ไม่พบผลการค้นหา
สำนักข่าวรอยเตอร์สเผยแพร่รายงานพิเศษ กรณีรัฐบาลไทยถอนคำสั่งแบนสารเคมีกำจัดวัชพืช 'ไกลโฟเซต' ปีที่แล้ว เกี่ยวพัน จนท.สหรัฐฯ และบริษัทเอกชนซึ่งหาทางล็อบบี รมช.-นายกฯ ไทย แต่บริษัทที่ถูกพาดพิงย้ำ ไทยทบทวนคำสั่งแบนไกลโฟเซตเพราะ 'หลักฐานทางวิทยาศาสตร์'

รายงานพิเศษ Exclusive: In the weeds - How Bayer, U.S. government teamed up against Thailand's glyphosate ban ของรอยเตอร์ส เผยแพร่สู่สาธารณะเมื่อวันที่ 17 ก.ย.2563 โดยมีข้อมูลบ่งชี้ว่าเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้ให้ความช่วยเหลือบริษัทเอกชนที่เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายเคมีภัณฑ์รายใหญ่ของโลก

'ไบเออร์' เจ้าของแบรนด์สารเคมีกำจัดวัชพืช 'ราวด์อั้พ' ซึ่งมีไกลโฟเซตเป็นส่วนผสมหลัก ต้องการเข้าถึงรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและนายกรัฐมนตรีไทย จึงได้ขอความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐฯ และปีที่แล้วทางการไทยก็มีคำสั่งระงับมาตรการแบน 'ไกลโฟเซต' ในการทำเกษตรไปเพียงไม่กี่วันก่อนที่คำสั่งจะมีผลบังคับใช้

รอยเตอร์สระบุว่าศูนย์ความหลากหลายทางชีววิทยาในเมืองทูซอน รัฐแอริโซนาของสหรัฐฯ ซึ่งคัดค้านการใช้สารเคมีทางการเกษตร เป็นผู้ยื่นเรื่องขอข้อมูลโต้ตอบระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐบาลผู้รับผิดชอบด้านการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ ที่มีต่อ 'จิม ทราวิส' ผู้บริหารฝ่ายกิจการรัฐบาลระหว่างประเทศของบริษัทไบเออร์เมื่อปี 2562 โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายรับรองเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร

จากการตรวจสอบข้อมูลดังกล่าว รอยเตอร์สพบว่าทั้งสองฝ่ายได้หารือกันกรณีไทยมีมติว่าจะสั่งห้ามใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม โดยรวมถึงสารไกลโฟเซตที่เป็นสินค้าทำรายได้ให้แก่ไบเออร์เป็นจำนวนมหาศาล

นอกจากนี้ เอกสารตอบโต้ระหว่าง จนท.รัฐบาลสหรัฐฯ และทราวิส จำนวนกว่า 200 หน้า มีบทสนทนาตอนหนึ่งที่พาดพิงถึง 'มนัญญา ไทยเศรษฐ์' รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ขณะนั้น ว่าเป็นหนึ่งในผู้ผลักดันการแบนสารเคมีกำจัดศัตรูพืช

ทราวิสจึงบอกกับ จนท.สหรัฐฯ ผู้นั้นว่า ถ้ามีการหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ว่าอะไรคือ 'แรงจูงใจ' ในการผลักดันแผนระงับใช้สารเคมีในครั้งนี้ของ รมช.มนัญญา ก็จะช่วยบริษัทได้อย่างมาก แต่ถ้าจะให้ดี อยากให้ จนท.ฝ่ายการค้าช่วยเชื่อมโยงถึงตัวนายกรัฐมนตรีไทย เพื่อจะได้พูดคุยเจรจาให้ทบทวนแผนดังกล่าว

ป่า-ภูเขา-วิถีชีวิต-ฤดูแล้ง-เชียงใหม่-เกษตรกร

เผยชื่อ 'ผู้เกี่ยวข้อง' ต่อรองเลิกแบนสารเคมี สอดคล้องข้อมูลเอ็นจีโอไทย

รอยเตอร์สรายงานว่า ทางการไทยมีมติในเดือน ต.ค. ว่าจะห้ามใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช 3 ชนิด ได้แก่ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ในระบบการเกษตรทั่วประเทศ ซึ่งจะมีผลในเดือน ธ.ค.2562 แต่หลังจากนั้นไม่นาน คณะกรรมการวัตถุอันตรายก็ระงับแผนแบนสารเคมีทั้ง 3 ตัว ซึ่งอาจตีความได้ว่ารัฐบาลสหรัฐฯ และบริษัทเอกชนได้ร่วมกันกดดันรัฐบาลไทยให้เปลี่ยนใจเรื่องการออกคำสั่งแบนสารเคมี

