ไม่พบผลการค้นหา
นายกฯแพทองธาร ให้การต้อนรับ ปธน.อินโดนีเซีย เยือนไทยอย่างเป็นทางการ พร้อมหารือเต็มคณะ ภายใต้กลไก Leaders’ Consultation ครั้งแรก ฉลองความสัมพันธ์ 75 ปี อย่างยิ่งใหญ่ ยกระดับเป็น “หุ้นส่วนยุทธศาสตร์” ปูทางความร่วมมือไทย-อินโดนีเซียในทุกมิติร่วมกัน

วันนี้ (19 พฤษภาคม 2568) ณ บริเวณสนามหญ้าหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้การต้อนรับ นายปราโบโว ซูบียันโต (H.E. Mr. Prabowo Subianto) ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ในโอกาสการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาล

นายกรัฐมนตรีไทยและประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ได้ร่วมตรวจแถวกองทหารเกียรติยศ ณ บริเวณสนามหญ้าหน้าตึกไทยคู่ฟ้า จากนั้น นายกรัฐมนตรีเชิญประธานาธิบดีอินโดนีเซียไปยังห้องสีม่วงเพื่อแนะนำคณะรัฐมนตรี และไปยังห้องสีงาช้างด้านนอก เพื่อลงนามในสมุดเยี่ยมและชมของที่ระลึกที่ทั้งสองฝ่ายมอบให้แก่กัน หลังจากนั้น เวลา 10.20 น. นายกรัฐมนตรีทั้งสองร่วมหารือทวิภาคีเต็มคณะ ภายใต้กลไกหารือระดับผู้นำ (Leaders’ Consultation) ครั้งที่ 1 ณ ตึกภักดีบดินทร์ 

นายกรัฐมนตรีกล่าวยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ให้การต้อนรับประธานาธิบดีอินโดนีเซียเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการครั้งแรกในรอบ 20 ปี ถือเป็นโอกาสอันดีในการเน้นย้ำถึงมิตรภาพอันยาวนานระหว่างไทยกับอินโดนีเซีย ตลอดจนเสริมสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในปีนี้ ซึ่งเป็นโอกาสครบรอบ 75 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน 

ประธานาธิบดีอินโดนีเซียขอบคุณนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลไทยที่ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น พร้อมชื่นชมความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับอินโดนีเซียที่มีความใกล้ชิดกันมาอย่างยาวนาน ตลอดจนยินดีต่อการยกระดับความสัมพันธ์ทวิภาคีไทย - อินโดนีเซียเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ (Strategic Partnership) ซึ่งจะเป็นการเปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ระหว่างกัน นอกจากนี้ ประธานาธิบดีอินโดนีเซียเชื่อมั่นว่า การหารือระหว่างกันภายใต้กลไกหารือระดับผู้นำ (Leaders’ Consultation) จะช่วยผลักดันความร่วมมือระหว่างกันให้คืบหน้าได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น โดยอินโดนีเซียพร้อมเป็นเจ้าภาพจัดการหารือระดับผู้นำร่วมกันในครั้งต่อไป พร้อมเชิญนายกรัฐมนตรีและคณะเยือนอินโดนีเซียอย่างเป็นทางการในโอกาสที่เหมาะสมต่อไป 

โอกาสนี้ ผู้นำทั้งสองได้หารือร่วมกันเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างกัน ดังนี้

1. ความสัมพันธ์ทวิภาคี ทั้งสองฝ่ายยินดีต่อการประกาศยกระดับความสัมพันธ์ทวิภาคีไทย - อินโดนีเซียเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ ซึ่งนับเป็นหมุดหมายสำคัญที่สะท้อนว่า ทั้งสองประเทศกำลังก้าวไปสู่ความร่วมมือในระดับที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น โดยนายกรัฐมนตรียินดีอย่างยิ่งที่ได้เป็นเจ้าภาพจัดการหารือระดับผู้นำไทย-อินโดนีเซีย เป็นครั้งแรกในวันนี้ เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือในระดับผู้นำให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ซึ่งนายกรัฐมนตรีเห็นว่า ผู้นำทั้งสองฝ่ายควรพบปะกันอย่างสม่ำเสมอเพื่อประสานความร่วมมือระหว่างกัน พร้อมทั้งผลักดันให้มีการแลกเปลี่ยนการเยือนในระดับสูงระหว่างกันอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้งสองประเทศร่วมกันจัดทำแผนยุทธศาสตร์ (Plan of Action) ที่มีเป้าหมายชัดเจน เพื่อสนับสนุนความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ระหว่างกันให้เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น 

