เครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนนานาชาติ หรือ International Sustainable Campus Network (ISCN) ได้เลือกให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็น 1 ใน 4 มหาวิทยาลัยที่ชนะเลิศรางวัลด้านความยั่งยืนประจำปี 2020 โดยได้มีพิธีมอบรางวัลทางออนไลน์ เมื่อวันที่ 14 พ.ค. เวลาประมาณ 21.00 น. (เวลาประเทศไทย) ที่ผ่านมา
โดยนับเป็นครั้งแรกที่มหาวิทยาลัยจากประเทศไทยได้รับรางวัลจาก ISCN โดยอีก 3 มหาวิทยาลัยที่ได้รับรางวัลคือ มหาวิทยาลัย McGill ประเทศแคนาดา มหาวิทยาลัย KTH ประเทศสวีเดน และมหาวิทยาลัย LUT ประเทศฟินแลนด์
สำหรับรางวัลที่ธรรมศาสตร์ได้รับคือ รางวัลชนะเลิศด้าน "Cultural Change for Sustainability" หรือ "การเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการดำเนินชีวิตเพื่อความยั่งยืน" จากการดำเนินการอย่างจริงจังในการลดขยะพลาสติกครั้งเดียวทิ้ง (No More Single-Use Plastics) โดยรางวัลนี้เป็นรางวัลที่มีการแข่งขันสูงที่สุดในปีนี้
นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืน ได้นำเสนอเรื่องการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมวิถีชีวิตในการเลิกใช้พลาสติกครั้งเดียวทิ้งของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเริ่มตั้งแต่ปี 2548 หรือ 15 ปีที่แล้ว โดยเริ่มรณรงค์ให้นักศึกษาลดการใช้ถุงพลาสติก และเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกที่แจกถุงผ้าให้นักศึกษาปี 1 ซึ่งนำมาสู่การยกเลิกการให้ถุงพลาสติกฟรีในร้านสะดวกซื้อกว่า 10 สาขาในมหาวิทยาลัย โดยเปลี่ยนเป็นการขายในปี 2558 (ราคา 1 บาท) และเลิกใช้ถุงพลาสติกในปี 2561
โดยหลักและวิธีการของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์คือ ต้องไม่ใช่แค่รณรงค์แบบมีแค่โปสเตอร์ หรือสโลแกน แล้วก็ไม่ใช่การเริ่มต้นด้วยการบังคับ หรือออกกฎมหาวิทยาลัย แต่คือการสร้างเงื่อนไขไปสู่การเปลี่ยนพฤติกรรม การมีส่วนร่วม การสร้างแรงบันดาลใจ และการเปลี่ยนแปลงโดยเริ่มต้นที่ตนเอง ซึ่งก็คือ cultural change นั่นเอง
เช่นเดียวกับการยกเลิกการใช้พลาสติกหุ้มฝาขวด หรือแค็ปซีล (ปี 2560) ซึ่งนำไปสู่การยกเลิกทั้งประเทศในเวลาต่อมา การยกเลิกแก้วพลาสติก และหลอดพลาสติกในโรงอาหาร (ปี 2561) และร้านกาแฟ (ปี 2562) และลดการใช้ช้อนส้อมพลาสติก และลดขวดน้ำดื่มพลาสติกอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงพลาสติกครั้งเดียวทิ้งอื่นๆ และนำไปสู่การประชุมและการจัดงานแบบ Zero Waste (ขยะเป็นศูนย์) ซึ่งการประชุมสภามหาวิทยาลัย และการประชุมคณะกรรมการต่างๆ ของมหาวิทยาลัย ใช้เหยือกน้ำ แก้วแบบล้าง ช้อนแบบล้าง โดยไม่มีพลาสติกครั้งเดียวทิ้งเลยมาตั้งแต่ปี 2560 และการเปิดร้านเติมเต็ม หรือ Refill Station ที่ผู้ซื้อต้องนำภาชนะมาเอง (ปี 2562) เพื่อส่งเสริมวิถีชีวิตแบบไม่ใช้พลาสติกครั้งเดียวทิ้ง โดยเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกในประเทศไทยที่มีร้านแบบนี้