อย่างไรก็ตาม ตัวแทนบริษัทไบเออร์ได้ตอบคำถามของรอยเตอร์ส โดยยืนยันว่า บริษัทไม่ได้แทรกแซงหรือใช้อิทธิพลใดๆ กดดันรัฐบาลไทย แต่เหตุผลที่ทางการไทยเปลี่ยนใจ น่าจะมาจากการพิจารณาข้อมูลประกอบหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ จึงทำให้เข้าใจได้ว่าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชของไบเออร์ไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ อีกทั้งรัฐบาลสหรัฐฯ ก็อนุญาตให้ใช้สารเคมีในแวดวงอุตสาหกรรมเกษตรของประเทศตัวเองด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ยังมีรายงานด้วยว่า 'เท็ด แมคคินนี' ผู้ช่วยรัฐมนตรีด้านการค้าและกิจการเกษตรระหว่างประเทศของสหรัฐฯ ได้ส่งหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 ต.ค. 2562 เพื่อขอให้ไทยระงับการแบนสารเคมี สอดคล้องกับที่ 'ไบโอไทย' มูลนิธิไม่แสวงผลกำไรของไทย เคยเผยแพร่หนังสือของแมคคินนีเมื่อเดือน ต.ค.ปีที่แล้ว โดยระบุว่าเป็นแรงกดดันที่ทำให้รัฐบาลไทยเปลี่ยนใจเรื่องสารเคมี

ขณะที่ 'รัชดา ธนาดิเรก' รองโฆษกรัฐบาล ให้สัมภาษณ์รอยเตอร์ส ยืนยันว่า รัฐบาลไทยใส่ใจการเกษตรปลอดภัย ทั้งยังให้ความสำคัญกับเกษตรกรและผู้บริโภคมาตลอด แต่สารเคมีไกลโฟเซตถูกใช้ในอุตสาหกรรมเกษตรทั่วโลก ทั้งยังไม่มีตัวเลือกที่จะมาทดแทนกันได้ จึงจำเป็นต้องปล่อยให้มีการใช้สารเคมีดังกล่าวต่อไป แต่ทาง 'มนัญญา ไทยเศรษฐ์' ไม่ตอบคำถามของรอยเตอร์สที่ติดต่อไปเพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติม

  • ข้อมูลของ 'ไบโอไทย' สอดคล้องกับรายงานของรอยเตอร์ส

ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ตอบคำถามสื่อว่าได้รับการติดต่อจากแมคคินนีจริงหรือไม่ และท่าทีเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ รับทราบว่าคณะกรรมการวัตถุอันตรายกลับคำตัดสินใจเรื่องแบนสารเคมีเมื่อปีที่แล้ว ก็เป็นเพียงการกล่าวแค่สั้นๆ ว่า "ไม่มีปัญหาอะไร"

ส่วนแถลงการณ์ของไบเออร์ ประเทศไทย ที่เผยแพร่เมื่อปี 2562 ระบุว่า ไบเออร์เคารพและสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลไทยต่อการดำเนินงานเพื่อลดการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชในภาคเกษตรกรรม และส่งเสริมให้เกิดทางเลือกอื่นในการทำการเกษตร แต่การจะยกเลิกการใช้ไกลโฟเซต และสารเคมีอีก 2 ชนิด อาจนำมาซึ่งผลกระทบวงกว้างต่อผลผลิตทางการเกษตรที่ลดลง ความมั่นคงด้านอาหาร และการพัฒนาเศรษฐกิจและความยั่งยืน

ขณะที่สารไกลโฟเซตของไบเออร์มีประวัติการใช้งานทั่วโลกมากว่า 40 ปี และได้รับการยืนยันจากหน่วยงานกำกับดูแลด้านสุขภาพทั่วโลกที่สรุปไว้ว่า ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของไกลโฟเซตของบริษัทไบเออร์สามารถใช้ได้อย่างปลอดภัยหากใช้ตามคำแนะนำ และไม่ก่อให้เกิดมะเร็ง 

อย่างไรก็ตาม รอยเตอร์สชี้ว่า หน่วยงานวิจัยขององค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุลงในรายงานที่เผยแพร่เมื่อเดือน มี.ค. 2558 ว่าไกลโฟเซตมีแนวโน้มจะเป็นสารเคมีก่อมะเร็ง