2. ความร่วมมือด้านความมั่นคง ทั้งสองฝ่ายพร้อมเพิ่มพูนความร่วมมือในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ โดยเฉพาะการหลอกลวงทางออนไลน์ (Online Scam) การค้ามนุษย์ และยาเสพติด ซึ่งนายกรัฐมนตรีเห็นว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้งสองประเทศควรทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด พร้อมขอให้ฝ่ายอินโดนีเซียแบ่งปันข้อมูลการสอบสวนชาวอินโดนีเซียที่เกี่ยวข้องกับขบวนการหลอกลวงทางออนไลน์ ซึ่งไทยได้ให้ความช่วยเหลือจากเมียนมาอย่างปลอดภัย เพื่อขยายผลการสอบสวนต่อไป นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีเห็นว่าทั้งสองฝ่ายควรร่วมกันผลักดันการจัดทำความตกลงเกี่ยวกับการโอนตัวนักโทษ โดยไทยพร้อมยกร่างความตกลงระหว่างกัน

ด้านประธานาธิบดีอินโดนีเซียขอบคุณรัฐบาลไทยสำหรับการให้ความช่วยเหลือชาวอินโดนีเซียที่เกี่ยวข้องกับขบวนการหลอกลวงทางออนไลน์ อินโดนีเซียพร้อมร่วมมือกับฝ่ายไทยอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน นอกจากนี้ ประธานาธิบดีอินโดนีเซียเห็นว่า ทั้งสองฝ่ายยังมีศักยภาพที่จะเพิ่มพูนความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างกันได้อีกมาก โดยเฉพาะความร่วมมือในด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ความร่วมมือระหว่างกองทัพ ทั้งในด้านการเพิ่มการฝึกร่วมกันและความร่วมมือด้านการศึกษา

3. ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันว่า ไทยและอินโดนีเซียยังมีศักยภาพที่จะเพิ่มพูนการค้าระหว่างกันได้อีกมาก โดยไทยพร้อมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมการร่วมด้านการค้า (Joint Trade Committee: JTC) ไทย - อินโดนีเซีย ระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นครั้งแรกภายในปีนี้ เพื่อเป็นกลไกหลักในการเพิ่มปริมาณการค้า ลดอุปสรรค และส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกันอย่างเป็นรูปธรรม 

นอกจากนี้ ไทยและอินโดนีเซียมีการลงทุนระหว่างกันเป็นจำนวนมาก โดยภาคเอกชนไทยสนใจขยายการลงทุนในอินโดนีเซียอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในภาคพลังงาน ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ขอให้ฝ่ายอินโดนีเซียช่วยคุ้มครองและสนับสนุนการลงทุนของเอกชนไทย รวมถึงแก้ไขปัญหาอุปสรรคของภาคเอกชนไทยในอินโดนีเซีย ตลอดจนเชิญชวนภาคเอกชนอินโดนีเซียให้เข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้นในสาขาที่มีศักยภาพร่วมกัน ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนของไทย (BOI) ของไทยกับคณะกรรมการประสานงานการลงทุนของอินโดนีเซีย (Indonesian Investment Coordinating Board: BKPM) ประสานความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด เพื่อผลักดันการลงทุนระหว่างกันให้มากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ประธานาธิบดีอินโดนีเซียพร้อมให้การสนับสนุนภาคเอกชนไทยในอินโดนีเซีย และเชิญชวนภาคเอกชนไทยร่วมลงทุนในกองทุน Danantara ซึ่งเป็นกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ (sovereign wealth fund) ที่รัฐบาลอินโดนีเซียชุดปัจจุบันตั้งขึ้นใหม่ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของรัฐวิสาหกิจอินโดนีเซีย โดยนายกรัฐมนตรีพร้อมสนับสนุนภาคเอกชนไทยในการเข้าไปแสวงหาโอกาสการลงทุนในอินโดนีเซียเพิ่มเติมต่อไป

