นายแพทย์ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ และโฆษกกรมการแพทย์ กล่าวว่า หิดเป็นโรคติดเชื้อทางผิวหนังที่พบบ่อย โดยเฉพาะในเด็กและในชุมชนแออัด ผู้ป่วยจะมีอาการคันในตอนกลางคืน ซึ่งอาการคันและผื่นเกิดจากปฏิกิริยาทางภูมิคุ้มกันของร่างกายต่อตัวหิด ไข่หิด หรือสิ่งขับถ่ายของหิด โดยผื่นมักเกิดหลังจากติดเชื้อหิดประมาณ 2 สัปดาห์ ลักษณะผื่นมักเป็นตุ่มน้ำใสหรือตุ่มแดงคัน ผื่นมักจะกระจายไปทั่วตัว บริเวณที่พบผื่นได้บ่อยคือ ง่ามมือ ง่ามเท้า ข้อพับแขน รักแร้ เต้านม รอบสะดือ ก้น และอวัยวะเพศ ในเด็กอาจพบผื่นบริเวณใบหน้าและศีรษะร่วมด้วย
นอกจากนี้ ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือผู้สูงอายุที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ร่างกายจะไม่สามารถจำกัดปริมาณเชื้อหิดได้ ทำให้ผู้ป่วยมีเชื้อหิดจํานวนมากบนผิวหนัง เกิดลักษณะแตกต่างออกไป คือ เป็นสะเก็ดหนาทั่วตัว ไม่คัน และมีกลิ่นเหม็น
แพทย์หญิงมิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การวินิจฉัยโรคโดยการซักประวัติร่วมกับตรวจร่างกายพบผื่นที่มีลักษณะจำเพาะ เมื่อพบรอยโรคที่เห็นเป็นเส้นเล็กๆ คดเคี้ยวที่ง่ามนิ้ว สามารถตรวจดูเชื้อหิดด้วยกล้องจุลทรรศน์เพื่อยืนยัน โดยขูดบริเวณผื่นคันจะพบตัวหิด ไข่ หรือ สิ่งขับถ่ายของหิด
ทั้งนี้ การรักษาโรคหิดจะตอบสนองได้ดีต่อยาทา โดยต้องทายาให้ทั่วตั้งแต่คอจนจรดปลายนิ้วเท้า เน้นบริเวณซอกต่างๆ รวมทั้ง ซอกเล็บ ในเด็กเล็กให้ทาทั้งตัวตั้งแต่ศีรษะ ใบหน้า คอ ใบ หูโดยเฉพาะหลังหู ร่องก้น ง่ามนิ้วและใต้เล็บ โดยปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
สำหรับการป้องกันการแพร่กระจายและการกลับเป็นโรคซ้ำ คือ ควรรักษาสมาชิกทุกคนในครอบครัวพร้อมๆ กัน ถึงแม้ไม่มีอาการ เพราะอาจอยู่ในระยะฟักตัว ทําความสะอาดเครื่องใช้ เครื่องนุ่งห่ม ที่นอน ผ้าปูที่นอน ผ้าห่ม ผ้าคลุมเตียง เสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว ที่ใช้ใน 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา สําหรับเครื่องนุ่งห่มที่ซักไม่ได้ เช่น ที่นอน หมอน พรม และเฟอร์นิเจอร์ในบ้านควรดูดฝุ่น หรือเก็บไว้ในถุงพลาสติก ปิดปากถุงให้แน่น เก็บไว้ในที่อุ่นที่มีแสงแดดส่องถึงเป็นเวลาอย่างน้อย 3 วัน แยกของใช้ส่วนตัว เช่น หวี ผ้าเช็ดตัว เครื่องนุ่งห่ม ไม่ใช้ร่วมกับผู้อื่น และตัดเล็บให้สั้น ไม่แคะแกะเกาผื่น