ไม่พบผลการค้นหา
ประชุมวุฒิสภา รับทราบรายงานแผนปฏิรูปประเทศ จี้ชง ป.ป.ช. ถอดถอนหน่วยงานเมินปฏิรูปประเทศ จวกแผนปฏิรูปด้านศึกษาไร้ความคืบหน้า ด้าน สศช. แจงรอรัฐบาลใหม่พิจารณากฎหมายปฏิรูปการศึกษา

ที่บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ถนนแจ้งวัฒนะ มีการประชุมวุฒิสภา พิจารณารายงานความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 270 ประจำเดือนม.ค. – มี.ค. 2562 ซึ่งที่ประชุมมีทั้งอภิปรายให้ความเห็น ข้อเสนอแนะ และแนะนำให้การปรับการทำงาน โดยนายวันชัย สอนศิริ ส.ว. อภิปรายว่า แผนการปฏิรูปประเทศ คือ สิ่งชี้วัดผลงานของรัฐบาล และเป็นภารกิจที่รัฐบาลต้องปฏิบัติให้สำเร็จภายใต้กรอบที่รัฐธรรมนูญกำหนดคือ 5 ปี ขณะนี้เวลาปฏิบัติเหลือเพียง 3 ปีเศษ ดังนั้น ต้องเร่งดำเนินการสำหรับบทบาทของส.ว.ที่ว่าด้วยการติตตามงานปฏิรูปนั้น หากพบความไม่คืบหน้า หรือหน่วยงานใดไม่ทำ ก็สามารถส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อให้ดำเนินการถอดถอนบุคคลดังกล่าวออกจากตำแหน่งได้ ขณะที่การปฏิรูปว่าด้วยการเมืองที่วางโจทย์ให้การเลือกตั้งโปร่งใส สุจริตนั้น แต่การเลือกตั้งส.ส.ที่ผ่านมากลับพบว่ามีประเด็นร้องเรียนกว่า 500 เรื่อง

นายตวง อันทะไชย ส.ว. อภิปรายว่า แผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาไร้ความคืบหน้า แม้จะมีกฎหมายว่าด้วยกองทุนการศึกษาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำของคนในช่วงวัยที่ควรได้รับการศึกษา แต่กลับไม่สามารถปฏิบัติได้ นอกจากนี้ งานปฏิรูปการศึกษาที่เป็นหัวใจของงานปฏิรูปตามที่กำหนดให้มีกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาตินั้น ยังไม่พบการออกกฎหมาย ทั้งที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ใช้เวลาพิจารณา 1 ปี ทำให้คุณภาพของการศึกษาที่เน้นเรื่องการกระจายอำนาจไม่เกิดขึ้น รวมทั้งยังพบปัญหาการทุจริตในสถาบันการศึกษา อาทิ มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ ซึ่งพบว่าบุคคลที่ต้องการตำแหน่งแต่งตั้งตัวเองเข้าไปทำหน้าที่ ซึ่งขัดต่อกฎหมาย ดังนั้นหากไม่ทำประเด็นดังกล่าวให้ถูกต้อง ส.ว.อาจจะต้องใช้สิทธิยื่นคณะกรรมการ ป.ป.ช.

ขณะที่ พล.อ.ต.นพ.เฉลิมชัย เครืองาม ส.ว. อภิปรายว่า การปฏิรูปถูกมองว่าเป็นวาทกรรมตามกระแสสังคม แต่ที่ประชุมสภาฯรุมกล่าวหาว่าการปฏิรูปเหลว ทั้งที่รัฐบาลที่ผ่านมามีผลงานปฏิรูปประเทศจำนวนมาก แต่เพราะขาดการประชาสัมพันธ์ที่ดี การปฏิรูปที่เป็นรูปธรรมชัดเจน คือการประกาศใช้ พ.ร.บ.ระบบสุขภาพแบบปฐมภูมิ เป็นการปฏิรูประบบสุขภาพของประเทศครั้งยิ่งใหญ่

ด้านนายดนุชา พิชยนันท์ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ชี้แจงว่า การบัญญัติกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปการศึกษาอยู่ระหว่างการจัดทำ และต้องรอให้คณะรัฐมนตรีชุดใหม่พิจารณา ส่วนข้อเสนอแนะของ ส.ว. จะรับไปพิจารณาหารือและแก้ไขต่อไป