4. ความร่วมมือด้านการเกษตร การประมง และความมั่นคงทางอาหาร นายกรัฐมนตรีเสนอให้มีการต่ออายุบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการค้าข้าว โดยไทยพร้อมจำหน่ายข้าวเพิ่มเติมให้กับอินโดนีเซีย เพื่อสนับสนุนความมั่นคงทางอาหารของอินโดนีเซีย พร้อมทั้งผลักดันให้มีการเปิดตลาดสินค้าเกษตร โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ ปศุสัตว์ และผลไม้สด รวมถึงสนับสนุนให้มีการจัดตั้ง Halal Task Force ระหว่างกัน เพื่อประสานมาตรฐานสินค้าฮาลาลของทั้งสองประเทศ นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีเสนอให้มีการจัดตั้ง Working Group สองฝ่าย เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการร่วมทุนในอุตสาหกรรมประมง เพื่อส่งเสริมการทำการประมงอย่างยั่งยืนและความมั่นคงทางอาหาร ทั้งนี้ ประธานาธิบดีอินโดนีเซียขอบคุณไทยที่สนับสนุนความมั่นคงทางอาหารของอินโดนีเซีย โดยพร้อมมีความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับไทยต่อไป รวมถึงเพิ่มพูนความร่วมมือในด้านที่ทั้งสองฝ่ายมีศักยภาพ โดยเฉพาะด้านความยั่งยืนและพลังงานสะอาด

5. ความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว ทั้งสองฝ่ายยินดีที่ไทยและอินโดนีเซียมีการแลกเปลี่ยนนักท่องเที่ยวระหว่างกันเพิ่มมากขึ้น โดยนายรัฐมนตรีเสนอให้ทั้งสองฝ่ายทำการตลาดร่วมกัน สำหรับการท่องเที่ยวเรือสำราญและเรือยอร์ช การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และการท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องกับการจัดประชุม สัมมนา การท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล การแสดงสินค้า และนิทรรศการระดับนานาชาติ (MICE Tourism) 

นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยินดีต่อการเตรียมเปิดเส้นทางการบินใหม่ระหว่างเมืองสุราบายา - กรุงเทพฯ และเมืองเมดาน - กรุงเทพฯ ของสายการบิน Lion Air และเส้นทางระหว่างเมืองเมดาน - ภูเก็ต ของสายการบิน AirAsia โดยนายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่าจะช่วยสนับสนุนการเดินทางท่องเที่ยวระหว่างทั้งสองประเทศ พร้อมเสนอให้หน่วยงานด้านการท่องเที่ยวของทั้งสองประเทศจัดทำแคมเปญร่วมกันสำหรับเส้นทางการบินใหม่เหล่านี้ และสำรวจความเป็นไปได้ในการเปิดเส้นทางการบินเพิ่มเติมระหว่างเมืองน่าเที่ยวของทั้งสองประเทศต่อไป

6. ความมั่นคงของมนุษย์ นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านสาธารณสุขที่ลงนามร่วมกันในวันนี้ จะเปิดโอกาสให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และแนวปฏิบัติที่ดีระหว่างกัน โดยเฉพาะโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทย นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีเห็นว่า ทั้งสองฝ่ายควรเร่งสรุปบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการควบคุมผลิตภัณฑ์อาหารและยาให้แล้วเสร็จภายในปีนี้ ตลอดจนเพิ่มพูนความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างกันมากขึ้น โดยเฉพาะการขยายโอกาสทางการศึกษาให้แก่นักเรียนจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยเพื่อศึกษาต่อที่อินโดนีเซีย

7. ความร่วมมือในระดับภูมิภาค ทั้งสองฝ่ายเน้นย้ำการส่งเสริมความร่วมมือในระดับภูมิภาค เพื่อรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ โดยเฉพาะการผลักดันการรวมตัวทางเศรษฐกิจของอาเซียน เพื่อสร้างความเข้มแข็งและอำนาจต่อรองของอาเซียนท่ามกลางความผันผวนของการเมืองและเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน และที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งรวมถึงมาตรการทางภาษีของสหรัฐอเมริกา โดยทั้งสองฝ่ายควรมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลในการเจรจากับสหรัฐฯ นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายพร้อมสนับสนุนบทบาทนำของอาเซียนในเรื่องเมียนมา โดยไทยพร้อมทำงานอย่างใกล้ชิดกับประธานอาเซียน เพื่อนำสันติภาพกลับคืนสู่เมียนมา โอกาสนี้ ประธานาธิบดีอินโดนีเซียยืนยันว่า อินโดนีเซียพร้อมให้การสนับสนุนไทยในการเข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS อย่างเต็มรูปแบบ