปีแล้ว ยังสอบทานเอกสารกับศาลไม่เสร็จนั้น เลขาฯ ป.ป.ช. กล่าวว่า ตอนนี้เอกสารที่ตรวจสอบกับศาล ทางศาลบอกว่าไม่ได้เก็บเอาไว้แล้ว เราต้องพยายามหาเอกสารตัวนี้มาเพื่อยืนยันว่าเป็นเอกสารที่ศาลรับรองถูกต้องใช่หรือไม่ ทั้งนี้เอกสารที่ผู้ยื่นมาทุกอย่าง ป.ป.ช.จะต้องมีการตรวจสอบซ้ำกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่เท่าที่รีเช็คไปต่างก็ยังอาจจะหาไม่เจอเพราะว่ามันนานแล้ว

เมื่อถามว่าปกติเอกสารต่างๆที่ยื่นต่อ ป.ป.ช. ต้องตรวจสอบในข่วงเวลานั้นๆ โดยไม่ต้องรอให้เกิดประเด็น เลขา ป.ป.ช. กล่าวว่า ปกติที่ยื่นมาเราจะตรวจสอบความถูกต้อง ความมีอยู่จริงเพราะฉะนั้นเราก็จะตรวจสอบไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่วนเหตุที่ตรวจสอบล่าช้าเพราะเราจะต้องสอบถามไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรณียื่นว่ามีบัญชีกับธนาคารกสิกรไทยเท่านั่น เท่านี้ มีที่ดิน ก็ต้องรีเฟอร์ไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าจริงหรือไม่ เพื่อให้ส่งสำเนาตอบกลับมาว่าจริง 

ถามว่าเมื่อศาลบอกว่าแต่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดกกรณี 'พิธา' ไม่ได้เก็บต้นเรื่องเอาไว้ คู่ฉบับก็ไม่มีแล้วจะทำอย่างไร ก็ต้องให้ พิธา แนบเอกสารเพิ่มเติมเข้ามา 

เมื่อถามว่าหากยื่นภายในวันที่ 18 มิ.ย.นี้ ก็ต้องแจกแจงว่าโอนมรดกนี้ไปให้น้องชาย เลขาป.ป.ช. กล่าวว่า โดยหลักแล้วจะยื่น ณ วันที่พ้นแล้วว่า มีทรัพย์สินอะไร ถ้าไม่มีหุ้น itv อยู่ก็ไม่จำเป็นต้องยื่น เพียงแต่ว่าอาจจะมีกรณีที่ป.ป.ช.อาจจะต้องสอบถามไปเพราะเป็นในกรณีประเด็นสำคัญว่าตกลงแล้วหุ้น itv ได้มีการจำหน่าย จ่ายโอนมั้ย จากกรณีปกติถ้าเขาไม่มี ณ วันที่พ้นก็ไม่ต้องยื่น

เมื่อถามตามข้อกฏหมายเมื่อพ่อเสียชีวิตแล้วหุ้นของพ่อจะกลายเป็นหุ้นมรดกจะตกแก่ทายาทโดยอัตโนมัติผลของกฏหมายซึ่งทายาทมี 3 คนแบ่งส่วนเท่าๆกัน โดยทายาท 1 คน ถูกตั้งให้เป็นผู้จัดการกองมรดก ซึ่งจะมีมิติซ้อนทางกฏหมายซ้อนเป็นทายาทผู้รับหุ้นมรดกด้วยหรือไม่ เลขา ป.ป.ช.กล่างว่า ตามกฏหมายป.ป.ช. ที่กำหนดให้มีการยื่นบัญชีจะยื่นบัญชีของผู้ยื่น ณ วันที่มีหน้าที่ต้องยื่นต้องเป็นทรัพย์สินของเขาจริงๆ เช่น วันนี้มีประเด็นเกี่ยวกับเรื่องเขามีการค้ำประกันให้กับบุคคลอื่น ซึ่งการค้ำประกันเมื่อเขายังไม่มีการผิดนัด ผู้ค้ำประกันยังไม่ถูกเรียก มูลหนี้ยังไม่เกิด ดังนั้น เขายังไม่มีหนี้ที่ต้องยื่น ซึ่งก็เหมือนกับกรณีผู้จัดการมรดก ถ้าเขาถือในฐานะผู้จัดการมรดกก็ยังไม่รู้ว่าสัดส่วนที่เขาจะได้รับเท่าไร หุ้นไม่มีการจ่ายเขาในฐานะส่วนตัวหรือแบ่งแยกในฐานะส่วนตัว