โครงการล่าสุดในปีนี้คือ โครงการปิ่นโต รณรงค์และทำปิ่นโตให้เจ้าหน้าที่หน่วยงานต่างๆ ในมหาวิทยาลัยใช้ในการซื้ออาหาร เพื่อลดถุงแกงและกล่องพลาสติกใส่อาหาร ซึ่งดำเนินการอย่างได้ผล และได้นำมาใช้ที่โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ด้วย
ช่วงสุดท้ายนายปริญญา ได้เล่าถึงการดำเนินการลดขยะแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งที่โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ ซึ่งเริ่มเปิดมาตั้งแต่เดือน มี.ค. 2563 โดยได้มีการเลิกการใช้ช้อนส้อมพลาสติก และตะเกียบครั้งเดียวทิ้ง และเปลี่ยนมาใช้ช้อนส้อมและตะเกียบแบบล้าง และใช้ปิ่นโตส่งอาหาร ทั้งยังมีการติดตั้งตู้เติมน้ำดื่มเพื่อลดการใช้ขวดพลาสติก
นอกจากนี้ ที่สำคัญเป็นอย่างมากคือ โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ได้เปลี่ยนมาใช้ชุด PPE และถุงหุ้มรองเท้าแบบใช้ซ้ำภายใต้มาตรฐานความปลอดภัยทางการแพทย์ที่ไม่ลดลง เพื่อลดขยะติดเชื้อซึ่งเป็นขยะที่มีมากที่สุด โดยได้มีให้แพทย์และพยาบาลโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ ใส่ชุด PPE แบบใช้ซ้ำ และถุงหุ้มรองเท้าแบบใช้ซ้ำมาแสดงในระหว่างการนำเสนอด้วย
"ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เพียงเพื่อเรา แต่เพื่อลูกหลาน และเพื่ออนาคตของมนุษยชาติ เราสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ และเราต้องร่วมมือกันเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง" นายปริญญา กล่าวในท้ายที่สุด
รางวัล Cultural Change for Sustainability ในปีนี้ ซึ่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้รับเมื่อคืนวันที่ 14 พ.ค. ที่ผ่านมา เป็นรางวัลแบบ virtual โดยตัวรางวัลจริง ISCN จะได้ดำเนินการส่งมาให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ต่อไป
ทั้งนี้ International Sustainable Campus Network (ISCN) หรือ เครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนนานาชาติ เป็นเครือข่ายความร่วมมือของสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำทั่วโลก ที่ร่วมกันในการเปลี่ยนแปลงมหาวิทยาลัยจากเดิมที่มุ่งสร้างองค์ความรู้และบุคลากรไปสนับสนุนการพัฒนาที่มุ่งด้านเศรษฐกิจเป็นสำคัญ ให้กลายเป็นมหาวิทยาลัยยั่งยืน และมุ่งสร้างการพัฒนาที่สมดุลทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ตามแนวทาง Sustainable Development Goals (SDGs) หรือ เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ
ปัจจุบัน ISCN มีสมาชิกกว่า 80 มหาวิทยาลัยจาก 30 ประเทศ เช่น มหาวิทยาลัย ฮาร์วาด เอ็ม.ไอ.ที. พรินส์ตัน (สหรัฐอเมริกา) มหาวิทยาลัย อีพีเอฟแอล อีทีเอช-ซูริค ทียูเดล์ฟ (ยุโรป) มหาวิทยาลัย ชิงหัว เอ็น.ยู.เอช. ฮ่องกง ฮอกไกโด (เอเชีย) มหาวิทยาลัยเมลเบิร์น (ออสเตรเลีย) เป็นต้น
สำหรับประเทศไทยมีสมาชิก 3 มหาวิทยาลัยไทย ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี โดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทย ที่เข้าเป็นสมาชิกของ ISCN ในปี พ.ศ. 2555 และจะเป็นเจ้าภาพการจัดประชุมประจำปี ในเดือน มิถุนายน 2565 ที่อุทยานเรียนรู้ป๋วย 100 ปี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :