ไม่พบผลการค้นหา
นักวิชาการ ด้านกฎหมายระบุ ประชาชนจะไม่ยอมรับศาลรัฐธรรมนูญ หากวินิจฉัย กรณี ส.ส.ถือหุ้นสื่อแตกต่างกัน มองสภาฯ ตั้งกรรมาธิการวิสามัญสอบ กรรมการสรรหา ส.ว. ชอบด้วยหลักนิติธรรม พร้อมแนะขอประชามติ จากประชาชนเปิดทางแก้รธน.

นายพนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เห็นว่ากรณีการตรวจสอบการถือหุ้นสื่อของนักการเมือง โดยศาลรัฐธรรมนูญ ต้องเป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด ดังนั้นผู้ถูกร้อง เพิ่มเติมอีกจำนวน 41 คน ซึ่งเป็นส.ส.ฝ่ายรัฐบาล และมีเหตุอันควรสงสัยเช่นกันนั้นศาลรัฐธรรมนูญจะต้องวินิจฉัย โดยใช้บรรทัดฐานเดียวกับนายธนาธร คือให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ จะอ้างเหตุการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่ และมีภาระหน้าที่จำเป็นต้องปฏิบัติจึงอนุญาตให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ จะทำให้ประชาชนไม่ยอมรับผลคำวินิจฉัย 

"ฉันใดก็ฉันนั้น คุณธนาธรก็เป็น ส.ส. ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าถ้าให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจะเป็นปัญหาต่างๆ ขึ้นมา อย่างที่ศาลรัฐธรรมนูญว่า ดังนั้นฉันใดก็ฉันนั้น อีก 41 คนก็เป็นส.ส.เหมือนกันก็ควรที่จะต้อง ให้ปฏิบัติหน้าที่ เช่นเดียวกัน มันถึงจะเป็นมาตรฐานเดียวกัน"

นายพนัส เห็นว่า หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยทั้งสองกรณี ออกมาแตกต่างกันสังคมจะมองบรรทัดฐานว่าศาลมีการทำงาน 2 มาตรฐาน อย่างไรก็ตาม นายพนัสเห็นว่าไม่มีเหตุผลใด ที่จะให้นายธนาธรหยุดปฏิบัติหน้าที่ โดยเฉพาะเหตุผลที่ศาลรัฐธรรมนูญนำมา กล่าวอ้าง ไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะให้หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่หยุดปฏิบัติหน้าที่ เพราะการปฏิบัติหน้าที่ส.ส.ในสภาฯ มีกฎกติกา มีข้อบังคับของสภาควบคุม มีประธานรัฐสภา เป็นผู้ควบคุมกฎกติกา และยังมีส.ส.พรรคฝ่ายตรงข้าม คอยกำกับควบคุมดังนั้นที่อ้างว่า การปฏิบัติหน้าที่ของนายธนาธรจะทำให้เกิดปัญหา เป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผล 

ส่วนกรณีกรอบการทำงานช้าเร็วที่มีความแตกต่างกัน ของศาลรัฐธรรมนูญอาจถูกมองได้ว่าเป็นการเลือกปฏิบัติหรือไม่ เพราะการตรวจสอบบุคคลที่ถูกร้องทั้งหมด ก็ปฏิบัติในรูปแบบเดียวกัน ว่าได้ถือหุ้นจริงหรือไม่ แต่เหตุใดจึงใช้เวลานาน แล้วจึงตัดสินออกมา ต่างจากกรณีของนายธนาธร ที่ใช้เวลาไม่ถึง 100 วัน 

นายพนัสยังกล่าวถึงกรณี การตั้งคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาซึ่งเปลี่ยนที่เคลือบแคลงสงสัยของสังคม ทั้งการไม่ประกาศรายชื่อลงในราชกิจจานุเบกษา บุคคลที่ได้รับการคัดเลือกเข้าเป็นสมาชิกวุฒิสภามีรายชื่อของคณะกรรมการสรรหาปรากฏ มีบุคคลที่เป็นเครือญาติใกล้ชิดฝ่ายผู้มีอำนาจเข้าไปทำหน้าที่ สะท้อนว่าเป็นเรื่องของการขัดกันแห่งผลประโยชน์ (Conflict of Interest) รวมถึงการใช้งบประมาณในการคัดเลือกสมาชิกวุฒิสภากว่าพันล้านบาท เหตุใดจึงใช้งบประมาณมากมาย

ดังนั้นโดยหลักแล้วสภาผู้แทนราษฎร จึงมีหน้าที่ หน้าที่โดยรัฐธรรมนูญหน้าที่โดยหลักกฎหมายและหน้าที่โดยหลักการที่ถูกต้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือหลักนิติธรรม ที่ต้องทำให้เกิดความกระจ่างชัด ว่ามีปัญหาใดที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ซึ่งควรมีที่มาอย่างโปร่งใส ใสสะอาด ถึงเป็นหน้าที่โดยตรงของสภาผู้แทนราษฎร ส่วนจะถูกผิดอย่างไร จะต้องมีหน่วยงาน ที่นำข้อสรุปของ คณะกรรมาธิการวิสามัญ สภาผู้แทนราษฎรไปชี้ขาดอีกครั้ง 

นายพนัส ระบุว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องอาศัยมติมหาชน สิ่งที่พึงกระทำเป็นเรื่องแรกคือการทำประชามติขอความเห็นประชาชนว่า ต้องการให้แก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพื่อฟังเสียงของประชาชนคนไทยทั้งประเทศว่ารู้สึกอย่างไรต่อรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เพราะไปสร้างกลไก จนทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแทบเป็นไปไม่ได้ เพราะต้องผ่านความเห็นชอบ จากสมาชิกฝ่ายค้าน ผ่านความเห็นชอบจากสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งได้รับประโยชน์จากรัฐธรรมนูญ โอกาสที่จะได้รับความเห็นชอบจึงเป็นเรื่องยาก

ดังนั้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องไปเริ่มจากการขอมติจากมหาชนผ่านการทำประชามติซึ่งอาจจะถามไปในคราวเดียวกันว่าต้องการให้แก้ไขในประเด็นใดและเรื่องใดบ้างหรือจะแก้ไขทั้งฉบับผ่านกลไกของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งในอดีตปี 2540 เคยดำเนินการมาแล้วในรูปแบบของสสร.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :