วันนี้ (21 กุมภาพันธ์ 2568) ที่ โรงพยาบาลแม่สอด จังหวัดตาก นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประชุมติดตามการดำเนินงานด้านการแพทย์และสาธารณสุข สำหรับพื้นที่พักพิงชั่วคราวผู้หนีภัยการสู้รบจากเมียนมาในพื้นที่จังหวัดตาก โดยมี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายชูชีพ พงษ์ไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.พิทักษ์พงษ์ จันทร์แดง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตาก ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข หน่วยงานราชการ และภาคีเครือข่ายในพื้นที่ร่วมประชุม
นายสมศักดิ์ กล่าวถึงกรณีสหรัฐอเมริกามีหนังสือแจ้งหยุดกิจกรรมโครงการทั้งหมดที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐฯ เป็นเวลา 3 เดือน เมื่อปลายเดือนมกราคม 2568 ที่ผ่านมา ทำให้หลายฝ่ายมีข้อกังวลถึงผลกระทบต่อภาระงานของสถานบริการสาธารณสุขในพื้นที่ ว่า รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาและได้เร่งดำเนินการในทุกด้านอย่างเต็มที่ โดยกระทรวงสาธารณสุขได้หารือประเด็นดังกล่าวกับผู้แทนองค์กร/หน่วยงานระหว่างประเทศหลายหน่วยงาน อาทิ องค์การอนามัยโลก องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน ประเทศไทย (IOM) สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) และเลขาธิการ ASEAN เพื่อสนับสนุนความช่วยเหลือทั้งด้านงบประมาณ บุคลากร และเวชภัณฑ์
“จังหวัดตาก มีพื้นที่พักพิงชั่วคราวฯ 3 แห่ง คือ บ้านแม่หละ อำเภอท่าสองยาง, บ้านอุ้มเปี้ยม อำเภอพบพระและบ้านนุโพ อำเภออุ้มผาง มีผู้หนีภัยรวม 48,626 คน หลัง IRC ระงับบริการ จนถึง19 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมาทั้งโรงพยาบาลแม่ระมาด โรงพยาบาลท่าสองยาง โรงพยาบาลพบพระ โรงพยาบาลอุ้มผาง ซึ่งเป็นโรงพยาบาลชุมชนรับส่งต่อเบื้องต้น และโรงพยาบาลแม่สอด ซึ่งรับส่งต่อกรณีเกินศักยภาพ มีผู้หนีภัยส่งมารับบริการแบบผู้ป่วยนอก 325 ราย และผู้ป่วยใน 69 ราย ผู้ป่วยฉุกเฉิน 60 ราย ยังไม่ได้มีภาระงานเพิ่มขึ้นมากอย่างที่กังวล” นายสมศักดิ์กล่าว
นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ล่าสุดเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา องค์กร International Rescue Committee (IRC) มีหนังสือแจ้งว่าได้รับอนุญาตให้ดำเนินกิจกรรมบางส่วนเพื่อสนับสนุนรัฐบาลไทยในการดูแลสุขภาพผู้หนีภัยจากการสู้รบในพื้นที่พักพิงชั่วคราวฯ ทั้ง 7 แห่ง (ราชบุรี 1 แห่ง, กาญจนบุรี 1 แห่ง, แม่ฮ่องสอน 2 แห่ง และ ตาก 3 แห่ง) ในช่วงเวลาดังกล่าวแล้ว โดยเป็นการดูแลสุขภาพผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน ซึ่งครอบคลุมทั้งผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง วัณโรคและเอชไอวี การดูแลหญิงตั้งครรภ์จนถึงหลังคลอด การให้วัคซีน รวมไปถึงการจัดสิ่งสนับสนุนทั้งยา เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ต่างๆ และการดูแลน้ำดื่ม น้ำใช้ สุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม ศูนย์พักพิงชั่วคราวฯ ยังคงตั้งอยู่ในพื้นที่ประเทศไทย ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุขจึงวางแนวทางแก้ไขปัญหาในระยะยาว เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบเช่นนี้อีก โดยจะมีการกำหนดนโยบายด้านสุขภาพประชากรข้ามชาติและยุทธศาสตร์สาธารณสุขชายแดน พร้อมทั้งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านสุขภาพ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของโรงพยาบาลชายแดนทั้งด้านบุคลากรและงบประมาณ ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ เช่น ระบบ Telemedicine มาช่วยในการบริการ และจัดทำข้อตกลงกับรัฐบาลประเทศเพื่อนบ้านเพื่อวางแนวทางการจัดการสุขภาพของผู้หนีภัยอย่างเป็นระบบ
ด้าน นพ.พิทักษ์พงษ์ กล่าวว่า การดูแลด้านการแพทย์และสาธารณสุขในพื้นที่พักพิงชั่วคราวฯ จังหวัดตาก มีเป้าหมายเพื่อป้องกันควบคุมโรคติดต่อไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดมาสู่คนไทย โดยมีผู้พักพิงในศูนย์อพยพที่ได้รับการฝึกฝนเพื่อปฏิบัติงานทางการแพทย์ (Medic) เป็นผู้ดำเนินการ ภายใต้การควบคุม กำกับ แนะนำของหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ ดังนี้ โรงพยาบาลท่าสองยาง สสอ.ท่าสองยาง และโรงพยาบาลแม่ระมาด ดูแลพื้นที่พักพิงชั่วคราวบ้านแม่หละ, โรงพยาบาลพบพระ ดูแลพื้นที่พักพิงชั่วคราวบ้านอุ้มเปี้ยม และ โรงพยาบาลอุ้มผาง ดูแลพื้นที่พักพิงชั่วคราวบ้านนุโพ กรณีที่มีอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินรุนแรงเกินศักยภาพ จะส่งตัวรักษายังโรงพยาบาลชุมชนที่ดูแล และหากไม่สามารถรักษาได้จะส่งต่อไปยังโรงพยาบาลแม่สอด