ไม่พบผลการค้นหา
ศูนย์ทนายฯ เผยคณะทำงานสหประชาชาติ แสดงความเห็นว่าการลิดรอนเสรีภาพ 'อัญชัญ' ด้วยมาตรา 112 เป็นการคุมขังโดยพลการ พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลไทยปล่อยตัวทันที โดยคํานึงถึงการระบาดโควิดในเรือนจำ

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า เป็นเวลาหนึ่งปีแล้วที่ 'อัญชัญ ปรีเลิศ' อดีตข้าราชการพลเรือนถูกตัดสินจําคุก 87 ปี ในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ จำนวน 29 กระทงเนื่องจากคลิปเสียงที่เธออัปโหลดและเผยแพร่บนโซเชียลมีเดีย ซึ่งภายหลังถูกลดโทษให้กึ่งหนึ่งเหลือ 43 ปี 6 เดือนเนื่องจากจำเลยรับสารภาพ

ในหนังสือความเห็นของ คณะทำงานสหประชาชาติว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการ (WGAD) ที่รับรองเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2564 และเผยแพร่เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2564 ให้ความเห็นว่า การลิดรอนเสรีภาพของอัญชัญด้วยมาตรา 112 นั้นเป็นการคุมขัง “โดยพลการ” และเรียกร้องให้รัฐบาลไทย 'ปล่อยตัวเธอทันที' โดยคํานึงถึงอันตรายจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในเรือนจำและเพื่อ 'ยอมรับสิทธิของเธอในการชดเชยและการเยียวยาอื่นๆ'

WGAD พบว่าการลิดรอนเสรีภาพขออัญชัญขาดหลักการทางกฎหมาย (Legal basis) เพราะมีการจับกุมโดยไม่มีหมายจับที่ถูกต้องซึ่งออกโดยผู้มีอํานาจทางกฎหมายที่อิสระและเป็นกลาง การคุมขังอัญชัญครั้งแรกที่ค่ายทหารโดยไม่นำตัวไปขึ้นศาลได้ละเมิดสิทธิของเธอในการต่อสู้ความชอบธรรมของการควบคุมตัว

WGAD ยังตัดสินว่า อัญชัญถูกควบคุมตัวอันเป็นผลมาจาก “การใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกอย่างสันติ” WGAD พิจารณาว่าคลิปเสียงเกี่ยวกับสมาชิกของราชวงศ์ไทยที่อัญชัญอัปโหลดบนโซเชียลมีเดีย “อยู่ในขอบเขตของการใช้สิทธิในเสรีภาพในการแสดงออก” ตามมาตรา 19 ของ UDHR และมาตรา 19 ของ ICCPR

WGAD แสดงความกังวลอย่างลึกซึ้งต่อรูปแบบการคุมขังโดยพลการด้วยมาตรา 112 โดยเฉพาะผู้ที่เกี่ยวข้องกับการแสดงออกออนไลน์และผู้ตกเป็น 'อันตรายร้ายแรงต่อสังคม' ที่เกิดจากการบังคับใช้มาตรานี้ และเรียกร้องให้รัฐบาลไทยนําประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มาปฏิบัติตามพันธกรณีของประเทศไทยภายใต้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ มาตรา 112 ระบุโทษจำคุกแก่ผู้ที่หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ผู้ใดที่ละเมิดมาตรา 112 จะต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 15 ปี

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุด้วยว่า 'อัญชัญ' เป็นผู้ถูกคุมขังคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ลำดับที่ 9 ที่ WGAD ประกาศว่าเป็นไปโดยพลการตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2555 แม้จะมีความกังวลจากนานาชาติอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ แต่ทางการไทยยังคงดําเนินคดีและควบคุมตัวบุคคลด้วยมาตรา 112 ตั้งแต่ระหว่างวันที่ 24 พฤศจิกายน 2563 ถึง 20 ธันวาคม 2564 บุคคลรวมทั้งเยาวชนจำนวน 164 คนถูกตั้งข้อหามาตรา 112 โดยนอกจาก 'อัญชัญ' แล้ว ยังมีอีก 5 คน ที่ถูกกักขังด้วยมาตรานี้